คลี่ร่างกม.คุมเข้มผู้ให้บริการทางการเงิน แค่ปาหี่….หรือขี่ช้างจับตั๊กแตน!

0
354

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ….โดยระบุเหตุผลของการยกร่างกฎหมายดังกล่าวว่า

โดยที่ปัจจุบันมีผู้ให้บริการทางการเงินที่ให้สินเชื่อ เช่น สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือดำเนินธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ เช่นการให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง และแฟคตอริ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ดีการประกอบธุรกิจให้บริการทางการเงินบางประเภทยังไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ ทำให้ขาดมาตรฐานในการประกอบธุรกิจ

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงิน จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินให้มีมาตรฐาน มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่มีความเป็นอิสระและคล่องตัวจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

คลี่ร่าง กม.กำกับสินเชื่อจำนำเล่ม
เนื้อหาร่างกฎหมายฉบับนี้มีอยู่ 73 มาตราและมีบทเฉพาะกาลอีก 2 มาตรา หลักๆ มีการให้นิยาม “ผู้ให้บริการทางการเงิน” หมายความว่า ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อ ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ และผู้ประกอบกิจการประเภทอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และอรรถาธิบายลักษณะการให้บริการทางการเงินแต่ละประเภทข้างต้น

ในร่างกฎหมาย ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 9 คน เป็นกรรมการ กำหนดอำนาจหน้าที่ และการจัดตั้งสำนักงาน คณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน  เป็น“หน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ”  และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแล ที่มีเลขาธิการทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงาน

มุ่งจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในกำกับคลัง
เนื้อหาส่วนใหญ่กว่าครึ่งของกฎหมายนี้จะว่าด้วยเรื่องคณะกรรมการกำกับดูแล และสำนักงานฯ ตลอดจนเลขาธิการ อันเป็นเรื่องของการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมากำกับดูแลเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
ในหมวด 2 ว่าด้วยการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งแยกประเภทไว้เป็น “ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อ” จะกระทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ส่วนผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อกับสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการประกอบธุรกิจ

มีการกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานของผู้ประกอบการเหล่านี้ที่ต้องทำตามที่นายทะเบียนกำหนด การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นของผู้ให้บริการทางการเงิน ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ (มาตรา46)

นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดว่าด้วยการเพิกถอนและเลิกประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงิน ในหมวด2 ส่วนที่ 4 โดยรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อ หากปรากฏว่ากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบด้วย (1) ไม่ประกอบธุรกิจหรือหยุดประกอบธุรกิจตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด(2) ฝ่าฝืนมาตรา 47(3) ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดหรือตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำความผิดซ้ำอีกจนเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าอาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผู้ใช้บริการโดยรวม

ส่วนบทลงโทษของผู้ประกอบการที่กำหนดไว้ในหมวด 3 นั้น ส่วนใหญ่เป็นโทษปรับทางปกครอง โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษปรับทางปกครองคณะหนึ่งจำนวนสามคนขึ้นทำหน้าที่พิจารณาโทษปรับทางปกครองตามที่สำนักงานคณะกรรมการ เสนอ

ส่วนใหญ่จะว่าด้วยเรื่องการประกอบธุรกิจโดยไม่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการกำกับดูแลกำหนด อาทิ ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 43  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ไม่ดำเนินการตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 45 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาทเป็นต้น

โดยสรุปแล้ว เป็นการยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระขึ้นมาอีกหน่วยงานในกระทรวงการคลัง โดยมีคณะกรรมการขึ้นทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่นอกเหนือไปจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เท่านั้น โดยมุ่งเน้นการกำหนดที่มาของคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เลขาธิการ และกรอบระเบียบต่างๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ที่ลากยาวกันไปได้ถึง 73 มาตรา

คุ้มครองรากหญ้ารายย่อยสุด”ริบหรี่”
ส่วนเนื้อหาที่จะคุ้มครองประชาชนที่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ต้องถูก“มัดมือชก”บังคับหลักประกันจากผู้ให้บริการนอกลู่ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล หรือบริการทางการเงินที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่ออย่างจำนำทะเบียนนั้นแทบจะกลายเป็นประเด็นปลีกย่อย ราวกับคณะทำงานผู้ยกร่างกฎหมายไม่เคยได้ลงไปสัมผัสพื้นฐานการดำเนินชีวิตของผู้คนเอาเลย

