ด่าน Never Die วาระซ่อนเร้น! บังคับใช้กม.หรือ ขูดรีดปชช.?

0
408

ขึ้นชื่อว่า “ด่าน”คำนี้มีผลต่อหลากหลายอารมณ์ ความรู้สึก และความเข้าใจของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นด่านความมั่นคง ด่านยาเสพติด ด่านจับความเร็ว ด่านตรวจระดับแอลกอฮอร์ ด่านควันดำ สารพัดด่านเหล่านี้มีเรื่องเล่าและก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน อย่างที่เห็นถูกตีแผ่ในโลกข่าวสารแทบจะรายวัน   

แล้วทำไมต้องมีด่าน? ทั้งนี้ มาตรการตั้งด่านนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ด่านตรวจ หมายถึงสถานที่ทำการของตำรวจ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นจับกุมในเขตทางเดินรถโดยต้องระบุสถานที่ไว้ชัดเจนเป็นการถาวร ต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรตั้งแต่รองสารวัตรขึ้นไปเป็นหัวหน้า และถ้าจะตั้งด่านตรวจนี้จะต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. (คณะรัฐมนตรี) หรือ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร)

2.จุดตรวจ หมายถึงสถานที่ปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ เพื่อตรวจค้นจับกุมในเขตทางเดินรถเป็นการชั่วคราว โดยมีเหตุผลเท่าที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและต้องไม่เกิน24ชม. ทั้งนี้ความจำเป็นคือป้องกันปัญหาจราจรหรือความไม่ปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายว่า “หยุด” ทั้งจะต้องเป็นสถานที่เปิดเผยป้องกันความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชนคำนึงถึงสภาพจราจรความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นสำคัญ

3.จุดสกัด หมายถึงสถานที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อตรวจค้นจับกุมในเขตทางเดินรถเป็นการชั่วคราว, โดยมีระยะเวลาเท่าที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งแต่ต้องไม่เกิน24ชั่วโมง เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วต้องยุบเลิกจุดตรวจทันที

ว่ากันว่านอกเหนือจาก 3 นี้แล้วเป็น “ด่านลอย”ที่สร้างความความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชนส่วนใหญ่ที่พบเห็นตามท้องถนนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแอบซุ่มจับตามเสาไฟฟ้า หลบอยู่ตามพุ่มไม้ สร้างความเดือดร้อนและสังคมพากันต้องข้อสงสัยเจ้าหน้าที่นั้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่?

แม้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกาศคำสั่งให้ “ยกเลิกการตั้งด่านลอย” ทุกชนิดทั่วประเทศ หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก หากประชาชนพบเห็นมีการตั้งด่านลอยให้ถ่ายภาพนิ่ง หรือ คลิปวิดิโอ ส่งเข้ามาช่องทาง เฟซบุ๊ค, ทวิตเตอร์ ชื่อ“รายงานสภาพการจราจร ตร. และ“โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” รวมถึงสามารถโทรศัพท์มาร้องเรียนได้ที่หมายเลข 1197

ทางกลับกันด่านลอยก็มิวายหายไปจากวงจรด่านตรวจได้ ยังวนเวียนเที่ยวหลอกหลอนประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนอยู่ร่ำไป ซ้ำร้ายด่านตรวจต่างๆก็สุดท้ายแล้วเจ้าหน้าที่รัฐตั้งด่านเพื่อบังคับใช้กฎหมายจริงหรือ? หรือมีวาระซ่อนเร้นเรียกสินบนหรือรางวัลนำจับไม่ต่างอะไรกับการ “ขูดรีดประชาชน” ดีๆนี่เอง

Logistics Timeขอใช้พิ้นที่นี้สะท้อนมุมมองปมปัญหาดังกล่าวผ่านเวทีเสวนาหัวข้อ“ตำรวจตั้งด่านตรวจค้น ละเมิดเสรีภาพประชาชน รถชนเจ็บตาย ใครรับผิดชอบ?” ที่จัดขึ้นเมื่อ 24 ธ.ค.62 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนร่วมเวทีเสวนาดังกล่าวหลากความคิดเห็น

แนะยกเลิกรางวัลนำจับ

ประเดิมด้วยประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย “อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง”ตัวแทนภาคเอกชนผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งด่าน สะท้อนมุมมองว่าการที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ตั้งด่านที่ทางลงของสะพาน หรือตั้งกรวยให้เป็นคอขวดแล้วเกิดอุบัติเหตุ บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกรถชนตายก็มี เราในฐานะผู้ประกอบการขนส่งมีมีรถหลายร้อยคันหัวลากคันหนึ่งราคาเกือบ 4 ล้านลงทุนเป็นพันล้าน เวลาเราเจอใบสั่งหาว่า GPS มีปัญหาปรับเรา 5 หมื่นบาททั้งที่บางกรณีเกิดจากความไม่เสถียรระบบ GPS แล้วเราจะไปเรียกร้องความชอบธรรมจากใคร

