คค.วางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่5(บึงกาฬ-บอลิคำไซ)เชื่อมภูมิภาคอาเซียนเปิดใช้67

0
122

กระทรวงคมนาคมจัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีฯ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ทั้ง 4 มิติ (บก ราง น้ำ และอากาศ) ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันประเทศไทยกับ สปป.ลาว มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมโยงระหว่างประเทศแล้ว จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย – เวียงจันทน์) สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) และสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ – ห้วยทราย) โครงการนี้จึงเป็นสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ที่จะช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างไทย – สปป.ลาว ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดยคณะรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงฯ โดย กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งต่อมา ในปี 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว และผู้แทนรัฐบาลทั้งสองประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งแห่ง สปป.ลาว ได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการก่อสร้าง ณ จังหวัดบึงกาฬ เพื่อกำหนดขอบเขตงานก่อสร้าง รวมทั้งกำหนดแนวทางในการบริหารโครงการก่อสร้างร่วมกัน

สำหรับรูปแบบการก่อสร้างของโครงการนี้ ทล. ได้ออกแบบเป็นสะพานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 1,350 เมตร พร้อมอาคารด่านพรมแดนสำหรับกระบวนการข้ามแดน และถนนเชื่อมต่อโครงข่ายของทั้งสองฝั่ง ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการก่อสร้างเฉลี่ย ร้อยละ 57 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนของทั้งสองประเทศได้ในปี 2567 นอกจากนี้ แนวคิดในการออกแบบโครงสร้างสะพานได้มีการนำ“แคน” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่น มาใช้ในการกำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความสนุก รื่นเริง ความเป็นมิตรไมตรี ความคุ้นเคย และความเป็นกันเองในวัฒนธรรมของไทยและ สปป.ลาว ส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างสองประเทศ สร้างความเจริญทางด้านสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) แล้วเสร็จจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศ ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านการขนส่งสินค้า และการสัญจรของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้านการขนส่งภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation: GMS) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ((Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยง 5 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ไทย สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา อย่างต่อเนื่อง และมั่นคง