“กำลาภ ศิริกิตติวัฒน์ ” ประธานวอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) กับภารกิจสุดท้าทายของผู้บริหารสูงสุดไทยคนแรก

0
1971

นับตั้งแต่ค่ายรถใหญ่หลากหลายสายพันธุ์รุกเข้าสู่ตลาดเมืองไทย ทั้งจากแดนซามูไร แผ่นดินยุโรป แม้กระทั่งจากแดนมังกร ทำให้ตลาดรถบรรทุกในเมืองไทยนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลาย และมีรถบรรทุกในหลากหลายเซ็กเม้นต์ให้ผู้ประกอบการขนส่งมืองไทยเลือกสั่งซื้อไปใช้งาน

ในบรรดาค่ายรถบรรทุกที่โลดแล่นอยู่ในชั้นแถวหน้านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า  “ค่ายวอลโว่” จัดเป็น 1 ในเจ้าตลาดที่ว่าและต้องถือเป็นความสำเร็จอันยอดเยี่ยมของค่ายนี้ที่สามารถนำวอลโว่ข้ามน้ำข้ามทวีปเบียดตลาดรถบรรทุกในภูมิภาคนี้ขึ้นมาผงาดอยู่ในชั้นแถวหน้า จนขณะนี้ วอลโว่ ทรัคส์  มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 80% ของตลาดรถบรรทุกยุโรปในประเทศไทยได้  ซึ่งต้องถือว่าไม่ธรรมดาแน่สำหรับรถบรรทุกจากดินแดนสวีเดนค่ายนี้

khun-kamlarp-1

ล่าสุดเมื่อ บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถบรรทุกวอลโว่  และยูดี ทรัคส์ ในประเทศไทย ประกาศแต่งตั้ง “นายกำลาภ ศิริกิตติวัฒน์” ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และถือเป็นคนไทย “คนแรก” ของบริษัทฯ นับจากก่อตั้งในประเทศไทยมากว่า 25 ปีนั้น ได้ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย เพราะไม่บ่อยนักที่จะเห็นค่ายยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์ชั้นนำของโลกที่จะยอมเปิดทางให้ผู้บริหารท้องถิ่นในอีกซีกโลกผงาดขึ้นมาคุมบังเหียนกำหนดกลยุทธ์ขององค์กรได้

ทุกสายตาจึงต่างจับจ้องไปยัง “ประธานกรรมการวอลโว่ กรุ๊ป” คนนี้ชนิดไม่กระพริบ และต่างพยายามค้นหาตัวตนของเขาว่าเป็นมาเป็นไปอย่างไร เหตุใดค่ายรถยนต์สุดบิ๊กบึ้มอย่าง “วอลโว่” ถึงยอมเปิดทางให้กับคนรุ่นใหม่ได้ก้าวขึ้นมาคุมบังเหียนวอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย)ด้วยวัยเพียง 39 ปีได้ และโดยเฉพาะกับวิสัยทัศน์ และภารกิจขับเคลื่อนองค์กรที่เขาจะต้องต่อยอดความสำเร็จให้กับวอลโว่ กรุ๊ป ในอนาคตอันใกล้

Profile สั้น ๆ เท่าที่สื่อมวลชนรับรู้กับประธานกรรมการวอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย)คนนี้ ระบุเพียงว่า สำเร็จปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์จากรั้วจามจุรีในปี 2542 และระดับปริญญาโทจากยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เทคโนโลยี ซิดนีย์ ออสเตรเลีย สาขาเอ็นจิเนียริ่ง เมเนจเมนต์ ในปี พ.ศ.2546 ก่อนกระโจนเข้าร่วมวงไพบูลย์กับวอลโว่ และต่อมาได้รับมอบหมายรับผิดชอบด้านการขายรถ (Fleet Sales) จนกระทั่งขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายรถเพื่อการพาณิชย์ในปี 2552 อีก 2 ปีถัดมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานฝ่ายขายและการตลาดที่จีนแผ่นดินใหญ่  ปี 2558 บินกลับสู่มาตุภูมิอีกครั้งในตำแหน่งรองประธานฝ่ายขายและบริหารศูนย์บริการ

