บินไทย….กำลังเล่นอะไรกัน?

0
409

ขณะที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงลุ้นระทึกกับแผนฟื้นฟูกิจการที่นัยว่าเป็น Pilot Project กู้ชื่อให้กับคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามฟื้นฟูกิจการมากที่สุดสามารถพลิกฟื้นกลับมามีกำไรในช่วงครึ่งปีแรกของปี 59 ไปกว่า 3,078 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังนั้นยังคงต้องลุ้นระทึกอีกหลายเฮือกเพราะแค่ Q3ก็ขาดทุนไปกว่า 1,591 ล้านบาทแล้ว แนวโน้มปีหน้าและถัดๆไปจึงยังต้องลุ้นกำไร/ขาดทุนอีกหลายเฮือก

แต่ดูเหมือนว่าภารกิจในการขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการบินไทยจำเป็นต้องตั้งความหวังไปยัง”ว่าที่ดีดีคนใหม่”เสียแล้ว หลังจากนายจรัมพร โชติกเสถียร ดีดีบินไทยคนปัจจุบันครบกำหนดอายุเกษียณต้นปีหน้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการ(บอร์ด)การบินไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ที่มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีการเปิดรับสมัครตั้งแต่กลางเดือนกันยายนและครบกำหนดยื่นสมัครเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แค่เริ่มกระบวนการสรรหาว่าที่ดีดีใหม่ กลิ่นโชยทะแม่งๆ ก็เริ่มคละคุ้งฟุ้งไปทั่วลำเสียแล้ว หลังมีกระแสข่าวเล็ดรอดออกมาจากบินไทยว่า หลังจากปิดรับสมัครว่าที่ดีดีบินไทยไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพียงสองวัน คณะกรรมการสรรหาก็ได้ขอขยายเวลารับสมัครสรรหาดีดีที่ว่านี้ออกไปอีก 1 เดือน โดยไม่มีเหตุผลชัดเจน
ท่ามกลางความงวยงงจากหลายฝ่าย เหตุไฉนถึงต้องขยายระยะเวลารับสมัครว่าที่ดีดีออกไปอีก ในเมื่อมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาที่มีคุณสมบัติระดับสูงเข้ามาถึง 6 คนแล้ว อีกทั้งจะว่าไปแต่ละคนที่สมัครเข้ารับการสรรหาก็ไม่ธรรมดา มีทั้งคนในที่มีผลงาน ทั้งอดีตหัวหน้าหน่วยงานรัฐอื่นๆ และมือฉมังจากไทยเบฟ แถมยังมี Super Connection แน่นปึ๊กเสียอีก! เท่ากับตัดสินล่วงหน้าเลยว่า ไม่เอาผู้สมัครรุ่นแรกนี้ ทั้งที่ยังไม่มีการพิจารณาหรือเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์ เหมือนกระบวนการสรรหาไม่มีความหมาย และในทีจียังลือกันให้แซดว่า ขยายเวลาเพื่อรอบางคน เหมือนมีธงปักไว้

แต่ที่ทำเอาหลายฝ่ายต่างหันมาจับตาอย่างไม่กระพริบ เพราะแค่มีชื่อโผล่เข้าร่วมชิงดำ“ดีดี”บินไทยก็เจอวิชามารคู่แข่งเตะสกัดขาเป็นพัลวันเสียแล้ว ไม่รู้จะกลัวอะไรกัน เมื่อมีชื่อผู้สมัครเป็นอดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มีการใช้สื่อบางรายสร้างข่าวว่าให้เหมือนโยงกับกรณีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ที่ ป.ป.ช.ขอข้อมูลกรณี รฟม.รับผิดชอบชำระหนี้เงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแทนบริษัทในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า พร้อมระบบอุปกรณ์การเดินรถ และการจ่ายเงินล่วงหน้า 15% ของค่างานและอุปกรณ์ระบบ
นัยว่าหนังสือลับฉบับดังกล่าวถูกส่งตรงไปถึงผู้ว่าการ รฟม.ไม่ทันข้ามวัน แต่กลับมีมือดีดอดนำไปตีแผ่ในสื่อรายหนึ่งให้กระพือพาดหัวหน้า 1 ซะกระหึ่ม จนก่อให้เกิดคำถามว่า มีขบวนการคนใน ปปช.จับมือกับ “ไอ้โม่ง” ที่ไหนซุ่มดำเนินการเรื่องนี้โดยใช้สื่อรายนั้นหรือไม่ เพราะทั้งที่เป็นเพียงจดหมายขอข้อมูลเบื้องต้น ยังไม่มีการพิจารณา สอบสวน หรือตั้งเรื่องใดๆจาก ปปช.เลย แต่กลับมีหนังสือลับเรื่องนี้โผล่สื่อรายนี้อย่างครึกโครม

