“ศักดิ์สยาม”พร้อมย้ำ 2 สิงหานี้เปิดสายสีแดงให้ใช้ฟรี

0
117

เปิดแน่!“ศักดิ์สยาม”เตรียมพร้อมทุกด้านเปิดให้บริการเสมือนจริงรถไฟชานเมืองสายสีแดง-สถานีกลางบางซื่อ 2 สิงหานี้ เพื่อทดสอบระบบให้ประชาชนใช้บริการฟรี พร้อมทูลเกล้าฯขอชื่อเป็นทางการ และเชื่อมต่อคมนาคมขนส่งเข้าทุกสถานีเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนมาใช้บริการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง)และสถานีกลางบางซื่อว่า กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการพิจารณาชื่อที่จะขอพระราชทานนามสำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ- รังสิต) ก่อนที่จะเสนอเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 สิงหาคม 264 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเสมือนจริงเพื่อทดลองการเดินรถให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการ โดยมีการเชื่อมต่อการเดินทางกับการขนส่งประเภทต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤศจิกายน 64

“ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ แต่ละคณะเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการเสมือนจริงในวันที่ 2 สิงหาคม 64 โดยให้จัดทำเช็คลิสต์เพื่อตรวจสอบประเด็นความพร้อมที่ได้ดำเนินการไปทั้งหมด รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ทั้งในด้านการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน และด้านการให้บริการระบบรถไฟฟ้าให้เหมาะสม ลดผลกระทบ ทั้งด้านการจราจรที่จะเกิดขึ้น และด้านความสะดวกของประชาชน บนหลักการให้มีผลกระทบต่อประชาชนผู้มาใช้บริการให้น้อยที่สุดโดยให้เน้นด้านการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการใช้สื่อ Social Media และสื่อสาธารณะทั้งภายในและภายนอกสถานี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และให้ประชาชนรับทราบถึงข้อมูลในทุกมิติของการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงต่อไป”

หัวลำโพงลดเหลือ 8 ขบวน ดีเดย์วันที่2 ส.ค.
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า และเมื่อจะมีการเปิดให้บริการรถไฟสีแดงเสมือนจริง ในส่วนของความพร้อมด้านการเดินรถและการเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่งต่างๆก็ ได้มีการปรับปรุงโดยเฉพาะแผนการเดินรถไฟ ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับลดจำนวนรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เหลือ 22 ขบวน เริ่มปรับตารางเดินรถจำนวน 8 ขบวน สำหรับเส้นทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ แบ่งเป็น ช่วงเช้า 4 ขบวน และ ช่วงเย็น 4 ขบวน ในวันที่ 2 สิงหาคม 64 เพื่อให้ผู้โดยสารได้มีการปรับพฤติกรรมในการเดินทางและในวันที่ 1 ธันวาคม 64 จะใช้ตารางเดินรถเช่นเดียวกับเดือนสิงหาคม แต่จะเริ่มวิ่งบนโครงสร้างยกระดับ สำหรับรถไฟเส้นทางสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนั้นในส่วนของการให้บริการรถโดยสารประจำทางเพื่อเชื่อมต่อรถไฟสายสีแดง ได้มีการปรับเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง โดยให้มีรถโดยสารประจำทางหมวด 1 กรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และรถโดยสารประจำทางหมวด 4 รองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงทุกสถานี และปรับปรุงป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้มีความเหมาะสมในการเชื่อมต่อการเดินทาง นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตั้งป้ายแนะนำสถานีเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีแก่ประชาชน จำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีตลิ่งชัน สถานีบางบำหรุ สถานีบางซ่อน และสถานีรังสิต และดำเนินการในส่วนสถานีที่เหลือต่อไป

ปรับปรุงรังสิตและตลิ่งชันเป็น “เกตเวย์”
ส่วนการดำเนินการด้านสถานีและการเชื่อมต่อสถานีเกตเวย์ ก็ได้มีการปรับปรุงพื้นที่และสถานีเพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการ โดยในสถานีรังสิตได้เร่งรัดการก่อสร้างถนนด้านทิศตะวันตกให้แล้วเสร็จตามสัญญา และดำเนินการงานปรับปรุงสถานีเชื่อมต่อผู้โดยสารสายตะวันตกในสถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชันแล้วเสร็จ