 จนกระทั่งให้หลังเพียงหนึ่งปีก็ผงาดขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการวอลโว่ กรุ๊ป(ประเทศไทย) จึงไม่ใช่ “เรื่องบังเอิญ”แน่

“ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในองค์กรแล้ว ตนในฐานะผู้นำองค์กรจะนำความเข้มแข็งขององค์กรมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในภูมิภาคนี้ ซึ่งวอลโว่กรุ๊ปประเทศไทย นอกจากรับผิดชอบตลาดประเทศไทยแล้ว ยังรับผิดชอบตลาดเมียนมา สปป. ลาว กัมพูชา, เวียดนามและฟิลิปปินส์ โดยที่ตลาดประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญอย่างมาก และยังเป็นฐานการผลิตยูดี ทรัคส์ จำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกไปทั่วโลก” นี่คือปรารภแรกที่ประธานกรรมการคนไทยคนแรกของวอลโว่ กรุ๊ป ประเทศไทย ได้ประกาศชัดในอันที่จะนำพาองค์กรพัฒนาความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายวอลโว่ กรุ๊ป ในกลุ่มประเทศ AEC เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของวอลโว่ กรุ๊ป ให้เป็นผู้นำในตลาดในแต่ละประเทศ

ย้ำ นำองค์กรสร้างความเข้มแข็งในเครือข่าย AEC

ทั้งนี้ กำลาก ยังกล่าวต่อไปว่าเพราะเราเป็นประเทศที่เป็นสำนักงานใหญ่ซึ่งดูแลรับผิดชอบอีก 5 ประเทศในเครือ ต่างจากบริษัทรถบรรทุกทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีคุณลักษณะแบบนี้ จึงทำให้เราสามารถนำจุดแข็งของเรามาสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดประเทศไทยและเกื้อหนุนไปยังประเทศในเครืออีกด้วย

“แนวโน้มตลาดที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงนั้นผมมองว่ายังคงเป็นตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เมียนมาร์ สปป. ลาว กัมพูชา เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 6-8% ต่อปี เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง แต่ก็เป็นโอกาสที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากการพัฒนาโครงการพื้นฐานใหญ่ๆของภาครัฐมากกว่า ซึ่งจะไม่เน้นภาคการบริโภคหรือ Consumption ในประเทศนั้นๆ ซึ่งงานโปรเจ็กต์ต่างๆก็จะมีรอบของมันอยู่ เมื่อถึงคราวโปรเจ็กต์ที่ต้องใช้รถ การซื้อขายรถก็จะเกิดขึ้น ซึ่งจะแตกต่างจากตลาดในประเทศไทยที่จะเน้นในเรื่องของรีเทล เช่น เมื่อรอบการรถใช้หมดลงในรอบอายุการใช้งาน 5 ปี 10 ปี รถล็อตใหม่ก็จะเข้ามาแทนฟลีทเดิม

นอกจากนี้ ประธานกรรมการวอลโว่ กรุ๊ป ประเทศไทย ระบุถึงศักยภาพการเติบโตในประเทศในเครือว่าเรามีความพร้อมในทุกๆด้านที่จะเติบโตไปพร้อมกับลักษณะของตลาดในประเทศนั้นๆ โดยเรามีอิมพอร์ตเตอร์และพาร์ทเนอร์ของเราใน 5 ตลาดด้วยกัน ขณะที่กลุ่มตลาดประเทศ CLMV ที่อยู่รอบๆบ้านเรา เราเองก็มีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันดูแลอยู่ และเมื่อเราพูดถึงเออีซีที่มีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยกับเพื่อนบ้าน เราเองก็สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเหล่านี้ได้อย่างสะดวกและทั่วถึง โดยการต่อยอดการเติบโตในกลุ่มตลาดเหล่านี้ก็จะมีทั้งในส่วนของลูกค้าโกลบอลที่ซื้อฟลีทใหญ่ๆจากเราในประเทศไทย แล้วเข้าไปเริ่มลงทุนและขยายโอกาสทางการค้าไปยังประเทศนั้นๆ อีกส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตจากลักษณะของตลาดในประเทศนั้นๆ

