หักดิบปรับโครงสร้าง ปตท.

0
453

กำลังจ่อระอุแดด!

กับเรื่องที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง) ที่ตอนนี้ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ปิดบัญชีและนำส่งงบดุลรายงานมายังสตง.อีกแล้ว แต่สยายปีกขยายบทบาทไปตรวจสอบไปถึงการกำหนดนโยบายและริเริ่มดำเนินโครงการกันเลยทีเดียว

อย่างเรื่องของนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อนที่ สตง.จัดทำรายงานวิเคราะห์โครงการละเอียดยิบว่าเต็มไปด้วยจุดอ่อนที่จะก่อให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายตรงไหนอย่างไร แล้วก็ลงไปร่วมสังฆกรรมกล่าวโทษรัฐบาลที่ทำให้ประเทศเสียหายไปหลายแสนล้าน!

มาถึงโครงการติดตั้งเน็ตหมู่บ้าน นโยบายหลักของรัฐบาลคสช.ชุดนี้ที่จะติดตั้งอินเทอร์เน็ตไวไฟทุกหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศวงเงินงบประมาณราว 20,000 ล้านเพื่อให้ประชาชนรากหญ้าก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่แค่ตั้งแท่นกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์ก็เจอ สตง.กระตุกเบรกหัวทิ่มทำเอากระทรวงไอซีทีที่ตอนนี้ปรับเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลไปไม่เป็น ต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการดำเนินโครงการใหม่ยกกระบิ สุดท้ายประเคนไปให้บริษัททีโอทีดำเนินซะให้รู้แล้วรู้แร่ด ทั้งที่ศักยภาพจะทำได้หรือไม่นั้น ส่วนนี้สตง.กลับไม่คิดจะล้วงลูกลงไปศึกษา

ล่าสุดมาถึงคิว บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)หรือ PTT ที่กำลังปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ประกาศจะแยกธุรกิจค้าปลีกและน้ำมันไปจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ ปตท.น้ำมันและค้าปลีก จำกัดหรือ PTTOR เพื่อนำกิจการเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยในระยะแรก ปตท.จะถือหุ้น 100% ใน PTTOR ก่อนจะทยอยลดสัดส่วนการถือหุ้นลงต่ำกว่า 50% โดยจะกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นขั้นต่ำไว้ที่อย่างน้อย 45%ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วเพื่อไม่ให้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และเพิ่มความคล่องตัวในการแข่งขัน

แต่ก็เจอฤทธิ์เดช สตง.กระตุกเบรกหัวทิ่มเข้าให้อีก โดยอ้างว่าอาจทำให้รัฐเสียหาย เนื่องจากรัฐมีส่วนในการเป็นเจ้าของกิจการใหม่ คือในบริษัท PTTOR ลดลง “สตง.พิจารณาแล้วเห็นว่า พลังงานเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ เป็นสิ่งสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนคนไทยทุกคนในฐานะผู้ใช้พลังงาน ทั้งนี้ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของชาติ ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 40 และมีส่วนสำคัญในการจัดการด้านพลังงานและทรัพย์สินของชาติแทนภาครัฐการที่ ปตท.มีแนวทางดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร จะทำให้ทรัพย์สินของชาติต้องสูญหายไป และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนผู้ใช้พลังงาน สตง.จึงขอให้กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ปตท.พิจารณาทบทวนการปรับโครงสร้างธุรกิจของ ปตท.ในครั้งนี้ รวมถึงพิจารณาทบทวนการปรับโครงสร้างธุรกิจที่แล้วมาของ ปตท.ที่ดำรงสัดส่วนในบริษัทกลุ่มปตท.ต่ำกว่าร้อยละ 50 ให้มีสัดส่วนการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน”

                    ทำเอากระทรวงพลังงานและปตท. มันไปแปดตลบ! 

