ถนนสายสป.4010 เชื่อมริเวียร่าปากเจ้าพระยาสู่ภาคใต้ คาดแล้วเสร็จก.ย.62

0
837

ทช.เร่งก่อสร้างถนน-สะพานสายสป.4010 เชื่อมริเวียร่าปากน้ำเจ้าพระยาสู่ปากแม่น้ำโกลกในภาคใต้ ช่วยแบ่งเบาจราจรเส้นพระราม 2 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  ระยะทางประมาณ 10 กม. วงเงินลงทุนกว่า 400 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จ ก.ย.62

นายประศักดิ์ บัณฑุนาค รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างถนน-สะพานในสายทางสป.40140 เชื่อมทล.3243-เขตบางขุนเทียน-อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ว่า ขณะที่อยู่ระหว่างการเร่งก่อสร้าง โดยสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบทรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) ระยะทางประมาณ 10 กม. วงเงินลงทุนกว่า 400 ล้านบาท เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 กำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2562

“ปัจจุบันถนนเชื่อมต่อสาย 3243 ของกรมทางหลวงแล้วเสร็จเปิดให้บริการแล้ว โดยถนนและสะพานสายสป.4010 มีรูปแบบเส้นทางเป็นถนนที่มีผิวจราจร คสล. กว้าง 6 เมตรมีไหล่ทางกว้าง 1 เมตรและบางจุดไม่มีไหล่ทาง ผ่านพื้นที่ ต.นาเกลือ ต.คลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ การก่อสร้างส่วนใหญ่จะเน้นรูปแบบสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลอง 3 แห่ง คือคลองผู้เฒ่า คลองตาหนุน คลองแทน และก่อสร้างสะพานยกระดับต่อเชื่อมสะพาน 5 ช่วง.

ทั้งนี้ การก่อสร้างดังกล่าวได้มีการตอกเสาเข็ม ตอม่อ งานติดตั้งคานอัดแรง งานพื้นแบริ่งยูนิต งานกำแพงกันดินด้านติดคอสะพาน งานกำแพงกันดินด้านข้าง งานพื้นคอนกรีตทับหน้า ผลงานสามารถทำได้แล้วกว่า 71.37% จากตามแผนงานที่กำหนดไว้ 70.74% เร็วกว่าแผน 0.62%  โดยในการลงพื้นที่ดำเนินการพบว่ามีปัญหากับชุมชนแนวเส้นทางจึงได้ดำเนินการแก้ไขด้วยการเข้าเจรจาขอความอนุเคราะห์อุทิศที่ดินสาธารณประโยชน์ได้ความว่าทั้งชุมชนต้องการเข้าถึงทางหลวงโดยขอให้เปิดแนวบาริเออร์ตลอดช่วงชุมชนวัดศรีคงคารามความยาวประมาณ 200 เมตร

นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวอีกว่าวัตถุประสงค์การก่อสร้างถนนเส้นทางนี้เมื่อดูในภาพรวมเส้นทางจากป้อมพระจุลจอมเกล้า ในเขต อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ จะวิ่งด้านใต้ของถนนพระราม 2 คู่ขนานกันไปได้ ช่วยแบ่งเบาสภาพการจราจร จัดเป็นถนนสายรองใช้ได้ทั้งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพและโลจิสติกส์ขนาดเล็กเชื่อมเข้าสู่ถนนพระราม 2 ได้หลายจุดส่งผลให้การเดินทางสะดวกสบายสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วยโดยเฉพาะธุรกิจประมงที่รัฐบาลมีแผนพัฒนาโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก

“ถนนเส้นนี้จะช่วยร่นระยะการเดินทางได้อย่างมาก แม้จะไม่ยิ่งใหญ่ใช้งบระดับแสนล้านบาทแต่สามารถจ่อออกปากแม่น้ำท่าจีนและเจ้าพระยา จัดว่าเป็นเส้นทางบูมการท่องเที่ยวได้อย่างมาก จะไม่ใช้วิธีถมถนนยาวตลอดแนว แต่จะใช้วิธีตอกเสาเข็มแทน ช่วงข้ามคลองจะก่อสร้างสะพาน ชาวบ้านสามารถใช้ถนนลูกรังเดิมควบคู่กันไปได้ในหลายจุด ถนนเส้นทางนี้อยู่ในเขตพื้นที่กทม.ราว 900 เมตร โดยกว่า 4 กม.จะคาบเกี่ยวพื้นที่กทม. สมุทรปราการและ จ.สมุทรสาคร มีรูปแบบการก่อสร้าง 3 รูปแบบ ทั้งสะพานข้ามคลอง ถนนเดิมระดับดิน และตอกเสาเข็มไม่ให้ถนนทรุดตัว ช่วงที่ผ่านนากุ้ง นาเกลือจะทำสะพานลอยสูงกว่าผิวน้ำ ไม่ขวางทางน้ำให้เกิดผลกระทบต่อมลภาวะสิ่งแวดล้อม รักษาระดับน้ำจืดกับน้ำทะเลได้อย่างสมดุลกัน”