nd3_8243

ปลื้ม ยอดขาย 5 เดือนแรกขยับ3 % เมื่อเทียบปีก่อน

เมื่อย้อนถามถึงตลาดประเทศไทยนั้น กำลาภ ให้คำตอบว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) คาดการณ์ว่าGDP ของประเทศในปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 3 – 3.5% หรืออยุ่ในระดับที่คงที่ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มี GDP อยู่ที่ 3 % ซึ่งหากมาตรการการลงทุนต่างๆของทางภาครัฐเป็นรูปธรรมและสามารถเดินหน้ามากยิ่งขึ้นในครึ่งปีหลัง อัตราการเติบโตก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งอานิสงส์ก็จะเหมารวมถึงตลาดรถบรรทุกด้วยเช่นกัน

“เมื่อปีแล้ววอลโว่ กรุ๊ป มียอดขายทั้งสิ้น 1,016 คัน โดยแบ่งเป็นวอลโว่ ทรัคส์ 504 คัน เติบโตลดลง 11%  คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดค่ายยุโรปประมาณ 70% ส่วนยูดี ทรัคส์ มียอดขายทั้งสิ้น  512  คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 112% คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดค่ายญี่ปุ่นประมาณ 3% ภาพรวมของทั้งกรุ๊ป สามารถทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นถึง 26% ในขณะที่ตลาดรวมรถบรรทุกขนาดใหญ่ทั้งตลาดตกลง 20% เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การตกต่ำในภาคการส่งออก และการชะลอในการลงทุนงานก่อสร้างของโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐบาล”

“แต่ทว่า หากเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของตลาดรถใหญ่ในรอบ 5 เดือนแรกของปีนี้กับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ปีนี้ยอดขายวอลโว่ กรุ๊ปขยับดีขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 3 % ส่วนยอดขายรวมของกลุ่มวอลโว่ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. ยอดขายรวมอยู่ 551 คัน แบ่งเป็นวอลโว่ทรัคส์ 169 คัน และยูดีทรัคส์ 382 คัน”

อย่างไรก็ดี ประธานกรรมการวอลโว่ กรุ๊ป ประเทศไทย ย้ำว่าประเทศไทยยังคงมีบทบาทสูงในภูมิภาค โดยเฉพาะภายหลังการเข้าร่วมประชาคมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ซึ่งประเทศไทยจะเป็นฐานสำคัญสำหรับภาคการขนส่งระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพราะทำเลที่ตั้งของประเทศไทยสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ได้หลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา จีน สปป. ลาว เวียดนาม เป็นต้น

“วอลโว่ กรุ๊ปได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ตลาด AEC โดยได้ใช้เงินลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 หรือ 1 ปีล่วงหน้าก่อนที่ตลาด AEC จะเริ่มต้น โดย 5,000 ล้านบาทดังกล่าว แบ่งการลงทุนเป็น 2,000 ล้านบาทสำหรับการขยายศูนย์บริการในประเทศไทยเพิ่มเติมจาก 4 สาขามาเป็น 15 สาขาทั่วประเทศบวกกับอีก 1 ไพรเวทดีลเลอร์ ทั้งหมดบริหารจัดการในลักษณะ Multi Brands เรียกได้ว่าหน้าบ้านเราก็พร้อม หลังบ้านเราพร้อม ซึ่งถือเป็นบริษัทค่ายรถบรรทุกยุโรปที่มีศูนย์บริการภายในประเทศไทยมากที่สุด 2,000 ล้านบาทสำหรับการลงทุนสายการประกอบรถบรรทุกยูดี ทรัคส์ ซึ่งมีกำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี และอีก 1,000 ล้านบาทในการก่อสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่บนถนนบางนา-ตราด กม. 21 ทั้งหมดทั้งมวลทำให้เรามีความพร้อมในการบริการลูกค้าของเราในทุกๆด้าน