“ขณะผู้ประกอบการรถทัวร์รับนักท่องเที่ยวก็พากันบ่นว่านักท่องเที่ยวเคยถามคนจัดทัวร์ทำไมรถทัวร์เขาจอดบ่อยเสียเวลาการเดินทางมาก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาตั้งด่านเพิ่มความติดขัด ทำให้การจราจรติดขัดไปหมด  เวลาเราจะขอดูใบอนุญาตในการตั้งด่านก็จะถูกข่มขู่  ถ้าท่านคิดอยากจะตั้งด่าน ก็ต้องตั้งอย่างถูกต้องอันที่จริง ต้นเรื่องรางวัลนำจับผมเองเป็นคนสร้างขึ้นมา เพราะเห็นความลำบากของตำรวจในอดีตจะได้ไม่ต้องรับส่วย แต่ตอนนี้เห็นว่ารางวัลนำจับเป็นที่มาของการตั้งด่านอย่างไม่มีเหตุผล ควรจะยกเลิกเสียดีกว่า”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ขณะที่ดร.ทองอยู่  คงขันธ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวสำทับว่าผมเคยเสนอให้ลดส่วนแบ่งรางวัลนำจับลง เพราะเป็นที่มาของการทำงานไม่สุจริตเจ้าหน้าที่ตำรวจมีเงินเดือนอยู่แล้ว จะได้เงินสองเด้งสามเด้งได้อย่างไร ถ้ายกเลิกไม่ได้ก็ลดลงแล้วเอาเงินไปซ่อมถนน ลดอุบัติเหตุ เป็นกองทุนพัฒนาช่วยเหลือประชาชนดีกว่า ประชาชนเห็นและสัมผัสได้ถึงค่าปรับที่เขาจ่ายไปมันเกิดเป็นรูปธรรม

“พรบ. จราจร 2562 บางเรื่องสร้างภาระให้ประชาชน ขอให้ยกเลิกด่านทั้งหมด แล้วใช้ระบบตั้งกล้องใช้เทคโนโลยีให้เป็น Thailand 4.0 ส่วนการตั้งกล้องถาวรต้องตรวจดูว่ามันถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ตร.ต้องปฏิรูปองค์กรและยกระดับภาพลักษณ์ให้มันดีกว่านี้ยุคนี้สมัยเทคโนโลยีมันไปไกลมากแล้ว ภาคสังคมก็ลงมาตีแผ่พฤติกรรมเจ้าหน้าที่รัฐหนักมากขึ้นผ่านสังคมโซเชียลอย่างหนักกรณีการตั้งด่าน หากยังย่ำอยู่กับที่แล้วล่ะก็ไม่เช่นนั้นท่านจะอยู่ในสังคมโซเชียลยากมากขึ้น

อดีตนายตำรวจ ซัดตั้งด่านบนทางหลวงใช้อำนาจอะไร?

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตนายตำรวจ แต่สะท้อนมุมมองในฐานะเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยว่าเราคุยปัญหาเรื่องการตั้งด่านกันหลายรอบแต่ไม่มีการแก้ปัญหา เพราะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจไม่เข้าใจและไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎร มีกรรมาธิการต่างๆ เช่นคมนาคม ตำรวจ กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่จะพูดกัน

“การที่ตำรวจตั้งด่านนำสิ่งกีดขวางต่างๆมาวางบนถนนบีบช่องทางเดินรถให้แคบลง เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? มีการนำแผงเหล็กกรวยยางหรือป้ายไฟมาตั้งหลายรูปแบบแม้กระทั่งสลับฟันปลาแบบยุทธวิธี เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตก็ไม่มีใครรับผิดชอบตำรวจแยกย้ายกันหลบหนีอย่างรวดเร็ว”

พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวอีกว่า พรบ.ทางหลวงมาตรา 38 และ 39 ห้ามผู้ใดตั้งวางสิ่งกีดขวางหรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เกิดความไม่สะดวกต่อการใช้ทาง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสัญจรสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย  ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้กระทำได้  ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกถึงสองปี ไทยเป็นประเทศเดียวที่ตั้งด่านกันมากมายขนาดนี้ ตามกฎหมายตำรวจจะเรียกรถคันใดให้หยุดได้ จะต้องพบความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก่อน  หรือมี “เหตุอันควรสงสัย” ว่ามีสิ่งผิดกฎหมายเท่านั้นไม่ใช่อ้างว่ามีอำนาจหน้าที่เต็ม

“มีคนถามว่าประเทศไทยมีด่านมากเท่าใดก็ขอบอกว่าหนึ่งโรงพักอย่างน้อย 1 ด่าน ประเทศไทยมี 1,460 โรงพักก็มี 1,460 ด่าน ตั้งกันยันทางไปนา การตั้งด่านแล้วเกิดอุบัติเหตุยังไม่เคยมีคดีไปถึงศาลฎีกา คนเลยไม่แน่ใจว่าชอบหรือไม่ชอบ ระหว่างตำรวจกับคนขับรถ ใครต้องชดใช้ส่วนเรื่องรางวัลค่าปรับ เป็นประโยชน์ทับซ้อน ปรับมากได้มาก แล้วเขาจะปรับในอัตราต่ำและเป็นธรรมตามพฤติการณ์ได้อย่างไร”

