Robotics for EVENT ก้าวที่กล้าของ FIBO

0
43

ในทุกการจัดงาน EVENT หรือมหกรรมต่าง ๆ  นั้น  “Showcase” คือหนึ่งในกิจกรรมที่จะสามารถใช้ประชาสัมพันธ์งาน รวมถึงเพิ่มความน่าสนใจให้กับงานที่จัดขึ้นได้เป็นอย่างดี ล่าสุดในงาน TEP x OIIO Asia Techland 2023 ที่นำเสนอความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมล้ำสมัยและโซลูชั่นแห่งอนาคตนั้น Showcase ของ FIBO หรือสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานนี้ได้เช่นกัน

(ซ้าย) ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ (ขวา) บี้ เดอะสกา สวมชุด Teslasuit

ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซเชียลแล็บ จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน กล่าวว่า เนื่องจากธีมงานของเราในครั้งนี้ เป็นการสร้างพื้นที่ให้กับผู้คิดค้นหรือสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อาจจะยังไม่สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ ได้มาพบกับผู้ประกอบการหรือนักลงทุน ซึ่งหนึ่งในทิศทางของนวัตกรรมและเทคโนโลยียุคต่อไป คือการเข้าไปสร้างความน่าสนใจและมีจุดขายให้กับ  Soft Power ต่าง ๆ ของไทย ซึ่งทาง FIBO  ได้ทำให้เห็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ มา Matching กับธุรกิจด้านอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งใน Soft Power ของประเทศไทย

ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาชิ้นงาน FIBO ที่ได้ถูกนำไปจัดแสดงร่วมอยู่ในงานอีเวนท์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะถูกคิดหรือทำมาก่อน ผลงานมีแบบที่สมบูรณ์แล้ว หรืออยู่ในขั้นตอนการพัฒนา แต่สำหรับโจทย์ที่ได้รับจากผู้จัดงาน TEP x OIIO Asia Techland 2023 คือสิ่งที่ต่างออกไป

“เนื่องจากผู้จัดงานต้องการให้ Showcase ของเราเป็นการ Matching ระหว่าง ‘เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติที่เรามีความรู้ความเชี่ยวชาญ’ กับ ‘การทำอาหาร’ ของร้านอาหารที่กำหนดไว้  เป็นโจทย์ให้ FIBO จะต้องใช้ศักยภาพของบุคลากร นักศึกษา รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือที่มีอยู่  มาทำให้เกิดชิ้นงานใหม่ตามโจทย์ภายใต้ระยะเวลาและงบประมาณที่กำหนดไว้ให้ได้”

Ice-creme Robot: หุ่นยนต์เสิร์ฟไอศกรีม” คือ แขนกลที่ถูกติดตั้งอยู่บนรถกระบะที่ดัดแปลงเป็นร้านขายไอศกรีม หรือ Food trucks โดยมีมอเตอร์ควบคุมให้ขยับหรือหมุนแขนแต่ละส่วน เพื่อให้ปลายของแขนกลที่จับโคนไอศกรีมสามารถเคลื่อนแขนไปรับเนื้อไอศกรีมที่ไหลออกจากเครื่องหยอดที่ตั้งอยู่ภายใน แล้วนำไอศกรีมโคนกลับมาส่งให้กับลูกค้าที่ยืนรอด้านหน้าได้อย่างแม่นยำ โดยขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาเพียง 40 วินาทีเท่านั้น

“เนื่องจากท้ายรถกระบะมีพื้นที่จำกัด เราจึงเลือกใช้แขนกล มาเป็นอุปกรณ์หลักของงานชิ้นนี้ เพราะเมื่อเรากำหนดจุดหรือตำแหน่งที่มอเตอร์แต่ละตัวต้องขยับในแต่ละขั้นตอนของการทำงานได้อย่างถูกต้องเข้าไปในโปรแกรม  แขนกลก็จะทำงานไปตามระบบที่ตั้งไว้โดยอัตโนมัติ  ซึ่งจากการที่ผมและเพื่อนผ่านงานเขียนโปรแกรมบังคับแขนกลของโรงงานมาแล้ว  จึงได้รับมอบหมายให้ทำงานชิ้นนี้ ด้วยการใช้แขนกลในห้องปฏิบัติการของ FIBO มาติดตั้งกับรถกระบะ และเคลื่อนไหวด้วยโปรแกรมที่เราสร้างขึ้นเพื่อภารกิจนี้” ธัชภูมิ ธัชธัน นักศึกษา FIBO ชั้นปีที่ 4 เล่าถึงแนวคิดและการพัฒนาหุ่นยนต์แขนกลที่ใช้เวลาในพัฒนาเพียง 7 วัน

สุทธิเดช ธุวะศรี  เจ้าของแบรนด์ไอศกรีมดูคาติม  กล่าวว่า การที่นักศึกษาสามารถนำแขนกลที่ใช้เพื่อการเรียนในห้องปฏิบัติการมาพัฒนาให้เสิร์ฟไอศกรีมบนรถกระบะที่มีพื้นที่แคบได้ในเวลาเพียงสั้น ๆ เช่นนี้ ทำให้มองไปถึงความเป็นไปได้การนำชิ้นงานนี้ไปใช้กับธุรกิจไอศกรีมของตนเอง

“น้องๆ บอกว่า หากมีเวลามากกว่านี้ ก็จะสามารถพัฒนาเป็นระบบสมบูรณ์ได้มากขึ้น  ซึ่งทางบริษัทฯ เอง เราก็มองไปถึงการนำระบบแขนกลมาใช้ทำงานทุกขั้นตอนโดยอัตโนมัติ  เพียงแค่กดสั่งและชำระเงินผ่านตัวเครื่องหรือแอปบนมือถือ ก็ยืนรอรับไอศกรีมได้เลย ซึ่งต่อไปหากเราสามารถพัฒนาตรงนี้ร่วมกับ FIBO ก็คาดว่าน่าจะสำเร็จได้ในเวลาไม่เกินครึ่งปี”

Noodle Robot: หุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว” เป็นอีกรูปแบบของการต่อยอดให้กับอาหารไทยด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้อย่างน่าสนใจ โดยหลังจากลูกค้าเลือกเมนูที่ต้องการแล้ว แขนกลของหุ่นยนต์จะยืดไปหยิบตะกร้อซึ่งใส่เส้นแล้วนำไปลวกในหม้อ ก่อนนำมาเทในชามที่เตรียมไว้เป็นลำดับแรก จากนั้นตัวแขนกลก็จะไปหยิบตะกร้อที่ใส่ลูกชิ้น ผักบุ้ง และอื่น ๆ มาลวกในหม้อก๋วยเตี๋ยวตามเวลาที่กำหนดไว้ ก่อนยกขึ้นมาและเทลงไปในชาม เพื่อส่งให้ลูกค้าต่อไป โดยผลงานชิ้นนี้เป็นการจับคู่กันระหว่าง ร้านก๋วยเตี๋ยวนายอ้วน กับ บริษัท แอนท์ โรโบทิกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท System Integrator ศิษย์เก่า FIBO ที่ตั้งขึ้นหลังจากเห็นโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

“โจทย์ของงานนี้คือการนำศาสตร์ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ FIBO สอนอยู่ ทั้งระบบเคลื่อนไหว ระบบควบคุม ระบบไฟฟ้า ระบบ logic ต่าง ๆ ตลอดจนทักษะในการวางแผนการทำงาน ร่วมกับประสบการณ์ด้าน robotics ของบริษัท มาเลียนแบบขั้นตอนการลวกก๋วยเตี๋ยวของพ่อครัวตัวจริง ซึ่งแม้จะมีหลายขั้นตอนที่ต้องเปลี่ยนไปบ้าง เช่น เปลี่ยนไปใช้หม้อไฟฟ้าที่ควบคุมอุณหภูมิได้ดีกว่า การยกตะกร้อขึ้นมาสะบัดแทนการจุ่มตะเกียบลงไปคนเส้นในตะกร้อ  ซึ่งจากการลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้ง ด้วยข้อมูลจริง ทั้งอุณหภูมิเวลา และการเปรียบเทียบกับของจริง  ทำให้ก๋วยเตี๋ยวที่ผ่านการลวกด้วยหุ่นยนต์ของเรามีรสชาติใกล้เคียงกับสูตรต้นฉบับ” โชคชัย เป็งยะสา ศิษย์เก่าปริญญาโท FIBO และเจ้าของบริษัทแอนท์ โรโบทิกส์ กล่าวถึงแนวคิดและการพัฒนาหุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว ที่ใช้เวลาในการสร้างเพียง 8 วัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในการพัฒนาต่อยอด เพื่อนำไปติดตั้งและใช้งานจริงกับบางสาขาของร้านก๋วยเตี๋ยวนายอ้วนต่อไป