ชูวิสัยทัศน์องค์กร “ความสำเร็จของลูกค้าคือความสำเร็จของเรา”

เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่ท้าทายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสูงสุดคนแรกของวอลโว่กรุ๊ปประเทศไทย กำลาก ให้ทัศนะว่าวิสัยทัศน์วอลโว่จากบริษัทแม่ คือการเป็นผู้ให้บริการด้านการขนส่งที่ครบวงจร หรือ Total Transport Solution รักความพึงพอใจและประสบความสำเร็จที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่เรามองไว้

“การได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำสูงสุดขององค์กร สิ่งที่ท้าทายอย่างมาก ก็คือการที่จะเป็นผู้ให้บริการด้านการขนส่งที่ดีที่สุด คำตอบไม่ใช่อยู่ตัวเรา แต่คนตัดสินอยู่ที่ลูกค้าของเรา แต่การที่เราจะไปถึงจุดนั้นเราต้องทำอย่างไรบ้าง เราก็ต้องมาดูที่ลูกค้าของเราเป็นสำคัญ ทิศทางนโยบายของบริษัทแม่ก็ดี วอลโว่กรุ๊ปประเทศไทยก็ดี ก็คือความสำเร็จของลูกค้า คือความสำเร็จของเรา หมายความว่าถ้าเราสามารถเพิ่มผลกำไรให้กับลูกค้าได้ และลูกค้าประสบความสำเร็จ สุดท้ายเราเป็นซัพพลายเออร์ของเขา เป็นพาร์ทเนอร์ของเขา และที่สำคัญเราก็สามารถเดินไปสู่เป้าหมายด้วยกันได้ดี”

ส่วนทิศทางขององค์กรนั้นประธานกรรมการวอลโว่ กรุ๊ป ประเทศไทยมองว่าแต่ละประเทศก็จะมีวิธีการแตกต่างกันไป ถ้าถามว่าทำไมตนในฐานะคนไทยซึ่งเป็นคนพื้นที่ถึงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงค์ตำแหน่งสูงสุดของวอลโว่กรุ๊ปประเทศไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้จะมีผู้บริหารสูงสุดเป็นชาวต่างชาติมาโดยตลอด ผมเรียนว่าวอลโว่กรุ๊ประเทศไทยมีพนักงานที่เป็นคนไทยมากกว่า 95% ธุรกิจหลักๆของเรา ถึงแม้เราจะดูแลภูมิภาคอื่นๆด้วย แต่จะเป็นในส่วนของประเทศไทยมากกว่า 70 -75 % จะเป็นประเทศไทย ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้ลูกค้าได้ผลกำไรมากที่สุด เราก็ต้องเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าว่าเขาอยากได้อะไรเพื่อตอบโจทย์ลักษณะธุรกิจของเขา

dsc_8295

เชื่อ เลือดย่อมเข้มกว่าน้ำ“วัฒนธรรมองค์กร Never die”

ขณะเดียวกัน เมื่อถามถึงอะไรคือข้อดีของการมีคนในพื้นที่ขึ้นมาบริหารในฐานะผู้นำสูงสุดขององค์กรนั้น กำลาภ ได้ให้ข้อคิดว่าผมมองว่าคนในพื้นที่น่าจะช่วยลดช่องว่างตรงนั้นได้พอสมควร ขณะเดียวกันการที่เราจะส่งมอบความพึงพอใจให้กับลูกค้าตรงตามความต้องของลูกค้าได้อย่างถึงที่สุด เราก็ต้องส่งมอบผ่านทีมของเรา ซึ่งหลักๆแล้วล้วนเป็นทีมงานคนไทยทั้งนั้น

