ลับ ลวง พราง พลังงานยุค คสช. (4) ปตท.สผ. ฮุบ “ขุมทรัพย์” หรือติดกับดักกันแน่!

0
1464

ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 มีมติให้ความเห็นชอบผลการประมูลขอรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลงที่ G1/61 และ G2/61 (แหล่งเอราวัณ-บงกช) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยเห็นขอบให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตแหล่งผลิตปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่ง

หลายฝ่ายตีปี๊บแสดงยินดีกับความสำเร็จอันยิ่งยวดกับการที่บริษัทพลังงานแห่งชาติของไทยปาดหน้าเค้กช่วงชิงสัมปทานแหล่งก๊าซปิโตรเลียมจากบริษัทข้ามชาติยักษ์อย่าง “เชฟร่อน” ไปได้สำเร็จ

ขณะที่กระทรวงพลังงานได้รายงานยืนยันว่า บรรลุวัตถุประสงค์ของการประมูลแปลงสัมปทานแหล่งก๊าซที่ว่านี้ ทั้งในด้านการประหยัดรายจ่ายของประเทศในการจัดหาพลังงานในราคาถูกลงกว่าเดิมกว่า 550,000 ล้านบาท อันจะส่งผลต่อต้นทุนผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 29 สตางค์ต่อหน่วย และยังได้ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 100,000 ล้านบาทตลอดระยะเวลา 10 ปี  ยังไม่รวมผลประโยชน์ของภาครัฐที่จะได้จากค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และโบนัสพิเศษจากปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรมูลค่าอีกไม่ต่ำกว่า 460,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกไม่น้อยกว่า 1.1 ล้านล้านบาท

แต่ที่ทำเอาผู้คน “กังขา” เหตุใดราคาหุ้นของ ปตท.สผ. กลับร่วงกราวรูดทั้งที่ชนะประมูลสัมปทานได้ขุมทรัพย์ในทะเลอ่าวไทยมาหยกๆ เกิดอะไรขึ้นกับข่าวดีข้างต้น ตกลงแล้วสัมปทาน 2 แหล่งก๊าซที่ได้มาคือ “ขุมทรัพย์” หรือ “กับดักแห่งวิบากกรรม” ของ ปตท.สผ. กันแน่?

พลังงานกับ “ปริศนาโมเดล PSC”

หากทุกฝ่ายจะย้อนกลับไปพิจารณานโยบายพลังงาน นับตั้งแต่รัฐบาล คสช. เข้ามาจะเห็นว่า มีหลายต่อหลายนโยบายที่ออกจะสวนกับการปฏิรูปพลังงานที่ทุกฝ่ายเพรียกหา

นับตั้งแต่การจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านพลังงาน 20 ปีที่ลงเอยด้วยรายงานที่ทำเอาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สองรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศถึงกับระส่ำ การปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และโดยเฉพาะการที่นายกฯ งัด ม.44  ปรับเปลี่ยน “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” หรือ “เรคกูเลเตอร์” ยกชุดไปก่อนหน้านี้ จากการที่ไม่สนองนโยบายภาครัฐ

และโดยเฉพาะการปรับ  “โมเดล” การประมูลสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน 2 แหล่งสำคัญที่กำลังจะหมดสัมปทานในปี 2564-65 จากระบบสัมปทาน “ไทยแลนด์4” ที่ใช้มากว่า 3 ทศวรรษ  มาสู่ระบบ “แบ่งปันผลผลิต”หรือ PSC ที่อ้างว่าทำตามข้อเรียกร้องของเครือข่าย NGO ทั้งหลาย 

แต่เมื่อมีการประกาศเงื่อนไขการประมูล ก็กลับปรากฏว่า บรรดากลุ่มเอ็นจีโอและเครือข่ายทวงคืนพลังงานทั้งหลายกลับออกมาร้องแรกแหกกระเฌอว่า “นี่ไม่ใช่ระบบ PSC ที่ทุกฝ่ายเพรียกหา!” เพราะสิ่งที่กระทรวงพลังงานโม่แป้งออกมานั้นเป็นคนละโมเดลกับเรียกร้อง แต่กระทรวงพลังงานและรัฐยังคงเดินหน้าเปิดประมูลสัมปทานเพื่อปิดดีลให้ได้ก่อนการเลือกตั้ง

ฮุบ “ขุมทรัพย์” หรือถูกลากไป “ติดกับ”

ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีการให้สัมปทานผลิตก๊าซปิโตรเลียมในลักษณะเดียวกันนั้น เมื่อสิ้นสุดสัญญารัฐบาลจะพยายามเจรจากับผู้รับสัมปทานเดิมเป็นหลักเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับภาครัฐ เ พราะเชื่อว่าบริษัทเอกชนเจ้าของสัมปทานเดิมจะล่วงรู้พื้นที่แปลงสำรวจตนเองดีที่สุด และต้องแสวงหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการ ลงทุนสำรวจขุดเจาะ