ก็ไม่รู้ท่านผู้ว่าสตง.จะเคยรับรู้หรือไม่ว่า คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.เป็นประธานนั้นได้กำหนดยุทธศาสตร์ของการกำกับดูแลบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจไว้อย่างไร เขาพยายามให้รัฐวิสาหกิจลดสัดส่วนถือหุ้นในกิจการบริษัทลูกลงไปหรือทำการจำหน่ายจ่ายโอน ยุบเลิกการลงทุนในบริษัทลูกที่รังแต่จะสร้างภาระแก่รัฐวิสาหกิจหรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง(มติ คนร.17 กรกฎาคม 2558)

แต่มุมมองของสตง.นั้นยังติดยึดกับโมเดลเก่ากิจการอะไรที่รัฐวิสาหกิจหรือรัฐเคยถือหุ้นอยู่ หากจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่มีส่วนทำให้รัฐถือหุ้นน้อยลงไปถือว่าเข้าข่ายทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ ดังนั้นกรณีปตท ธุรกิจค้าปลีกและน้ำมันนี้ก็เช่นกัน เป้าหมายจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่คงจะทำให้สัดส่วนถือหุ้นของบริษัทแม่ปตท.ลดลงต่ำกว่า 50% คงทำให้สตง.นั่งไม่ติดต้องออกมาสะกิดแต่หัววัน สรุปได้ว่าจะทำให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหาย กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนในวงกว้างและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จะต้องให้ปตท.พิจารณาทบทวน

กลายเป็นว่าสตง.กำลังทำหน้าที่ล้วงลูกเข้าไปกำหนดนโยบายแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและ คนร.เสียเอง เผลอๆอีกหน่อยอาจรุกไปทำหน้าที่กำหนดนโยบายแทนคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลไปซะให้รู้แล้วรู้แร่ด เอากะพ่อซี่!

ก็ไม่รู้ว่า สตง.เคยลงไปศึกษาการดำเนินธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของปตท.ไหม ทุกวันนี้ที่เห็นสถานีบริการน้ำมันอันใหญ่โตของปตท.ผุดเป็นดอกเห็ดกว่า 2,400 แห่งทั่วประเทศ มีรถขนส่งน้ำมันวิ่งเกลื่อนเมืองนับ 1,000 คันนั้นมันหาใช่กิจการของปตท.โดยตรง หาใช่การลงทุนของปตท.โดยตรง แต่เป็นการขายโมเดลการบริหารจัดการ ขายธุรกิจในลักษณะที่เป็น “แฟรนไชส์ซี่” ของการบริหารจัดการทั้งสิ้น

แถมปตท.ยังไปไกลกว่าถึงขั้นที่ทำให้ปั๊มปตท.เป็นสถานีบริการน้ำมันครบวงจรแบบ “One stop service” ที่กอปรด้วยธุรกิจค้าปลีก แบงก์ ร้านอาหาร กาแฟ ร้านสะดวกซื้อ ร้านสินค้าสารพัน กลายเป็นสถานีบริการน้ำมันครบวงจรที่ยิ่งใหญ่ที่ทำเอาบริษัทน้ำมันต่างชาติไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว

เมื่อจะต้องสยายปีกแข่งขันรองรับการเปิดเสรี AEC สยายปีกไปลงทุนต่างประเทศที่ต้องระดมทุนก้อนใหญ่ และตอบแทนสังคมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนเป็นเจ้าเข้าเจ้าของเขาก็จัดทัพธุรกิจใหม่ จัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ตั้งบริษัท PTTOR ขึ้นมาเป็นหัวหอกซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 4.0 ของ คนร.และรัฐบาล แต่ก็กลับมาถูกสตง.กระตุกเบรกไปเสียอีก

สงสัยท่านผู้ว่าสตง.อยากจะลิ้มรส ม.44 ของนายกฯที่นัยว่าเปิดตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกฯไว้กว่า 50 อัตรากระมังถึงกล้าลุกขึ้นมาสวนนโยบายรัฐสุดลิ่มทิ่มประตูแบบนี้!!!

เนตรทิพย์