อัพเกรดระบบสายพานลำเลียง CTX สนามบินสุวรรณภูมิ โชยกลิ่น!

0
1391

ประมูลปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 3 พันล้าน ส่งกลิ่นโชยอีก  แฉใบสั่งอัพเกรดระบบใหม่หวังเขี่ย CTX พ้นทาง ดันคู่แข่ง L3 เสียบแทน เตือน ทอท. ระวังตกหลุมพรางแถมทำไทยเสี่ยงภัยก่อการร้าย หากระบบใหม่ไม่เวิร์ก    

แหล่งข่าวในบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ (BHS: Baggage Handling System) และระบบตรวจสอบวัตถุระเบิด (HBS : Hold Baggage Screening System) ของอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ ทอท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากสิงคโปร์ทำการศึกษาออกแบบระบบใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการลำเลียงกระเป๋าสัมภาระจากปัจจุบันที่ผู้โดยสารต้องเสียเวลารอคอยกระเป๋าสัมภาระ 60-90 นาที

โดยผลการศึกษาที่ได้คณะกรรมการพิจารณาจัดทำเงื่อนไขประมูลได้เสนอให้ ทอท. ปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงเดิมที่มีความยาว 22 กม.ลง และปรับลดจำนวนเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดจาก 26 เครื่องลงมาเหลือ 16 เครื่อง พร้อมเพิ่มความเร็วของระบบสแกนกระเป๋าสัมภาระจาก 0.3 เมตรต่อวินาที เป็น 0.5 เมตร/วินาที ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระจาก 10,000 ใบต่อชั่วโมง เป็น 20,000 ใบต่อชั่วโมง ทำให้ ทอท.สามารถปรับลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบน้อยลงได้ โดยกำหนดเปิดให้ประมูลปรับปรุงระบบใหม่ปลายปีนี้ ภายใต้วงเงินดำเนินการราว 3,000 ล้านบาท

เตือน ทอท. ระวังเสียค่าโง่ 

อย่างไรก็ตาม วิศวกรผู้ประสานงานโครงการบริษัท สมิธ ดีเทคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดูแลเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงฝ่ายบริหาร ทอท.และประธานด้านธรรมาภิบาล ทอท. เพื่อขอให้ทบทวนการปรับเปลี่ยนระบบใหม่ดังกล่าว โดยอ้างว่า มีการบิดเบือนข้อมูลที่ไม่ตรงข้อเท็จจริง ซึ่งนอกจากจะทำให้ ทอท. เสียค่าใช้จ่ายแพงโดยใช่เหตุ ยังจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสุ่มเสี่ยงต่อความล้มเหลวในการปรับเปลี่ยนระบบอีกด้วย

ทั้งนี้เพราะสเปคระบบใหม่ที่คณะกรรมการร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาร่วมกันออกแบบ โดยจะทำการปรับปรุงตัดต่อระบบสายพานลำเลียงที่อ้างว่าจะใช้งบดำเนินการราว 600-700 ล้านบาทนั้น ในข้อเท็จจริงมีการบิดเบือนข้อมูลเอาไว้ เพราะนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายแฝงในการต่อเติมระบบสายพานลำเลียงแล้ว ยังมีค่าซ่อมบำรุงระบบสายพานลำเลียงที่สูงกว่าค่าซ่อมบำรุงเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดถึง 4 เท่า

นอกจากนี้ การที่ ทอท. กำหนดสเปคจัดหาเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดใหม่ โดยกำหนดสเปคความเร็วในการสแกนวัตถุระเบิดที่ทำงานร่วมกับระบบสายพานลำเลียงที่  0.5 เมตรต่อวินาที เพื่อให้รองรับกระเป๋าสัมภาระได้ถึง ชม.ละ 20,000 ใบนั้น คณะทำงานกำหนดสเปคที่เคยบินไปดูงานในศูนย์ทดสอบ ณ กรุงวอชิงตัน ในสหรัฐฯ ต่างรับทราบข้อมูลดีว่า ไม่มีบริษัทใดผ่านการทดสอบ แต่ก็ยังมีการกำหนดสเปคดังกล่าวออกมา