ในส่วนของการจ้างบริการเพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อและสถานีรถไฟฟ้า 12 สถานี ประกอบด้วย งานทำความสะอาดและกำจัดขยะ งานรักษาความปลอดภัยและจราจร งานบริหารจัดการงานอาคารและสถานที่บริเวณรถไฟฟ้าสายสีแดง รวมถึงพื้นที่โดยรอบของโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีแดงและทำความสะอาดขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง และงานติดตั้งระบบจัดการจราจรภายในบริเวณลานจอดรถสถานีกลางบางซื่อ และจัดเก็บค่าบริการจอดรถ อยู่ระหว่างการดำเนินการ

สายสีแดง- น้ำเงิน เสนอค่าแรกเข้าขาเดียว
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในส่วนของการกำหนดราคาค่าโดยสารและบัตรนั้นได้เห็นชอบในหลักการของแนวทางการจัดเก็บอัตรา ค่าแรกเข้าในการเดินทางเชื่อมต่อของโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โดยได้เสนอร่างข้อกำหนดการจัดเก็บอัตราค่าแรกเข้าในการเดินทางเชื่อมต่อของโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบหมาย รฟท. และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.) นำไปประกอบการกำหนดเงื่อนไขไม่มี ค่าแรกเข้าระบบ ในร่างสัญญาสัมปทานของโครงการรถไฟฟ้าที่จะเปิดให้บริการหรือมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอนาคต เพื่อให้ผู้ใช้บริการขนส่งทางรางที่มีการเดินทางเปลี่ยนถ่ายระหว่างเส้นทางรถไฟฟ้าในโครงข่ายทั้งหมดให้มีการจัดเก็บค่าโดยสารที่มีค่าแรกเข้าของรถไฟฟ้าที่เดินทางเข้าระบบแรกเพียงครั้งเดียว และได้เสนอแผนการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถเปิดใช้บริการบัตรโดยสารตามมาตรฐาน EMV ได้ภายในปลายปี 64 รวมทั้ง ระบบจัดเก็บค่าโดยสารภายใต้มาตรฐาน EMV ในปัจจุบันสามารถรองรับการใช้งานในรถเมล์ ขสมก. และเรือโดยสาร MINE Smart Ferry ซึ่งสามารถรับชำระค่าโดยสารแบบไร้สัมผัส EMV Contactless ผ่านเครื่อง EDC โดยรองรับบัตรเดบิต บัตรเครดิต ทั้ง VISA และ MasterCard โดยได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เสนอต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป

ปั้นรังสิตเป็น feeder เชื่อมสายสีแดง 3 เส้นทาง

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นคณะกรรมการฯ ยังได้พิจารณาโครงการจัดทำระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่รังสิตเพื่อเป็น Feeder ให้กับรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยมีโครงการนำร่อง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต – ธัญบุรีคลอง 7 สายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และสายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต – แยก คปอ. (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อให้เป็นทางเลือกในการเดินทางเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการทำช่องทางรถประจำทางแบบเฉพาะ (Buslane/Busway) ซึ่งจะทำให้รถประจำทางวิ่งได้อย่างต่อเนื่องลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดการใช้พลังงาน และลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมือง โดยได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาถึงผลกระทบ ข้อดี – ข้อเสีย ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)พิจารณาต่อไป

“หัวลำโพง”อนุรักษ์ไว้
นอกจากนี้ ในส่วนการพัฒนาสถานีรถไฟกรุงเทพ(สถานีหัวลำโพง)ให้อนุรักษ์และคงสภาพอาคารเดิมที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไว้ เช่น อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ทำการฝ่ายโดยสารฯ (โรงแรมราชธานีเดิม) ตึกบัญชาการรถไฟแห่งประเทศไทย ตึกพัสดุ (ตึกแดง) คณะกรรมการฯ ได้ให้แนวทางการพิจารณาถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในด้านพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามศักยภาพของพื้นที่เพื่อตอบสนองกับความต้องการและการใช้งานที่แท้จริงในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต และให้ยึดหลักการการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและพักผ่อนในระดับเมือง ด้วยการสร้างพื้นที่เมืองอย่างสร้างสรรค์ ผสานกับการสืบต่อความรู้และคุณค่าของสถานีรถไฟกรุงเทพ ตามแผนการพัฒนาย่านสถานีกรุงเทพต่อไป