รุมจวกเละพ.ร.บ.ปิโตรเลียมสอดไส้ปูทางนักการเมือง-เอ็นจีโอแทรกแซงตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

นักวิชาการออกโรงจวกเละพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ชี้ปูทางนักการเมือง-เอ็นจีโอแทรกแซงตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งแห่งชาติ แถมผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จ เรียกร้องตัดม.10/1 ทิ้ง

0
222

นักวิชาการออกโรงจวกเละพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ชี้ปูทางนักการเมือง-เอ็นจีโอแทรกแซงตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งแห่งชาติ แถมผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จ เรียกร้องตัดม.10/1 ทิ้ง

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงานอิสระ เปิดเผยว่า ตนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพราะโดยหลักการของกฎหมาย ไม่มีการกำหนดอำนาจและบทบาทการทำหน้าที่ของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่ชัดเจน แต่เป็นการเขียนกฎหมายที่ครอบจักรวาล และท้ายที่สุดแล้วบรรษัทน้ำมันแห่งชาติก็จะเป็นปัญหาต่อประเทศชาติในอนาคตได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 10/1 ในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ที่ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

“เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นแบบไม่รอบคอบ เป็นการเขียนกฎหมายที่แย่มากๆเพราะอยู่ดีๆ ก็อยากจะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาโดยไม่มีคำอธิบายอะไรเลย ไม่รู้ว่าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มีอำนาจ หน้าที่ บทบาททำอะไร ไม่ใช่หลักการของการเขียนกฎหมาย ถือเป็นการเขียนกฎหมายที่สอบตกมากๆ การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อมก็ไม่แตกต่างจากข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเมื่อก่อนหน้านี้ เพราะสุดท้ายโครงสร้างบรรษัททั้งสองรูปแบบ ก็มีรายชื่อนักการเมือง หรือไม่ก็ภาคส่วนประชาสังคมหรือเอ็นจีโอเข้ามาเป็นกรรมการ กลายเป็นการผูกขาด ภายใต้อำนาจสิทธิโดยนักการเมืองหรือพวกพ้องเอ็นจีโอทั้งสิ้น”

ดังนั้น ตนจึงจะเห็นได้ว่า หากการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติหรือบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ที่มีลักษณะผูกขาดอำนาจใดอำนาจหนึ่งแบบนี้ ไม่ว่าจะโดยพวกพ้องเอ็นจีโอหรือนักการเมืองในทรัพยากรปิโตรเลียมในแผ่นดินถือเป็นการแทรกแซงที่ทำลายประเทศชาติ ไม่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สุดท้ายจะกลายความล่มสลาย สร้างความเสียหายตามมาเหมือนประเทศเวเนซูเอลาที่มีการทุจริตเรื่องนี้

แนวทางการส่งเสริมธุรกิจปิโตรเลียม ที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น นายพรายพล กล่าว่าต้องส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการพัฒนาด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเอกชนชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกมีความพร้อมเข้ามาแข่งขันลงทุนด้านนี้อยู่แล้ว เช่น บริษัท เชฟรอน  จำกัด บริษัท  มิตซุย จำกัด หรือบริษัทของคนไทยคือ  บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)หรือ ปตท.สผ. ที่รัฐบาลมีสัดส่วนการถือหุ้นผ่านกระทรวงการคลังอยู่ในบริษัทแม่เป็นหลัก รัฐบาล จึงควรใช้ ปตท.สผ. ที่มีศักยภาพทั้งเงินลงทุน ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือที่ใช้ดำเนินงานและบริหารจัดการโดยเปิดให้มีการแข่งขันกับบริษัทอื่นอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

ขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงานอิสระ กล่าวว่า การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่เหมาะสมต้องมีการศึกษารูปแบบให้ชัดเจนก่อน เพราะรูปแบบแต่ละประเภทก็มีความเหมาะสมกับในแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน  เช่น ควรมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง บทบาท รูปแบบในการบริหารงาน ตลอดจนการใช้งบประมาณในการจัดตั้ง หากจะมีการจัดตั้งก็ควรแยก พ.ร.บ.ของบรรษัทพลังงาน ออกมาบริหารอย่างชัดเจน ไม่ควรนำไปแทรกไว้เพียง 1 มาตราในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ชาติกว่า 500,000 ล้านบาท

“เรื่องดังกล่าวจะไม่มีปัญหาหากจะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ  แต่ควรกำหนดรูปแบบให้ชัดเจน เช่น รูปแบบของประเทศมาเลเซีย เวเนซูเอลา เม็กซิโก แต่ละประเทศก็มีความเหมาะสมที่ต่างกัน หากของประเทศไทยจะจัดตั้งโดยรัฐบาลเป็นคนควบคุมดูแล เพียงองค์กรเดียวก็ไม่มีปัญหา แต่ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดแต่อย่างใดทั้งสิ้น”

ด้านนางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  กล่าวว่าข้อเสนอให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เหมือนเป็นการรวบอำนาจและบทบาทของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในการกำกับดูแลกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเข้าไปอยู่รวมไว้ในหน่วยปฏิบัติการเดียวกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) ทำให้มีข้อครหาเรื่องความโปร่งใส ยากต่อการตรวจสอบ และเป็นภาระต่องบประมาณ เพราะโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่แยกอำนาจและบทบาทออกจากหน่วยปฏิบัติการชัดเจนอยู่แล้วในปัจจุบัน มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา