ดราม่า ‘รถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน’ ขสมก.มึนตึ๊บอีก!

0
172
ความคืบหน้ามหากาพย์รถเมล์เอ็นจีวี 489 คันเป็นเหตุให้ขสมก.ยิ่งมึนตึ๊บอีกหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเบสท์ริน ให้ ขสมก.รับมอบรถเมล์เจ้าปัญหาภายใน 15 วัน ยันเดินหน้าหารือฝ่ายกฎหมายสู้คดี ชี้แม้รับมอบก็ยังผิดสัญญาเพราะไม่สามารรถส่งมอบรถได้ตามกำกหนดสัญญาอยู่แล้ว ด้านสหภาพฯยื่นคมนาคมเสนอทางแก้ปัญหา
หลังศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว (31 มีนาคม)โดยให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ดำเนินการตรวจรับรถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ(เอ็นจีวี)ของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ที่กรมศุลกากรอนุญาตให้นำออกมาจากท่าเรือแหลมฉบังไว้ชั่วคราว ก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และภายหลังการดำเนินการตรวจรับรถยนต์โดยสารตามข้อสัญญาอื่นๆแล้วให้ ขสมก.ดำเนินการตามสัญญาต่อไปนั้น
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. เปิดเผยว่า เตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการด้านกฎหมายเพื่อพิจารณาแนวทางการเตรียมข้อมูลเพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางและเข้าชี้แจงต่อศาลภายใน 15 วัน หากศาลยืนตามการพิจารณาของศาลชั้นต้น คือให้ ขสมก.รับรถเมล์เอ็นจีวี ขสมก.ก็จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวถึงแม้ว่าขสมก.จะบอกเลิกสัญญาไปแล้วก็ตาม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่าสาเหตุที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ ขสมก.เซ็นสัญญารับรถเมล์เอ็นจีวีนั้น เนื่องจากผู้บริหาร  ขสมก.ซึ่งรวมถึงอดีตผู้อำนวยการ ขสมก. ที่ได้เข้าชี้แจงต่อศาลก่อนหน้านี้นั้น ระบุไว้ 2 ประเด็น คือ 1.ไม่ได้ชี้ชัดว่าแหล่งกำเนิดรถเมล์เอ็นจีวีที่ถือเป็นสาระสำคัญเพื่อบอกเลิกสัญญาเบสท์ริน และ 2.ไม่ได้ชี้ชัดว่าคุณสมบัติของตัวรถเมล์เอ็นจีวีเป็นสาระสำคัญในการบอกเลิกสัญญา ดังนั้นตนจะเร่งหารือกับฝ่ายกฎหมายเพื่อต่อสู้ต่อไป ถึงกระนั้น ในวันที่ 11 เมษายนนี้ ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.จะพิจารณาหาข้อสรุปในการแก้ไขปัญหารถเมล์เอ็นจีวีตามกรอบเดิมที่กำหนดไว้ 15 วัน เมื่อบอร์ดมีมติออกมาในรูปแบบใดก็จะดำเนินการตามนั้นทันที
ขณะที่นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(สร.ขสมก.) ระบุว่าวันที่ 4 เมษายนนี้ สหภาพฯจะไปยื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ ห่มม่วง และนายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาขององค์กร คือ 1.ให้เร่งแก้ไขปัญหารถเมล์เอ็นจีวี 489 คันที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย จะมีแนวทางใดที่จะนำรถที่จดทะเบียนถูกต้องแล้วมาให้บริการตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้มีการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่มีการตัดสินใจ จะทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้บริการ และ 2.การจัดซื้อจัดจ้าง ประกวดราคาจัดหาระบบอี-ทิกเก็ท มาติดรถโดยสาร การดำเนินการจะต้องให้เกิดความโปร่งใส เปิดกว้างให้ทุกบริษัทสามารถเข้ามาประกวดเสนอราคาได้ โดยไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเอกชนรายหนึ่งรายใดเข้ามาผูกขาด และ 3.การปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารควรจัดสรรเส้นทางให้ ขสมก.ก่อน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาล และให้บริษัทเอกชนที่เดินรถอยู่ในปัจจุบันมีโอกาสเข้ามาประมูลเส้นทางต่างๆ ได้ก่อน เว้นแต่บริษัทเอกชนที่ค้างชำระหนี้ ค่าตอบแทนและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา ขณะเดียวกันก็ให้สหภาพฯเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นกรรมการในการพิจารณาการปฏิรูปเส้นทางการเดินรถโดยสารด้วย