นอกจากการพัฒนา “หุ่นยนต์เสิร์ฟไอศกรีม” และ “หุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว” ที่เกี่ยวข้องกับธีมหลักในงาน โซน Future Food Court แล้ว ยังมีผลงานเด่น ๆ ของฟีโบ้ ได้แก่ “CARVER TT : หุ่นยนต์พนักงานเสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร” “Meta Market : การช้อปปิ้งในโลกเสมือน” และ “RoboDog: หุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงสุดไฮเทค”รวมถึง “Virtual Fight: ชกมวยเสมือนจริง” อีกหนึ่งผลงานที่แสดงถึงศักยภาพของ FIBO ในการสร้างชิ้นงานเพื่อจัดแสดงในงานอีเวนท์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการการนำอุปกรณ์ 2 อย่างที่ FIBO มีอยู่  คือ “Teslasuit” (bodysuit ที่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าระดับอ่อนผ่านชุดที่สวม ไปทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกถึงการถูกช็อตในตำแหน่งที่ต้องการได้)  กับ  “sensor รับแรงกระแทก” มารวมกันเป็นชุด “Virtual Fight: ชกเสมือนจริง

เชาวลิต ธรรมทินโน นักวิจัยและ อรรถพล ใจลังการ์ ผู้ช่วยนักวิจัย ของ FIBO ผู้พัฒนาชุด Virtual Fight กล่าวว่า ไอเดียของงานชิ้นนี้คือ การสร้างระบบสื่อสารและระบบควบคุม ที่ทำให้อุปกรณ์สองชิ้นนี้ รู้จักกันและทำงานร่วมกันได้ เพื่อการสร้างเวทีมวยเสมือนจริงที่สามารถชกโดยไม่จำเป็นต้องมีคู่ชกจริงแต่ให้ความรู้สึกเสมือนจริงได้

“เรามีการติดเซนเซอร์ไว้ที่กระสอบทรายหลายตัว โดยเซนเซอร์แต่ละตัวจะเปรียบเสมือนเป็นร่างกายส่วนต่าง ๆ ทั้งลำตัว แขน และขา  เมื่อฝ่ายรุก มีการต่อยหรือเตะกระสอบทรายตรงจุดที่กำหนดเป็นแขนซ้าย เซนเซอร์ตรงนั้นก็จะส่งค่าความแรงที่ได้รับผ่านระบบสื่อสารมาที่ระบบควบคุม ตัวระบบจะแปลงค่าเป็น “ระดับการปล่อยกระแสไฟฟ้า” และส่งข้อมูลนั้นผ่านระบบสื่อสารไปยัง Bodysuit บนแขนซ้าย เพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมา ทำให้คนสวมชุด Teslasuit รู้สึกเหมือนโดนอีกฝ่ายชกที่แขนซ้ายจริง ๆ”

ผศ. ดร.สุภชัย กล่าวตอนท้ายว่า ทั้งหุ่น Virtual Fight และ Ice-creme Robot  ที่สร้างโดยบุคลากรของ  FIBO เอง หรือแม้แต่ Noodle Robot  ที่ได้บริษัทของนักศึกษาเก่า FIBO มาทำโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายครั้งนี้ มีจุดเด่นที่สำคัญคือ เป็นงานที่เน้น “ไอเดีย” และเปิดกว้างด้าน “ความคิดสร้างสรรค์” ในการนำสิ่งที่มีอยู่แล้ว มาทำให้เกิด “ชิ้นงานใหม่” ที่ทำงานได้จริงภายใต้ “งบประมาณ” และ “เวลา” ที่จำกัด ซึ่งการทำงานลักษณะนี้นอกจากจะสร้างประสบการณ์และทักษะการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งให้กับนักวิจัย บุคลากร และนักศึกษาของ FIBO แล้ว กิจกรรมในลักษณะนี้ยังสามารถมีส่วนสนับสนุนให้คนในสังคมเกิดการยอมรับและเห็นประโยชน์ของการสร้างเทคโนโลยีและบุคลากรด้านนี้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวต่อไป

บทความและรูปจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)