โดยเฉพาะการที่ลูกหนี้ต้องถูกบังคับหลักประกัน ทำสัญญามัดมือชก ถูกริบหลักประกันขายทอดตลาดไปแล้ว มีเงินเหลือจากการชำระหนี้เงินต้นเท่าไหร่ จะต้องคืนเงินให้ลูกหนี้อย่างไรกลับไม่มีการพูดถึง

หรือแม้กระทั่งการที่ผู้ประกอบการในระบบที่อ้างว่าให้บริการสินเชื่อส่วนจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ซึ่งควรต้องเป็น”สินเชื่อไร้หลักประกัน”หรือ Clean loan แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้กลับแอบทำสัญญาบังคับเรียกหลักประกันเอาจากลูกหนี้ แถมกดราคาหลักประกันต่ำติดดิน 40-60%  จนทำให้ธุรกิจเหล่านี้เฟื่องฟูชนิดที่มีพอร์ตสินเชื่อกันเป็นหมื่นล้าน แต่มีหนี้เสียต่ำติดดินแค่ 1-1.5% เท่านั้น ดีกว่าแบงก์หรือสถาบันการเงินที่มีความเข้มงวดในการปล่อยกู้เป็น 100 เท่าสิ่งเหล่านี้กลับไม่มีการพูดถึง !

หรือในเรื่องที่ผู้ประกอบการนอกลู่บางรายนำเอาใบอนุญาตที่ได้รับจากรัฐไม่ว่าจะนาโน หรือพิโก้ ไฟแนนซ์ ไปเป็น“ยันต์กันผี “กระทำการปล่อยกู้แบบมีหลักประกัน ซึ่งรัฐน่าจะมีมาตรการที่เข้มงวดจัดการกับพวกหัวเสธ.เหล่านี้ก็กลับไม่มีอะไรในกอไผ่

กม.ดีมีอยู่แล้วกลับ”มองข้าม”
ที่สำคัญ ขณะที่รัฐเองก็มีกฎหมาย พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ที่มีบทบัญญัติเข้มงวดครอบคลุมการปล่อยกู้ที่มีการเรียกหลักประกันอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ดูจะหย่อนยานขาดประสิทธิภาพ และแทบจะไร้หน่วยงานกำกับดูแลโดยตรง จนทำให้เหมือนบ้านเมืองไร้ขื่อแปนั้น สิ่งเหล่านี้ก็กลับไม่มีการพูดถึง

Logistics timeไม่แปลกใจเลยที่วันวาน ผู้บริหารกลุ่มบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรายใหญ่ของเมืองไทย และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีพฤติกรรมทำสัญญาเอาเปรียบลูกหนี้ โขกดอกเบี้ย และบังคับเรียกหลักประกันรายใหญ่สุดของเมืองไทย มีพอร์ตสินเชื่อมากว่า 80,000ล้านและมีลูกหนี้รายย่อยในเมื่อมากกว่า 1.2ล้านคนในปัจจุบัน

ล่าสุดผู้บริหารออกมาตีปี๊บ แสดงความมั่นใจว่าร่างกฎหมาย กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินใหม่ของกระทรวงการคลังจะไม่กระทบต่อสถานะของบริษัท โดยปีนี้บริษัทคาดว่า จะมียอดสินเชื่อเติบโตมากกว่า 40% และยังจะเติบโตต่อเนื่องในระดับที่เกิน 35 %ไปยันปี 63 เพราะกฎหมายใหม่ ไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 15% ตามที่ผู้ประกอบการกังวล แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการจะกำหนดในภายหลัง

แสดงให้เห็นว่าธุรกิจกลุ่มนี้ยังคงเชื่อมั่นว่าจะสามารถขูด ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม รวมทั้งเรียกรับประกันเอาจากลูกหนี้ได้เช่นเดิมต่อไป

แล้วประชาชนในระดับรากหญ้าที่คาดหวังเอาไว้มากว่าภาครัฐจะล้วงลูกลงมาขจัดเหลือบธุรกิจที่ทำนาบนหลังคนเหล่านี้จะหวังอะไรได้อีก!!!