รัฐกดปุ่ม Action Plan โหมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ปลุกหรือฝังจีดีพีปี 60 !?

0
435

ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังแหวกม่านปีศักราชใหม่ 2560 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประเมินแนวโน้มขยายตัวที่ 3.2% สอดคล้องธนาคารโลกระบุจีดีพีปีหน้าคาดเติบโตได้ที่ระดับ 3.1% และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ประเมินขยายตัวได้ที่ 3.5-4 % รวมถึงคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3สถาบัน(สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,สมาคมธนาคารไทย) ชี้ทิศทางขยายตัวต่อเนื่องได้ 3.5-4.0%

เครื่องจักรสำคัญที่นักวิเคราะห์ต่างฟันธงว่าจะเป็น “พระเอก” ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้เติบโต นั่นก็คือ การลงทุนของภาครัฐผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งต่างๆ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ ผนวกกับแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ปี 2560 (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (2560 – 2579) รวมทั้งยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (2558 – 2565)

โดยมีโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 36 โครงการ วงเงินรวม 895,757.55 ล้านบาท ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงโหมกระหน่ำลงทุนหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนปลุกจีดีพีปี 60 อย่างที่ทุกฝ่ายคาดหวัง

Logistics Time ขอประมวลภาพรวมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆจากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ รวมถึงเสียงสะท้อนจากนักวิชาการ และผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่มีต่อทิศทางการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างต่างๆของภาครัฐ จะเป็นแรงดีดให้จีดีพีเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตในแง่มุมต่างๆได้หรือไม่อย่างไร ดังนี้

“สมคิด”ชี้ ปี 60 ปีประวัติศาสตร์แห่งการพัฒนาระบบรางไทย

ประเดิมจากหัวหน้าขุนพลเศรษฐกิจรัฐบาลคสช.“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างแท้จริง เช่น รฟม.มีโครงการรถไฟฟ้าใหม่อีก 5 สาย เพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีภายในไตรมาส 1 ของปี 2560 ได้แก่ สายสีเขียวช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.2 กม. วงเงิน 9,529.54 ล้านบาท, สายสีเขียวช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง  6.5 กม. วงเงิน 9,236.07 ล้านบาท, สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กม. วงเงิน 21,120 ล้านบาท, สายสีส้ม (ส่วนตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ  ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 85,288.54 ล้านบาท และสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 131,004.3 ล้านบาท โดยจะมีการปรับแผนเพื่อเร่งดำเนินโครงการได้เร็วขึ้นตามนโยบายในขั้นตอนการคัดเลือกประกวดราคา

“ปีนี้ รฟม.ได้รับงบประมาณ  36,000  ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับงบประมาณ 16,000  ล้านบาท  เมื่อรวมกับงบลงทุนจากภาคเอกชนทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับสายสีเหลืองสองสายรวมกันกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งนั่นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและก่อให้เกิดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้เป็นอย่างดี และหากรวมโครงการรถไฟฟ้าที่จะดำเนินของรฟม.และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)แล้ว ปีนี้จะได้เห็นเส้นทางเชื่อมโยงทั้งในเมืองและระหว่างเมืองอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ และถือเป็นประวัติศาสตร์ของการพัฒนาระบบรางของไทยอย่างแท้จริง”

นอกจากนี้รองนายกฯสมคิด ระบุอีกว่าส่วนของโครงการรถไฟฟ้าอีก 3 สายที่กำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ร่วมลงทุนก็มีความคืบหน้าไปอย่างมาก โดยในส่วนของสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 53,519.50 ล้านบาท และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร เงินลงทุน 51,931.15 ล้านบาท ซึ่งเอกชนที่ได้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน (PPP) และได้รับคัดเลือกเป็นผู้ชนะการประมูลได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture)  อันประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS Group)  บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น นับว่าเป็นการลงทุนแบบ PPP โครงการแรกของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556และจะเป็นตัวอย่างทำให้เกิดความมั่นใจในโครงการต่อๆไป

“ส่วนสายสีส้มส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี  ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคา  คาดจะสามารถเซ็นสัญาได้ประมาณไตรมาสแรกของปี 2560  และเริ่มลงมือก่อสร้างได้ประมาณช่วงปลายปีเดียวกัน”