ยิ่งกับแหล่งก๊าซปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่ทุกฝ่ายรู้แก่ใจดีว่า มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมือนแหล่งก๊าซในตะวันออกกลางหรือแหล่งก๊าซอื่นๆ ของโลก เพราะเป็นกระเปาะหรือหลุมก๊าซขนาดเล็กที่ต้องขุดเชื่อมกันหลายหลุมพอให้รวบรวมก๊าซได้มากพอ จึงจะนำขึ้นมาได้ ทำให้ต้นทุนในการสำรวจขุดเจาะสูงกว่าแหล่งอื่นๆ

เมื่อกระทรวงพลังงานตั้งเงื่อนไขการประมูลสัมปทานใหม่ โดยกำหนดเงื่อนไขจะพิจารณาเกณฑ์ด้านราคาที่ต้องไม่สูงไปกว่าเดิมเป็นเกณฑ์ขี้ขาดถึง 65% และพิจาณาผลตอนแทนแก่รัฐแค่ 25% ทั้งยังกำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องรักษาระดับการผลิตก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งไม่ต่ำกว่า 700-800 ล้านลูกบาศก์ฟุต//วัน ตลอดระยะเวลา 10 ปีของสัญญา  ขณะที่การจะสำรวจขุดเจาะนั้นยังต้องทำเรื่องขออนุมัติหน่วยงานผู้มีอำนาจทุกกระเบียดนิ้ว

จุดนี้เองที่ผู้คว่ำหวอดในแวดวงพลังงานมองว่า “สุ่มเสี่ยง” เปิดโอกาสให้การเมือง หรือกลุ่มทุนพลังงานที่อยู่เบื้องหลัง “ล้วงลูก” เข้ามาสอดแทรกนโยบายจัดหาก๊าซของประเทศได้ทุกเวลา และเป็นเงื่อนไข “มัดตราสัง”ที่ทำให้ยักษ์พลังงานชาติชาติอย่าง “เชฟร่อน” ถึงกับถอดใจไม่ยอมดั๊มพ์ราคาลงไปสู้กับ ปตท.สผ. ทั้งที่เป็นเจ้าของแหล่งผลิตเดิมแท้ ๆ

เมื่อ ปตท.สผ. ชนะประมูล “กินรวบ”  2 แหล่งก๊าซที่ว่ามันจึงเป็นการต่อ “จิ๊กซอว์” ที่ผู้คว่ำหวอดในแวดวงพลังงานฟันธงว่า นี่คือ การลาก ปตท.สผ. เข้าสู่ “กับดักพลังงาน”!!!

 ยิ่งในส่วนของข้อกำหนดที่กำหนดให้ ปตท.สผ. ผู้ชนะประมูลต้องรักษาระดับการผลิตขั้นต่ำและราคาก๊าซที่ส่งมอบแก่รัฐในราคาที่ไม่สูงไปกว่าเดิม ในขณะที่ต้นทุนจัดหาภายใต้หลักเกณฑ์สัมปทานครั้งนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากเงื่อนไขราคาก๊าซดังกล่าวหาใช่ประชาชนผู้ใช้ไฟรายย่อยอย่างที่ทุกฝ่ายคาดหวัง

แต่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี  อุตสาหกรรมไฟฟ้า หรือผู้ใช้ไฟรายใหญ่เป็นหลักเสียมากกว่า!!!

จับตา “สุญญากาศ”พลังงาน      

พิจารณาในแง่ของผู้รับสัมปทานเดิม คือ “กลุ่มเชฟรอน” นั้น เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะ “ไม่ได้ไปต่อ” สัมปทานที่มีต้องสิ้นสุดลงในปี 2565 แล้ว แน่นอน! ในแง่ของนักลงทุนการจะดำเนินการลงทุนสำรวจขุดเจาะสำรวจแหล่งก๊าซใหม่ๆ บริษัทเอกชนย่อมไม่อยากลงทุนใหม่อย่างแน่นอน  

ตรงกันข้ามกับจะพยายามหาทางนำก๊าซจากแหล่งเดิมที่ใกล้สิ้นสุดสัญญาขึ้นมาใช้ให้มากที่สุด ซึ่งนั่นจะทำให้แหล่งก๊าซดังกล่าว ถูกนำมาใช้มากเกินปกติจนทำให้กลายเป็น “หลุมก๊าซตาย” ในอนาคตอันใกล้ สุดท้ายเท่ากับบีบให้ ปตท. ต้องลงทุนสำรวจขุดเจาะแหล่งก๊าซใหม่ ซึ่งต้องมีต้นทุนสูงตามมานั่นเอง

