“สุริยะ”จี้!ทล.-ทช.-ขบ.ลุยปราบสายแบก ลั่น!ยุคนี้ต้องไม่มีส่วย

0
60

“สุริยะ”จี้ ทล.-ทช.-ขบ. ลุยปราบสายแบก-ส่วยสติกเกอร์ ลั่น!ยุคนี้ต้องไม่มีส่วยทางหลวง เน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลติดตามตรวจสอบ ปิดช่องโหว่การทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมบูรณาการร่วมหน่วยงานอื่น เปิดสถิติจับกุมประจำปี 66 เผยทางหลวงจับกุมได้กว่า 3.4 พันคัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ตนได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ในทุกมิติ พร้อมกำชับการทำงานทุกขั้นตอน ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติงานด้วยความสุจริต และปราศจากการทุจริต โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือส่วยสติกเกอร์ทางหลวงของกรมทางหลวง (ทล.) ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้นั้น ได้เน้นย้ำว่าในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้ติดตามเรื่องส่วยสติกเกอร์มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้ ทล. รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทำงานเชิงรุก หมั่นตรวจตรากวดขัน และบังคับใช้กฎหมายในเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการทุจริต อีกทั้งเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดินหรือมีสภาพทรุดทรุดโทรมก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้ และอาจจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย และสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน อีกทั้งทำให้ภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มาดำเนินการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนด้วย

ขณะเดียวกันจะต้องบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในการตรวจสอบและจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่แอบหลีกเลี่ยงเข้าไปใช้เส้นทางในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายกับพื้นผิวจราจร หรือโครงสร้างของทางพิเศษ นอกจากนี้ ให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการติดตามตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งจะมีความแม่นยำและช่วยลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะเป็นการปิดช่องโหว่การทุจริตคอร์รัปชันได้อีกด้วย

นายสุริยะ กล่าวถึงสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินว่า จากการรายงานของ ทล. ในการดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของสถานีตรวจสอบน้ำหนักและการจัดหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) จากทุกสถานีฯ และหน่วยเฉพาะกิจส่วนกลาง ทำการออกสุ่มตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะทั่วประเทศ พบว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) สามารถจับกุมได้ 3,416 คัน และในปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 1 ตุลาคม – 9 พฤศจิกายน 2566) จับกุมได้ 394 คัน ขณะที่ ทช. ได้ดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สถานีฯ และจัดหน่วย Spot Check ตามสายทาง พบว่า ในปีงบประมาณ 2566 รวม 8 คัน

ในส่วนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รวบรวมข้อมูลผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินจาก ทล. และ ทช. ในกรณีที่ได้รับแจ้งว่ามีการดัดแปลง/ต่อเติมตัวรถ โดยได้นำข้อมูลรถบรรทุกดังกล่าว แจ้งต่อ   นายทะเบียนตามเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อแจ้งผู้ประกอบการขนส่งให้นำรถเข้าตรวจสภาพ โดยจะตรวจสอบว่า มีการดัดแปลง/ต่อเติม แก้ไขตัวรถ หรือเพิ่มเติมอุปกรณ์ส่วนควบให้ผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ หรือผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างยั่งยืนนั้น ทล. ได้มีมาตรการที่เข้มงวดในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างต่อเนื่องผ่านศูนย์ควบคุมเครือข่ายส่วนกลาง สามารถส่งข้อมูลออนไลน์แบบเรียลไทม์ เพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ และมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ได้บูรณาการความร่วมมือกับ ขบ. ในเรื่องของระบบ GPS เพื่อติดตามรถบรรทุกที่คาดว่าจะมีน้ำหนักเกิน จากนั้นส่งข้อมูลการต่อเติมรถบรรทุกให้ ขบ. ดำเนินการตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ทล. ยังขอความร่วมมือภาคเอกชนและผู้ประกอบการรถบรรทุกร่วมกันในการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ ทั่วประเทศ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความคุ้นเคยของเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการขนส่งเพื่อป้องกันโอกาสการทุจริต อีกทั้งนำเทคโนโลยีระบบชั่งน้ำหนักยานพาหนะขณะเคลื่อนที่ (WIM) มาใช้ให้เพียงพอกับการปฏิบัติงาน และการนำกล้องตรวจการณ์มาใช้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะแก่เจ้าหน้าที่ อาทิ เบี้ยเลี้ยง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจและลดปัญหาการทุจริต

ขณะที่ ทช. ได้จัดทำหลักสูตรอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับน้ำหนักบรรทุกตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 ให้กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับขี่รถบรรทุกกับเจ้าหน้าที่และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เช่น ระบบ WIM ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เป็นต้น

ส่วน ขบ. โดยกองตรวจการขนส่งทางบกได้ออกตรวจสอบรถที่ผิดกฎหมาย โดยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะออกตรวจสอบทุกวัน สำหรับสำนักงานขนส่งจังหวัดจะออกตรวจสอบอย่างน้อย 3 ครั้งต่อเดือน รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องชั่งแบบ WIM และเครื่องชั่ง Static สำหรับให้รถบรรทุกเข้าชั่งน้ำหนักและบันทึกข้อมูลน้ำหนักรถเข้าสู่ระบบควบคุมประตูอัตโนมัติ (GCS) ขาออก ก่อนออกจากสถานีขนส่งสินค้า เพื่อให้พนักงานขับรถทราบถึงน้ำหนักสินค้าที่บรรทุกก่อนออกจากสถานีขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อย่างเคร่งครัดด้วย