ทช.โชว์ผลงานถนนพลาสติกรีไซเคิลยาวสุดในไทย สาย อย.2039 เมืองกรุงเก่า

0
73

ทช.เดินเครื่องทดลองโครงการผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีตส่วนผสมขยะพลาสติกสายที่ 4 สาย อย.2039 เมืองกรุงเก่า ระยะทาง5.1 กม.ขึ้นแท่น”ถนนพลาสติกรีไซเคิลยาวสุดในไทย” พร้อมติดตามสมรรถนะทางวิศวกรรมสู่การวิจัย พัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ดีประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยสำนักวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนา ดำเนินโครงการทดลองผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีตมีส่วนผสมขยะพลาสติกจากปัญหาขยะพลาสติกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขยะพลาสติกย่อยสลายได้ยาก ทช. จึงได้มีการทดลองในโครงการงานบำรุงถนนทางหลวงชนบทสาย อย.2039 แยก ทล.33 – บ้านไก่จ้น อำเภอภาชี, ท่าเรือ, หนองแค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการสร้างถนน พร้อมติดตามพฤติกรรม และสมรรถนะทางวิศวกรรมในการพัฒนาผิวทางชนิดดังกล่าว

ปัจจุบัน ทช.ได้ดำเนินโครงการงานบำรุงถนนทางหลวงชนบทสาย อย.2039 แยก ทล.33 – บ้านไก่จ้น อำเภอภาชี, ท่าเรือ, หนองแค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เสร็จสมบูรณ์ โดยปรับปรุงโครงสร้างพื้นทางและไหล่ทางเดิมด้วยวิธี Cement Stabilized In – Place และปูผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลท์คอนกรีตผสมขยะพลาสติก โดยใช้ขยะพลาสติกจำนวน 5 ตันต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ช่วง กม.ที่ 10+100 ถึง กม.ที่ 15+200 ระยะทางรวม 5.1 กิโลเมตรใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 21 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของประชาชนให้สะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โครงการดังกล่าวจะเก็บข้อมูลเปรียบเทียบผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีตผสมขยะพลาสติกกับผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีตในสภาพแวดล้อม และสภาพการจราจรเดียวกัน เพื่อวิจัย และพัฒนางาน ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมผิวถนนที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้

สำหรับโครงการทดลองผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีตที่มีส่วนผสมจากขยะพลาสติก ทช. ได้ดำเนินการมาแล้ว 3 สายทาง ดังนี้

 1. ถนนทางหลวงชนบทสาย ปท.3026 แยก ทล.305 – บ้านหนองแค อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 0.279 กิโลเมตร

 2. ถนนทางหลวงชนบทสาย สบ.1002 แยก ทล.1 – บ้านสองคอน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ, แก่งคอย จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 1.525 กิโลเมตร

 3. ถนนทางหลวงชนบทสาย สบ.3050 แยก ทล.362 – บ้านปากบาง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 1.905 กิโลเมตร

ทั้งนี้ จะช่วยให้ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถกำจัดได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะช่วยยืดอายุการใช้งานของถนนได้เป็นอย่างดีรวมถึงพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานในอนาคตยิ่งขึ้น