2 แหล่งก๊าซที่ ปตท.ได้มันจึงหาใช่ “ขุมทรัพย์” อย่างที่ทุกฝ่ายเข้าใจกัน ตรงกันข้าม มันกลับคือความเสี่ยงของประเทศก็ว่าได้ แต่ประเด็นที่วงการพลังงานหวั่นวิตกก็คือ สุญญากาศด้านพลังงานของประเทศที่อาจเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากกลุ่มเชฟร่อนเจ้าของแหล่งเอราวัณเดิมเร่งดูดก๊าซออกมาใช้ก่อนสิ้นสุดสัมปทานในปี 65  ขณะที่ ปตท. เองยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการขุดเจาะแหล่งก๊าซใหม่ๆ ได้จนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดนั้น

“สุญญากาศที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อ ถือเป็นความเสี่ยงสูงสุดของประเทศ อะไรจะเกิดขึ้นหากสำรองพลังงานในช่องรอยต่อเกิดขึ้น แน่นอนรัฐบาลและกระทรวงพลังงานคงต้องเร่งจัดหาก๊าซจากต่างประเทศ หรือต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศในราคาที่ “แพงอย่างไรก็ต้องยอม” เพื่อชดเชยปริมาณก๊าซที่จะหายไป”

จุดนี้แหละที่ผู้คว่ำหวอดในแวดวงพลังงานมองว่า คือแผนของกลุ่มทุนพลังงานที่ชักใยอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้นำเอาระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) มาใช้ ด้วยเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากสามารถผลักดันให้ ปตท. กินรวบ 2 แหล่งก๊าซกลางอ่าวไทยที่ว่า

เพราะบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพและใบอนุญาตนำเข้า LNG ในเวลานี้นอกจากกลุ่ม ปตท. แล้วก็คือกลุ่มทุนพลังงานรายนี้ที่กำลังรุกคืบ “กินรวบ” พลังงานของประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ (Upstream) ไปยันปลายน้ำ Down streamนั่นเอง!!!

ทุนใหญ่กินรวบพลังงาน

ที่ว่าทุนใหญ่พลังงานกำลังรุกคืบ “กินรวบ” พลังงานของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ Upstream ไปยันปลายน้ำ Down stream นั้น ก็เพราะไม่เพียงยักษ์ใหญ่พลังงานรายนี้จะ “กินรวบ” โรงไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ (IPP) ขนาด 5,000 เมกะวัตต์ ที่ถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนพลังงานของประเทศ และ กฟผ.ไปแล้ว ทั้งยังได้รับการเอื้ออาทรจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ กฟผ.ต้องจัดสร้างระบบสายส่งมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อรองรับไฟฟ้าจากเอกชนรายนี้ให้ด้วยอีก

ล่าสุด ยักษ์พลังงานรายนี้ยังจ่อจะถูกหวยจากการแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผน PDP 2018 (ปี 2561-2580) ที่กระทรวงพลังงานกำลังโม่แป้งในขั้นสุดท้ายก่อนประกาศใช้ในอีกไม่ถึงขวบเดือนจากนี้ เพราะในแผน PDP2018 ที่แม้กระทรวงพลังงานจะยืนยันให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งในรูปแบบพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ฯลฯ

แต่ภายใต้แผนดังกล่าวยังเตรียมเปิดรับซื้อไฟจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) เพิ่มขึ้นอีกถึง 20,000 เมกะวัตต์ และได้ตัดแผนจัดหาไฟฟ้าจากถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งมานับทศวรรษทิ้งไป กลายมาเป็นการผุดโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเป็นหลักแทน 

จนก่อให้เกิดคำถามแล้วที่กระทรวงพลังงาน“ปาหี่” จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมของโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ SEA ที่จะไปแล้วเสร็จเอาปลายปี 62 นั้นทำไปเพื่ออะไร?

ท่ามกลางความงุนงงของผู้คนในแวดวงพลังงานที่ต่างพากันกังขา แผน PDP -2018 ที่ผุดขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แถมยังมา “เร่งสปีด” เอาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ทั้งที่กระทรวงพลังงานฟ้อนเงี้ยวกันมาร่วม 4-5 ปีกับการจัดทำแผนนี้

มันจึงเป็นแผน PDP ที่กล่าวได้ว่า กรุยทางไปสู่การอุ้มบริษัทยักษ์พลังงานให้กินรวบพลังงานของประเทศ “บอนไซ” กิจการภาครัฐทั้ง กฟผ. และ ปตท. โดยแท้!

ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. รัฐบาลที่กำลังดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปูทางให้ “บิ๊กตู่ – พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา” กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย โดยมีกลุ่มทุนพลังงานกลุ่มนี้เป็นฟันเฟืองและ”หัวจ่าย” นายทุนหลักของพรรคนั่นเอง!!!