4 กูรูขนส่ง วิพากย์ “ทางเลือก-ทางรอด” ทรัพยากรมนุษย์ธุรกิจขนส่ง!

0
387

กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผนึกความร่วมมือสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดเวทีระดมสมองเพื่อพัฒนา “ทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจผู้ให้บริการขนส่ง” สู่เป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ยกระดับภาคธุรกิจบริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและรองรับเทรนด์การค้าการลงทุนโลกในยุค 4.0

บนเวทีสัมมนาได้ “4 กูรู”ในวงการขนส่งร่วมวิพากย์ถึงถึงปัญหาอุปสรรคธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ตลอดถึงสะท้อนมุมมองและข้อเสนอ “ทางเลือก-ทางรอด”ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมการค้าเสรีไว้อย่างน่าสนใจ

อดีตประธานสรท.ย้ำต้องก้าวทัน 3 โลกแห่งการเชื่อมโยง

ประเดิมจากคุณนพพร เทพสิทธา อดีตประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เปิดเผยว่าผู้ประกอบการไทยต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน การพัฒนาภาคขนส่งไทยต้องปฏิวัติให้ได้ทั้ง 4 ยุค โดยยุคแรกเป็นยุคสมัยที่ต้องพัฒนาการบริหารต้นทุนค่าขนส่ง ยุคแห่งการพัฒนาระบบการจัดการภายในองค์กรที่มีระบบและมีประสิทธิภาพ ยุคแห่งการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ในระบบขนส่งให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายเป็นยุคแห่งการการพัฒนาที่นำการปฏิวัติทั้ง 4 ยุคเข้ามาประกอบใช้ได้อย่างครบถ้วนและเต็มประสิทธิภาพ

“ธุรกิจบริการขนส่งปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก จำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและปฏิวัติองค์การในภาพรวม และต้องก้าวให้ทัน 3 ปัจจัยแห่งการเชื่อมโยงถึงจะอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการก้าวทันโลกแห่งการเชื่อมโยง โลกแห่งการคาดการณ์ด้วย Big Data และโลกแห่ง AI โดยใช้โลกแห่งปัญญาหลายสาขาหลอมรวมเป็นพลังไขปัญหาและอุปสรรค พร้อมสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจให้สามารถสู้กับคู่แข่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน”

ประมุขสิบล้ออาเซียน แนะสร้างอาชีพ “เถ้าแก่น้อย” ปลดล็อคคนขับขาดตลาด

ส่วนประมุขสิบล้ออาเซียนอย่างคุณยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน หรือ ATF สะท้อนมุมมองว่าว่าเมื่อเทรนด์การค้าโลกเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมไปจากเดิม ผู้ประกอบการไทยต้องปรับฐานความคิดและวิสัยทัศน์ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบการบริหารจัดการ เทคโนโลยี และบุคลากร

“การเปลี่ยนผ่านจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง ถือเป็นพลวัตรแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวและก้าวให้ทัน ปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นอีกภาคส่วนที่ต้องปฏิวัติอย่างเร่งด่วน เช่น ปัญหาคนขับรถบรรทุกที่ยังเป็นปัญหาดินพอกหางหมูมานาน ทั้งคนขับรถบรรทุกไร้ประสิทธิภาพและขาดแคลนตลาด เพื่อการแก้อย่างยั่งยืน ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาให้เขามีคุณภาพและประสิทธิภาพและก้าวทันต่อความต้องการของตลาดและทันต่อเทคโนโลยีโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผมเสนอทำอย่างไรถึงจะทำให้คนขับรถบรรทุกเป็น “เถ้าแก่น้อย”ให้ได้ นั่นหมายความว่าเป็นการสร้างความมั่นใจกับเขาว่ามีความมั่นคงในอาชีพ”

เลขาฯTTLA ชี้พัฒนาแพลตฟอร์มสู้ศึกยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ

ด้านดร.ชุมพล สายเชื้อ รองนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจอี-คอมเมิร์ช มาแรงมาก ส่งผลให้มีผู้ประกอบการขนส่งต่างๆ ทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมวงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นจำนวนมาก แต่ขนส่งต่างชาติจะได้เปรียบในเรื่องเงินทุนที่มีการเพิ่มทุนเข้ามาเป็นมูลค่ามหาศาล และกำลังจะครอบครองธุรกิจขนส่งในประเทศไทย ดังนั้น ขนส่งไทยต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดให้ได้

“เราต้องมองการพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองมาบริการลูกค้า เพราะคนที่สามารถผลิตและพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาได้จะเป็นผู้คุมอำนาจ และร่ำรวยเป็นอันดับโลก ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มอาลีบาบา (Alibaba) ที่มีการขายสินค่าผ่าระบบไอที เมื่อขายแล้วจะใช้ระบบโลจิสติกส์ใดก็ได้เพื่อขนส่งสินค้าให้ อีกกลุ่มก็คือ อูเบอร์ ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีรถขนส่งเป็นของตัวเองเลย แต่สามารถขนส่งและบริการลูกค้าได้ ดังนั้น การก้าวสู่ยุคใหม่ต้องมีการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่การพัฒนาด้านบุคลากรด้านขนส่งก็เป็นเรื่องสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามาร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคขนส่ง สถาบันการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในวงการโลจิสติกส์

ภาคการศึกษา เร่งผลิตคนโลจิสติกส์ป้อนตลาด

ปิดท้ายด้วยนายนิติ วิทยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวเสริมว่า ภาคธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในแต่ละปี สามารถเพิ่มรายได้ให้ประเทศได้คิดเป็น 14 % ของ GDP และมีแรงงานในตลาดโลจิสติกส์มากถึง 2 ล้านคน คิดเป็น 5% ของตลาดแรงงานรวม 40 ล้านคน ภาคสถาบันการศึกษาเองก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับตลาดดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน

“ปี 2561 นี้ มีสถาบันการศึกษาเปิดสาขาด้านโลจิสติกส์มากถึง 35 สถาบัน แต่ต้องยอมรับว่าการผลิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีต้องใช้เวลาการศึกษานานถึง 4 ปี เชื่อว่าภาคขนส่งก็ไม่อาจจะทนรอได้ จึงต้องมีการอบรมภาคโลจิสติกส์ระยะสั้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านโลจิสติกส์ได้บ้าง ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงมีการพัฒนาการจัดอบรมภาคโลจิสติกส์ระยะสั้นให้กับกลุ่มคนโลจิสติกส์ให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อเสริมศักยภาพและยกระดับวงการขนส่งและโลจิสติกส์ให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้”