รัฐรับลูกสร้างกลไกรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากจีน

0
218
    
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการในโครงการรถไฟไทย-จีน ว่า ขณะนี้โครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด)สภาพัฒน์ คาดจะสามารถอนุมัติเห็นชอบโครงการบอร์ดให้ได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ หากเป็นไปตามแผนก็จะสามารถเปิดขายซองประกวดราคาภายในเดือน ก.ค.60นี้ และคาดจะสามารถก่อสร้างได้ในเดือน ก.ย.
ส่วนกรณีคสช. ออกคำสั่งที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมานั้น เรื่องนี้ยอมรับว่า คำสั่งม.44 จะทำให้การดำเนินงานรถไฟไทย-จีนรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องผ่านกฎหมายหลายฉบับ แต่คำสั่งดังกล่าวจะเน้นเฉพาะจัดจ้างฝ่ายจีนเท่านั้น ส่วนการประมูลก่อสร้างงานโยธาจะดำเนินการตามขั้นตอนปกติ
ส่วนกรณีที่คำสั่งม. 44 ได้ยกเว้นกฎหมายให้วิศวกรและสถาปนิกจีนนั้น สภาวิศกรและสภาสถาปนิกของไทยได้หารือเป็นการภายในเพื่อเตรียมหลักสูตรการฝึกอบรมและทดสอบแก่ฝ่ายจีนตามความเหมาะสม ซึ่งสภาวิศกรและสภาสถาปนิกจะนัดหารือกับกระทรวงคมนาคมอีกครั้งในเร็วๆ นี้
ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังการหารือร่วมกับ ผช.ศ.พิศิษฐ์ แสง-ชูโต กรรมการสภาวิศวกร และ พล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ กรรมการสภาสถาปนิกเกี่ยวกับคำสั่งตามม. 44 ที่มีการยกเว้นการให้วิศวกรและสถาปนิกจากประเทศจีนเข้ามาดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ – นครราชสีมา  โดยยกเว้นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งทั้ง 2 องค์กรยืนยันว่าจะต้องมีการทดสอบความรู้ ความเข้าใจในเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมายและจรรรยาบรรณวิชาชีพ รวมถึงสภาพทางกายภาพของประเทศ โดยจะมีการจัดโครงการอบรมให้ความรู้และทำการทดสอบด้วย  โดยทั้ง 2 สภาวิชาชีพจะนัดหารือร่วมกันในวันนี้ (20 มิ.ย.)  ก่อนที่จะแจ้งมายังกระทรวงคมนาคม
“ทั้ง 2 สภาวิชาชีพ  ยืนยันจะต้องมีการอบรมและมีการทดสอบให้กับวิศวกรและสถาปนิกที่จะเข้ามาดำเนินโครงการถไฟไทยจีน  โดยทั้ง 2 สภาจะไปพิจารณาร่วมกันเพื่อที่จะกำหนดรูปและวิธีการที่จะใช้ในการทดสอบ  และข้อยกเว้นนี้จะมีผลเฉพาะโครงการถไฟไทยจีนเท่านั้น “ 
ทางด้าน นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยภายหลังเข้าหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า ได้เสนอขอให้รัฐบาลมีกลไกที่จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนอย่างเป็นระบบ ซึ่งนายวิษณุ เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวและจะเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้รับทราบข้อเสนอดังกล่าวในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามกลไกที่จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนครั้งนี้ จะถูกบรรจุไว้ในช่วงกระบวนการร่างสัญญา  โดยที่จะไม่มีการแก้ไขมาตรา 44 ที่ออกมาแล้วแต่อย่างใด โดยจะเป็นความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษาและสมาคมวิชาชีพ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงาน
“ครั้งแรกที่มีมาตรา 44 ออกมา ผมก็นอนไม่หลับ เพราะเป็นห่วงเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี  แต่ตอนนี้สบายใจขึ้นหลังจากรัฐบาลรับฟังและเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในอนาคตจะได้สามารถทำได้ด้วยตัวเอง หลังจากนี้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอกลไกที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเสนอรัฐบาลต่อไป ซึ่งเบื้องต้นมีแนวคิดที่จะเข้าไปรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยส่งวิศวกรเข้าไปประกบ ตั้งแต่เริ่มการศึกษาเส้นทาง การออกแบบ โครงสร้างฐานราก ระบบความปลอดภัย เป็นต้น และจะต้องมีการทำบันทึกรายงานออกมาให้ลูกหลานที่เป็นวิศวกรทำงานต่อได้ในอนาคต”