“คมนาคม” รุกแผนขนส่งทางน้ำ ลดต้นทุน โลจิสติกส์ด้านการขนส่ง

0
1020

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ทางกระทรวงคมนาคม ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การขนส่งทางน้ำของประเทศ ตามนโยบายเชื่อมโยงรูปแบบการขนส่งของประเทศ (Shift Mode) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันและลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเน้นขยายขีดความสามารถพร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพการขนส่งที่เชื่อมโยงในอนุภูมิภาค ซึ่งได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดภายในประเทศ จากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 17 พร้อมลดต้นทุนการขนส่งสินค้าต่อ GDP ของประเทศให้เหลือไม่เกิน 12% ในเวลา 20 ปี

รมช.คมนาคม กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์ข้างต้น ต้องใช้วงเงินในการลงทุนทั้งสิ้นราว 46,286 ล้านบาท ซึ่งจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 17% โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางชายฝั่ง ตลอดจนแผนบริหารจัดการและมาตรการจูงใจเอกชนเช่นการยกเว้นภาษี ได้แก่ 1. แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 40,260 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับแม่น้ำเจ้าพระยาและน่านเพื่อการเดินเรือ วงเงิน27,080 ล้านบาท โครงการเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำเชื่อมจากแม่น้ำป่าสักผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล วงเงิน 11,180 ล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าเรือสงขลาอีก 2,000 ล้านบาท 2. แผนก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งใหม่ จำนวน 3 แห่ง วงเงินลงทุนรวม 4,447 ล้านบาท ได้แก่ โครงการท่าเทียบเรือ 20G บริเวณเขื่อนตะวันออก ท่าเรือกรุงเทพ 1,000 ล้านบาท โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง A ท่าเรือแหลมฉบัง วงเงิน 1,864 ล้านบาท โครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งที่สงขลา 1,500 ล้านบาท และการสร้างพื้นที่จอดเรือบริเวณสามแยกท่าทอง (ร่องน้ำบ้านดอน) และบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ซึงอยู่ฝั่งสนามกอล์ฟ ร่องน้ำบางปะกง วงเงินรวม 83 ล้านบาท 3.การลงทุนรักษาร่องน้ำทั่วประเทศ วงเงินรวม1,579 ล้านบาท เพื่อขยายความลึกให้ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางเรือ อาทิ ร่องน้ำท่าจีน ร่องน้ำแม่กลอง ร่องน้ำวงขลา ร่องน้ำบางปะกง ร่องน้ำบ้านดอน ร่องน้ำภูเก็ต ร่องน้ำระนองและร่องน้ำกันตัง

“ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการทางด้านภาษี คาดว่าจะเน้นการลดภาษีเพื่อจูงใจภาคเอกชน ตลอดจนการยกเว้นภาษีเพื่อให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพิ่มสำหรับผู้ส่งสินค้าทางน้ำ นอกจากนั้นยังได้มีการขอความร่วมมือไปยังกรมศุลกากร ให้ดำเนินการปลดล็อคข้อบังคับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งให้กับผู้ส่งออกสินค้า โดยต้องอนุญาตให้ผู้ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศสามารถใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าในประเทศได้เพื่อลดภาระต้นทุน จากเดิมที่ต้องวิ่งคอนเทนเนอร์เปล่าเพื่อไปรับสินค้ามาขนส่งที่ท่าเรือ นอกจากนี้ยังพิจารณาแนวทางแก้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางน้ำอาทิ พ.ร.บ. ต่างด้าว พ.ร.บ. เรือไทย และ พ.ร.บ. ร่วมทุนเอกชน เป็นต้น”

สำหรับยุทธศาสตร์ดังกล่าว กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการเสนอแผนดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เพื่อขออนุมัติโครงการ และการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อนำมาพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ที่ได้วางเอาไว้ รวมไปถึงการส่งแผนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าทางน้ำและการขนส่งสินค้าทางชายฝั่ง ถือว่าเป็นจุดแข็งที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาคุณภาพการขนส่งที่เชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมไปถึงยังเป็นการประหยัดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ด้วย นอกจากแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ทางรัฐบาลก็ยังมีโครงการก่อสร้างระบบรางเพื่อเชื่อมต่อ 3 ท่าเรือในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี วงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเรือจุกเสม็ด-ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือมาบตาพุด โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการขนสินค้าทางรางที่มาถึงท่าเรือจาก 7% เป็น 30% และทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดลงจาก14% ของจีดีพีเป็น 12% หรือประหยัดลงได้ประมาณ 2.5 แสนล้านบาทต่อปี