“เมื่อผู้บริหารได้พูดคุยเข้าใจและเข้ากับทีมงานได้อย่างลึกซึ้ง ดังนั้น ทำอย่างไรก็ได้เพื่อเชื่อมกับทีมงานอย่างไร้รอยต่อแล้วส่งต่อการบริการที่ดีให้กับลูกค้าอย่างถึงที่สุด ทุกอย่างจะสามารถเดินต่อไปอย่างราบรื่น แล้วถามว่าทำอย่างไรวอลโว่กรุ๊ปประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างถึงที่สุด ตรงนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งมันก็ติดแน่นอยู่กับองค์กรอยู่แล้ว เมื่อใดก็ตามที่ลูกหม้อได้ขยับขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด วัฒนธรรมองค์กรก็ย่อมติดตัวเขามาด้วยเช่นกัน มันไม่มีวันจางหายไปแน่นอน ดังนั้น การที่จะรันธุรกิจควบคู่ไปกับวัฒนธรรมองค์กร ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องท้าทายอะไรมาก เพราะผมเชื่อมั่นในวัฒนธรรมองค์กร และผมก็เชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ฝั่งรากลึกอยู่ในตัวผมเช่นกัน”

“วอลโว่กรุ๊ปประเทศไทยเป็นองค์กรที่ใหญ่และกว้างมาก เมื่อองค์กรใหญ่โอกาสในการทำงานก็ย่อมเปิดกว้างเป็นเรื่องธรรมดา นั่นหมายความว่าการที่เราอยากได้ประสบการณ์ ความรู้ และความท้าทายใหม่ๆ เราไม่ต้องไปมองหรือแสวงหาจากข้างนอก ทั้งหมดทั้งมวลสามารถแสวงหาได้ภายในวอลโว่นี้แหล่ะ องค์กรของเราให้โอกาสและเปิดกว้างสำหรับทุกคนอยู่แล้ว เมื่อใดก็ตามที่พนักงานยอมเปิดใจอยากรับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ เมื่อนั้นเขาก็สามารถรับได้ซึ่งโอกาสและความท้าทายภายในองค์กรนี้ได้อย่างถึงที่สุดเช่นกัน”ประธานกรรมการวอลโว่ กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวสรุปปิดท้าย

ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ลูกหม้อจากค่ายวอลโว่ท่านนี้ได้ไต่เต้าที่เริ่มจากตำแหน่งวิศวกรฝ่ายขายจนกระทั่งผงาดสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในองค์กร ที่สำคัญเป็นตำแหน่งที่ถูกผูกขาดโดยผู้บริหารสูงสุดชาวต่างชาติสายตรงจากบริษัทแม่ ถือเป็น 17 ปีที่ไม่ธรรมดาสำหรับผู้บริหารหนุ่มใหญ่ไฟแรงในวัยไม่ถึง 40 กะรัต นับจากนี้ไปยังเหลือเวลาอีกบานตะไทที่รอให้เขาโชว์ศักยภาพและพิสูจน์กึ๋นให้เป็นที่ปรากฏในสมรภูมิรถใหญ่เมืองไทย

ด้วยวิสัยทัศน์ มุมมอง และเหลี่ยมความคิดที่เขาถูกเบ้าหลอมจากครอบครัววอลโว่ ที่ปลูกฝั่งให้เขายึดมั่นในวิสัยทัศน์บริษัทแม่ และเชิดชูวัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวนำในการต่อยอดความสำเร็จให้กับองค์กร ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เขาจะมาจุดนี้ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บริษัทแม่จะมอบ “ดาบอาญาสิทธิ์” ให้กับผู้บริหารสูงสุดคนใหม่คนไทยคนแรกเท่านนี้ เพื่อฟาดฟันปัญหาอุปสรรคระหว่างทางแล้วพุ่งชนความสำเร็จขององค์กร …นี่แหล่ะ “กำลาภ  ศิริกิตติวัฒน์”!