“อาคม” ลั่นปี 60 โครงการผุดเพียบ

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เปิดแผยว่ากระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนโครงการก่อนสร้างตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งต่างๆให้เป็นกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้า เพื่อเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อีกทั้งยังรุกตามแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ปี 2560 (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนให้สอดรับกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พร้อมที่จะเดินหน้าดำเนินการในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 36 โครงการ วงเงินรวม 895,757.55 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลงทุนระบบราง 73.28%  ทางพิเศษและทางหลวงพิเศษ 18.67% ส่วนที่เหลือจะเป็นทางน้ำ ศูนย์ขนถ่ายสินค้า และสนามบิน

“ปี 2560 กระทรวงฯ มีแผนการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ โครงการต่อเนื่องจากปี 2559 และโครงการปี 2560 ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และกระทรวงฯ จะเร่งรัดและผลักดันการดำเนินงานโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยเร่งด่วนต่อไป”

นอกจากนี้ รมต.คมนาคม ระบุเพิ่มติมว่าส่วนโครงการมอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพูด ระยะทาง 32 กม. คืบหน้า 15.5% มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. ลงนามสัญญาไปแล้ว 25 ตอน ส่วนอีก 15 ตอน ขณะนี้ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว 14 ตอน อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม. คาดลงนามสัญญาได้ต้นปี 2560 ส่วนอีก 1 ตอนจะลงนามสัญญาในเดือน ก.พ. 2560

ส่วนมอเตอร์เวย์สาย บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. ลงนามสัญญาแล้ว 9 ตอน เหลืออีก 16 ตอน โดย 15 ตอน ได้ตัวผู้รับจ้างแล้วอยู่ระหว่างตรวจรับราคา จากนั้นจะเสนอ ครม.รับทราบก่อนลงนามสัญญา คาดลงนามได้อย่างช้ากลางเดือนนี้ ส่วนอีก 1 ตอน คาดวจะลงนามได้ในช่วงเดือน ก.พ. 2560 โดยทั้ง 2 สายยังดำเนินการได้ตามแผน ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จในเดือน ธ.ค. 2562 และเปิดให้บริการต้นปี 2563”

ขณะที่โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ซึ่งมีทั้งหมด 7 งาน ขณะนี้ได้ลงนามไปแล้ว 3 งาน คือ งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ คืบหน้า 4.12% ส่วนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก อาคารสำนักงานสายการบิน อยู่ระหว่างกำหนดราคากลาง เริ่มก่อสร้างในเดือน ก.พ. 2560 ส่วนงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด อยู่ระหว่างทบทวนการออกแบบ คาดประกาศประมูลในเดือน มี.ค. 2560 เริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ก.ค. 2560

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ขณะที่รมช.กระทรวงคมนาคมใหม่ป้ายแดง “พิชิต อัคราทิตย์” กล่าวว่างานที่ได้รับมอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็จะเป็นหน่วยเดิมของอดีตรมช.ก่อนหน้านี้ แต่จะมีการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)เพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้จัดอยู่ในโหมดทางน้ำครบทั้งหมด โดยในโหมดทางน้ำจะเกี่ยวข้องกับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งรัดโครงการระยะที่ 3  และการขยายขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และระยะที่ 2 อีกด้วย เช่นเดียวกับท่าเทียบเรือชายฝั่งต่างๆ เพื่อให้เป็นไปใรูปแบบคลัสเตอร์คือมีหลายท่าเรือมากขึ้น

“ส่วนไฮสปีดเทรนคงจะต้องดูรายละเอียดการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามแนวเส้นทางมากขึ้น ให้เกิดมูลค่าเพิ่มตามราคาที่ดิน ส่งเสริมให้เมืองขยายการเติบโตอย่างแท้จริง เพื่อให้โครงการเป็นประโยชน์ในภาพรวมจริงๆ และยั่งยืนอีกด้วย แต่ละพื้นที่จะต้องมีการวางแผนร่วมกันโดยเฉพาะที่ดินตามสถานีและตามแนวเส้นทางที่จะต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่ม รายได้จะเพิ่มขึ้นให้ร.ฟ.ท.ต้องเติบโตอย่างยั่งยืนและยืนหยัดด้วยตนเอง โดยยังจะเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูที่กำหนดไว้ต่อไป