“หากสนามบินสุวรรณภูมิดำเนินการติดตั้งเครื่องดังกล่าวย่อมสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยตามมา จึงขอให้ ทอท.ตั้งคณะทำงานสอบสวนคณะกรรมการที่ร่วมกันปกปิดข้อมูลและบิดเบือนข้อมูลเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบสายพานลำเลียง และระบบตรวจสอบวัตถุระเบิดที่จะนำความเสี่ยงมาสู่สนามบินสุวรรณภูมิ และประเทศไทย”

CTX ร้องแผนเขี่ยพ้นสุวรรณภูมิ

แหล่งข่าวเผยว่า การออกแบบติดตั้งเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX ที่ทำงานร่วมกับระบบสายพานลำเลียงนั้น เป็นมาตรการป้องกันการก่อการร้ายที่ได้มาตรฐานของ TSA protocol  เช่นเดียวกับสนามบินต่างๆ ในสหรัฐฯ และยุโรปที่ต่างใช้ระบบ Automatic Inline ทั้งสิ้น ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 11 ปีที่ ทอท. ติดตั้งเครื่อง CTX ทำงานร่วมกับระบบสายพานลำเลียงในสนามบินสุวรรณภูมินั้น ไม่เคยมีปัญหาด้านการปฏิบัติงานแม้แต่ชั่วโมงเดียว

ส่วนเรื่องที่ ทอท. อ้างสาเหตุที่ต้องปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดใหม่ เพราะบริษัท มอร์โพดีเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (MD LLC) ผู้ผลิตเครื่อง CTX ได้แจ้งยกเลิกการผลิตเครื่อง CTX 9400 ตั้งแต่ปี 2557 หาก ทอท. จะใช้เครื่องดังกล่าวต่อไปหลังสิ้นสุดสัญญาซ่อมบำรุงในปี 2562 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงสูงไม่คุ้มกับการปรับเปลี่ยนและจัดหาระบบใหม่ทดแทนนั้น

แหล่งข่าวยืนยันว่า ในหนังสือชี้แจงของบริษัท MD LLC ที่แจ้งมายัง ทอท. นั้น ได้ชี้แจงสาเหตุที่เลิกผลิตเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX9400 DSI ก็เพื่อปรับเปลี่ยนไปเป็นระบบ CTX9800 ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่ทันสมัยและสามารถดำเนินการติดตั้งทดแทนเครื่องรุ่นเดิมได้ทันที โดยมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำกว่าระบบเดิม แต่ ทอท. กลับปกปิดข้อมูลส่วนนี้ ซึ่งล่าสุดตัวแทนของบริษัท สมิธ ดีเทคชั่น หรือบริษัทมอร์โพดีเทคชั่นเดิมได้มีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมมายัง ทอท. โดยระบุว่า รายงานของคณะทำงานและบริษัทที่ปรึกษาที่นำเสนอต่อ ทอท. มีการบิดเบือนข้อมูลเพื่อพยายามผลักดันการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดยี่ห้อ L3 ทดแทนเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX ที่ใช้อยู่เดิม

 “หากพิจารณาสนามบินอื่นๆ ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรปอย่าง “สนามบินฮีทโทรว์” หรือแม้แต่ญี่ปุ่นที่ติดตั้งระบบสายพานลำเลียงทำงานควบคู่กับเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX9400 รุ่นเดียวกับไทย ต่างทยอยปรับเปลี่ยนเครื่อง CTX9400 เป็นรุ่น CTX9800 ตามคำสั่งของ TSA ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีสนามบินใดที่รื้อระบบเก่าทิ้งแล้วสุ่มเสี่ยงนำเอาระบบใหม่เข้ามาทดแทน เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการล้มเหลวของระบบซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสนามบินทั่วโลก”