ความพิสดารของหนังสือลับจาก ปปช.ต่อเรื่องนี้ก็คือ ทำไมจู่ๆ ปปช.ถึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ทั้งที่สัญญาเซ็นตั้งแต่ปีมะโว้ กลางปี 2556 โน้น จนแล้วเสร็จเปิดเดินรถแล้วด้วย และจะว่าไปหาก รฟม.ประเคนเอกสารรายงานการประชุมไปตามที่ ป.ป.ช.ร้องขอมานี้ ซึ่งคงต้องว่ากันหลายสิบคันรถนั้น กว่าจะพิจารณาเอกสาร สรุปรายงานและนำเสนอบอร์ด ป.ป.ช.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาว่าจะตั้งอนุกรรมการไต่สวนหรือไม่นั้น ก็คงกินเวลาหลายปีหรือหลายสิบปีจากนี้ เพราะขั้นตอนยังอีกยาวไกล แต่เอกสารลับที่ว่านี้กลับถูกมือดีส่งออกมาตีประโคมข่าวราวกับมี “ไอ้โม่ง-Invisible Hand” หวังจะยืมมือ ป.ป.ช.เป็น Rubber stamp เพื่อผลประโยชน์บางประการของพรรคพวกตน สร้างภาระงานและปัญหา และชื่อเสียงไม่ดีให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องไม่เป็นเรื่องเช่นนี้

ที่สำคัญ ประเด็นที่ ป.ป.ช.ขอให้ รฟม.ชี้แจง ไม่รู้ ป.ป.ช.ไม่รู้จริงๆหรือ “แกล้งโง่” กันแน่

ในเมื่อปกติแล้ว กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุของภาครัฐตามระเบียบสำนักนายกฯ งานรับเหมางานก่อสร้างทางหลวง สะพาน ก่อสร้างอาคาร แม้แต่โรงพักร้าง 396 แห่งที่คณะกรรมการยังอมพะนำสอบไปไม่ถึงไหนนั้น ผู้รับเหมาที่เข้าทำสัญญากับรัฐล้วนมีการเบิกเงินงวดล่วงหน้าไม่เกิน 15% จากรัฐด้วยกันทุกโครงการนั่นแหล่ะ แม้แต่เราเองไปว่าจ้างรับเหมาต่อเติมหรือก่อสร้างบ้าน สร้างโรงงานเองก็ตาม ส่วนที่เหลือเขาจะเบิกไปตามงวดงานและความคืบหน้าโครงการกันไป เป็นระเบียบจัดซื้อจัดจ้างทั่วไปที่ทุกหน่วยงานต้องใช้แม้แต่ของ ป.ป.ช.เองก็เถอะ

แต่กรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงนี้ยังพิเศษลงไปอีก เพราะเป็นการดำเนินการตามนโยบาย PPP ของรัฐบาลที่ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในลักษณะของสัญญาแบบเบ็ดเสร็จหรือ PPP Gross cost โดยเอกชนลงทุนจัดหาระบบอุปกรณ์ให้ รฟม.ก่อน แล้ว รฟม.จะผ่อนจ่ายคืนในภายหลังภายระยะ 10 ปี และยังไม่ต้องจ่ายในระยะ 3 ปีแรกในช่วงก่อสร้าง ซึ่งแน่นอนย่อมมีค่าการเงิน เพราะรวมถึง 13 ปี กว่าเอกชนจะได้เงินคืนครบ ทั้งหมดนั้นเป็นรูปแบบที่กำหนดโดยกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ 5-6 ปีก่อน สรุปคือ ไม่มีการจ่ายล่วงหน้า แล้วยังจ่ายทีหลังด้วยซ้ำ และไม่เกี่ยวไปรับผิดชอบเงินกู้ของเอกชน แต่ไปชี้ประเด็นเหมือนเป็นความผิดหรือมิชอบ

ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินการทั้งมวล ตั้งแต่การเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เจรจาต่อรองราคาร่างสัญญา ฯลฯ ยังเป็นการดำเนินการภายใต้คณะกรรมการตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 ที่เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งเรื่องรายงานตรงไปยังกระทรวงต้นสังกัดและคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยไม่ใช่อำนาจหน้าที่โดยตรงของฝ่ายบริหาร รฟม.ด้วยซ้ำ มีหน้าที่ต้องเซ็นสัญญาหลัง ครม.อนุมัติ

แค่เริ่มต้นกระบวนการสรรหายังสาดโคลนกันได้ขนาดนี้ เห็นทีงานนี้จะไม่ธรรมดาเสียแล้ว!! ควรที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง หรือคนการบินไทยและสหภาพ จะแสวงหาและพูดความจริงว่า มีใครกำลังเล่นอะไรกันอยู่อย่างน่าเกลียด ขาดธรรมาภิบาลและความโปร่งใส เพียงเพื่อพวกพ้องตน ใครได้ประโยชน์จากเกมนี้ โดยเอาอนาคตของบริษัทเป็นเหยื่อไม่ให้มีโอกาสพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครว่าที่ดีดีคนใหม่ได้อย่างเต็มที่ มิเช่นนั้น หากระดับบนเป็นเช่นนี้ จะหวังปฏิรูปการบินไทยให้พ้นจากการเป็นแดนสนธยาได้อย่างไร