เอกชน ห่วง “เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า”

ฟากฝั่งนักวิชาการ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนมุมมองว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2560 หลักๆ ยังคงมาจากการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ และรถไฟรางคู่

“พอต้นปี 60 ผมเชื่อว่ารัฐบาลจะทุ่มงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม(งบกลางปี) 1.9 แสนล้านเพื่อเป็นงบพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งภาครัฐก็พยายามเร่งเครื่องอย่างถึงที่สุด และที่สำคัญคือเม็ดเงินที่จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมอีก 4 แสนล้านบาท ซึ่งผมเชื่อว่าการลงทุนภาครัฐผ่านเม็ดเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นการหนุนจีดีพีปีได้ถึง 1 % และเมื่อบวกกับเครื่องจักรเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ก็น่าจะหนุนจีดีพีเศรษฐกิจไทยปีนี้โตใกล้ๆ 4 %”

ส่วนปรึกษากรรมการสภาหอการค้าเเห่งประเทศไทย พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ระบุว่าต้องยอมรับเครื่องจักรสำคัญที่จะเป็นตัวหนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้โต ในเวลานี้คงไม่มีอะไรโดดเด่นไปกว่าภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนของภาครัฐแล้ว หากจะว่าไปแล้วตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาก็ชูเรื่องนี้เป็นพระเอกอยู่แล้ว เพียงแค่การพลักดันโครงการต่างๆให้ที่มีอยู่ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

“การลงทุนของภาครัฐผ่านเมกะโปรเจ็คต์ด้านคมนาคมขนส่งต่างๆ ในปีนี่ ถือเป็นปีแห่งการลงทุนอย่างแท้จริง เพราะหลายๆโครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและมีการเซ็นสัญญาการก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คงจะขึ้นอยู่การเร่งรัดเบิกจ่ายเม็ดขึ้นเข้าสู่ระบบของภาครัฐเท่านั้นว่าจะทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน หากยังล่าช้าก็อาจส่งผลในแง่ลบกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่ทุกอย่างเดินตามกรอบที่ภาครัฐกำหนดเอาไว้ ก็เชื่อว่าการลงทุนภาครัฐนี่แหล่ะจะเป็นตัวหนุนจีดีพีเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้เติบโตต่อเนื่อง แต่รัฐก็อย่ามัวแต่ทุ่มลงสร้างถนนหนทางจนมองข้ามการพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านเกษตรกรรมเป็นอันขาด เพราะนี่คือฐานรากเศรษฐกิจของประเทศ”

สอดคล้องกับมุมมองของประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน(ATF) “ยู เจียรยืนพงศ์” ที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทุ่มเงินลงทุนผ่านโครงการต่างๆถือเป็นเรื่องดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน แต่ก็อยากแนะรัฐบาลว่าขออย่ามีแค่โครงการเท่านั้น ขอให้เร่งรัดเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบตามที่อ้างไว้ จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่เช่นแล้วจะถูกสังคมตั้งคำถามว่าโครงการออกมาแล้วแต่ทำไมถึงมีแต่ลม

แท้จริงแล้วระยะ 3-5 ปีที่ผ่านมา รัฐปูพรมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางราง บก น้ำ และอากาศมาแล้ว 3 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และหวังลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศให้อยู่ที่ร้อยละ 12  แต่ทำไมต้นทุนโลจิสติกส์ตั้งแต่ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ  14.1 ถึงเวลานี้ก็ยังไม่ขยับลงอย่างที่คาดหวัง

แล้วปี 2560 รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมก็ยังโหมกระหน่ำลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ Action Plan ระยะเร่งด่วนในวงเงินอีกกว่า 8 แสนล้านบาท เมื่อย้อนมองผลงานในหลายปีที่ผ่านมาก็ยังไม่กระเตื้องไปไหนแม้แต่น้อย

 ซึ่งนั่นสังคมอาจตั้งคำถามรัฐว่าแทนที่จะเป็นการเติมเต็มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศพุ่งทะยานอยู่ในระดับแถวหน้า แต่สุดท้ายก็ย่ำอยู่กับที่ แถมยังถอยหลังคลองไปเสียอีกหรือไม่?