ไม่ใช่จำเลยสังคม แต่เป็นเจ้าหนี้ กทม.“คีรี ” โต้ปมสายสีเขียว

0
154

ประธานบอร์ด BTS ของขึ้น โต้ดุเดือด ปมเปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ของ กทม. ระบุ”ผมไม่ใช่จำเลยสังคมแต่เป็นเจ้าหนี้กทม.”ส่วนประเด็นข้อพิพาทรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ระบุโครงการเสียโอกาส หากบริษัทคุณภาพอย่างบีทีเอสไม่ได้ร่วมประมูล

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวและกรุงเทพมหานครได้ออกมาเรียกร้องให้ บีทีเอสซี เปิดเผยสัญญาที่ บีทีเอสซี มีกับ เคที ด้วยว่า ในทุก ๆ สัญญามีการระบุเรื่องห้ามเปิดเผยสัญญาต่อสาธารณะไว้ทั้งสิ้น รวมถึงสัญญาของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองเองก็มี ไม่ใช่อยากจะเอาสัญญาไปเปิดเผยที่ไหนก็ได้ และหากจะเปิดเผยสัญญาก็ต้องเปิดเผยทุกสัญญาสัมปทาน ที่โครงการอื่นๆมีต่อรัฐ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในทุกสัญญาสัมปทาน

“ไม่ใช่ว่าพอคุณมีสัญญากับผมแล้ว พรุ่งนี้คุณจะไปแปะสัญญาไว้กลางถนนมันไม่ใช่ กรุงเทพมหานครเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทกรุงเทพธนาคม ที่มาทำสัญญา กรุงเทพมหานครสามารถรับรู้ได้ทุกอย่าง ไม่เข้าใจว่ามันเป็นปัญหาขึ้นมาอย่างไร กรุงเทพมหานครสามารถรับทราบเนื้อหาสัญญาแน่นอน ไม่เช่นนั้นคงไม่อนุมัติให้กรุงเทพธนาคมมาเซ็นสัญญากับเอกชนในโครงการที่ใหญ่ขนาดนี้ ผมขอย้ำอีกครั้งว่า ผมเป็นเจ้าหนี้ไม่ใช่จำเลยของสังคม” นายคีรีกล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องหนี้สินที่เคที มีต่อบริษัทฯ นั้น ปัจจุบันเกิน 4 หมื่นล้านบาท แล้ว โดยแบ่งเป็น ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และค่าระบบจ้างเดินรถ ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเคทีได้มีการเรียกบีทีเอสเข้าพบ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อทำให้ปัญหาต่าง ๆ ดีขึ้น แต่ยังไม่ได้หารือถึงเรื่องภาระหนี้สิน เพราะให้เวลาผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่ง 2-3 เดือนแล้ว และเชื่อว่าข้อมูลที่บริษัทฯ ให้ไปคงไม่มีอะไรไม่ถูกต้อง เพราะหากมีทางกทม. คงเรียกไปคุยแล้ว

สำหรับที่ประชาชนมีความกังวลว่า หากบีทีเอสไม่ได้รับการจ่ายหนี้อาจต้องหยุดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว นั้นในเรื่องของการชำระหนี้ บริษัทอยากให้เร่งดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นใจของภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่า

“รัฐบาลต้องห่วงภาพพจน์ของประเทศไทยมากกว่า หากเสียไปกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ใช้เวลามาดูเรื่องนี้ 3 ปีแล้ว บีทีเอสก็ยังเดินรถในช่วงสถานีหมอชิต-คูคต อยู่ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องหยุดเดินรถ เพราะหยุดก็ทำให้ประชาชนลำบาก เว้นแต่บริษัทไปไม่ไหวจริงๆ เชื่อว่าเรื่องนี้รัฐบาลเข้าใจอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะมีบางคนทำเป็นไม่เข้าใจ และยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นฝ่ายขอต่อสัมปทานเพื่อจะล้างหนี้ เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่สำคัญไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจบีทีเอสผิด” นายคีรี กล่าว

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ซึ่งล่าสุด เมื่อวานนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม . ได้ดำเนินการเปิดซองคุณสมบัติ และคาดว่าจะทราบผลภายในสองสัปดาห์ข้างหน้า โดยการประมูลรอบที่ 2 นี้ บีทีเอสซี ไม่ได้เข้าร่วมนั้นว่า การที่บีทีเอสซี ไม่ได้เข้าประมูลนั้นเนื่องจากเห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขเข้าประมูลรอบนี้ ทำให้พันธมิตรของบีทีเอสซี ขาดผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติ

ดังนั้น หากเข้าร่วมประมูลไปก็ไม่มีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จ และการที่ รฟม.เดินหน้าการประมูลรอบ 2 ทั้งที่ศาลได้ออกมาชี้ว่า การยกเลิกการประมูลในครั้งแรกไม่ถูกต้อง โดยการประมูลรอบใหม่นี้เห็นว่าหากบริษัทที่มีคุณภาพ อย่าง บีทีเอสซี เป็นที่ยอมรับ ได้รับรางวัลมามากมาย ไม่ได้เข้าร่วมการประมูลก็ถือเป็นเรื่องที่ภาครัฐเองเสียโอกาส

“ เอกสารการยื่นประมูลในครั้งแรก บีทีเอสซี ยังเก็บไว้ทั้งหมด เมื่อการประมูลรอบ 2 นี้สิ้นสุดได้ผู้ชนะและทราบราคาแล้ว ต้องเอามาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่บีทีเอสเคยเสนอเงื่อนไขการประมูลในครั้งแรกไป ถึงจะทราบว่าใครกันแน่ที่เสียโอกาส ในการที่บีทีเอสซีไม่ได้ร่วมประมูล”ประธานบอร์ด บีทีเอสซี กล่าว

ส่วนคำถามว่าประเด็นรถไฟฟ้าสายสีส้มทำให้บีทีเอสซี กลายเป็นข้อพิพาทกับหน่วยงานภาครัฐ จะมีผลต่อการร่วมงานในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากบีทีเอสซี ก็จะเป็นผู้สัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูที่ต้องมีการทำงานร่วมกันในอนาคต ในประเด็นนี้นายคีรีกล่าวว่า รฟม. ก็เป็นหน่วยงานภาครัฐ พี่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาไปเรื่อย ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า