รฟท.มั่นใจชิงดำรถไฟเชื่อม3สนามบินระอุ!

0
131

รฟท.อัพเดทเอกชนซื้อซองเพิ่มอีก 1 ราย เผยถึงวันนี้รวมผู้ซื้อซองไปแล้ว 15 ราย มั่นใจสัปดาห์สุดท้ายจะมีเอกชนซื้อซองเพิ่ม ชี้ยังไม่ครอบคลุมส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คาดจะมีเอกชนรวมตัวกันเข้ามายื่นประมูลโครงการรวม 3 – 4 กลุ่ม ยันเปิดรับซองเสนอราคา 12 พ.ย.61 ก่อนประกาศรายชื่อผู้ชนะ13 พ.ย.61 

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่าหลังรฟท.ได้เปิดขายซองประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา) จนถึงวันนี้มีเอกชนมาซื้อซองเพิ่มอีก 1 ราย คือบริษัท ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป (China Railway Group limited) รัฐวิสาหกิจสร้างทางรถไฟใหญ่ที่สุดของจีน จึงมีผู้ซื้อซองประมูลไปแล้ว 15 ราย

อย่างไรก็ดี รฟท.มั่นใจว่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายการเปิดขายซองประมูลที่จะมีไปถึงจนถึง 9 ก.ค.นี้จะได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนเข้ามาซื้อซองเพิ่มเติม ซึ่งจากการประเมินยังพบว่ารายชื่อบริษัทที่มาซื้อซองประมูลยังไม่ครอบคลุมส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องมีกลุ่มวางระบบไฟฟ้า กลุ่มบริหารจัดการหรือ Operate จึงคาดว่าเมื่อถึงเวลายื่นซองประมูลคงจะมีเอกชนรวมตัวกันเข้ามายื่นประมูลโครงการรวม 3 – 4 กลุ่ม

สำหรับรายชื่อเอกชนที่ซื้อซองรวมจำนวน 15 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 2.บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด 3.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo)

6.บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด 7.บริษัท Sinohydro Corporation Limited 8.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 9.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ 10. บริษัท ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด 11. บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น 12. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 13. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 14. บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) และ 15. บริษัท ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป

นายวรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า รฟท.มีกำหนดขายซองเอกสารจนถึง 9 ก.ค.61 และเปิดรับซองเอกสารเสนอราคาวันที่ 12 พ.ย.61 ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ชนะวันที่ 13 พ.ย.61 โดยเอกชนที่ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิ์ร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost คือยกสัมปทานให้เอกชน ทั้งการก่อสร้างและให้บริหาร รวมไปถึงธุรกิจสนับสนุนเป็นระยะเวลา 50 ปีประเมินผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจตลอดอายุโครงการ 652,152 ล้านบาท