พ.ต.อ.วิรุตม์ย้ำว่ารางวัลนำจับในการทำงานราชการมีสำหรับบางความผิดที่จับยาก เช่นศุลกากร เมื่อการทำแค่ตั้งกล้องถ่ายภาพและเรียกไปปรับเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่บอกจะยกเลิกๆก็ได้แต่พูดเท่านั้น ตำรวจผู้ใหญ่ไม่ต้องการทำจริง ตำรวจระดับล่างได้เงินไม่มาก แต่ทำยอดให้เจ้านายรวย การตั้งด่านแล้วขึ้นไปค้นรถสิบล้อโดยพละการ ส่องหายาแล้วเจอ 1 เม็ดถ้าทำเช่นนี้ทุกคันประชาชนจะเดือดร้อนแค่ไหน แต่ละคันแต่ละคนต้องเสียเวลามากมายซ้ำไม่ใช่ยาเสพติดของตัวเองอีกด้วย

“ปัจจุบันยังมีการจำหน่าย “ส่วยสติ๊กเกอร์” มีการส่งไลน์แจ้งด้านชั่งเคลื่อนที่ของกรมทางหลวง แต่ละวันจะไปไหนให้หลีกเลี่ยงเส้นทางรอง การปฏิบัติงานของทางหลวงแจ้งให้ตำรวจรู้ไม่ได้ ช่วงเทศกาล 7 วันอันตราย (อันที่จริงอันตรายทุกวัน) เราใช้งบประมาณมหาศาลในการตั้งด่านทั่วประเทศสู้เอางบในส่วนี้ไปทำป้ายบอกทาง เครื่องหมายบนผิวทางก็จะลดอุบัติเหตุได้มากกว่าเยอะโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ซึ่งเสียหลักง่ายเมื่อสภาพถนนมีปัญหาเป็นคลื่นหรือแม้กระทั่งหลุมบ่อจะเกิดประโยชน์มากกว่า”

“พ่อใหญ่เกรียงไกร”ซัดตร.ยึดถนนเป็นสำนักงานตั้งด่าน 30 วัน/เดือน

นายเกรียงไกร ไทยอ่อน ประธานเครือข่ายประชาชนคัดค้านการตั้งด่านฯ หรือที่โด่งดังโลกโซเชียล “นักรบด่านเถื่อน”ตัวแทนภาคประชาชนที่กล้าดีเดือดลงพื้นที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ตำรวจตามด่านๆต่างๆ กล่าวว่า เมื่อเจ้าของพื้นที่คือกรมทางหลวงไม่ใส่ใจการตั้งด่านบางครั้งไม่มีการบอกกล่าวไม่มีป้ายแจ้งเตือน   ส่วนกรมการขนส่งทางบกมอบอำนาจให้ตำรวจทำหน้าที่แล้วทำผิด พรบ.ขนส่งทางบก มาตรา 140  ,141 และ 142  เมื่อตั้งด่านแล้วก็ไม่เก็บอุปกรณ์ มันผิดมาตรา 37 และ 39 ชาวบ้านร้องเรียนกันมามากมาย วิ่งมาด้วยความเร็วแล้วจะให้ชะลอกะทันหันมันเป็นไปไม่ได้

“ตอนนี้ตำรวจยึดถนนเป็นสำนักงานตั้งด่านกันทั้ง 30 วัน พวกเรานักรบด่านเถื่อนต้องสู้กับเรื่องแบบนี้ อันที่จริงปัญหาหลักในประเทศไทยมันคือเราพูดความจริงกันไม่ได้  นักรบด่านเถื่อนเรามีงานทำแต่ต้องมาอาสาทำงานนี้เพราะเห็นปัญหาความเดือดร้อนประชาชน แต่ประชาชนไม่กล้ากับตำรวจ และถ้ายิ่งให้เกียรติตำรวจก็จะยิ่งโดนตำรวจหาเรื่อง”

ประธานเครือข่ายประชาชนคัดค้านการตั้งด่านฯย้ำอีกว่า เวลาเราพูดกับเจ้าหน้าที่ในด่านบางครั้งดูเหมือนเจ้าหน้าที่ไม่รู้กฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตั้งจุดสกัด เอากรวย เอา barrier ไปตั้งมากมายหลายจุด วางไว้เป็นปี รถต้องหยุดทำให้ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ แล้วเหลือถนนให้เลนเดียว แต่เมื่อได้ลงไปทุกด่านจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำผิดทุกด่าน บางครั้งเรา live สด ถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นด่านอะไร เราได้คำตอบไม่เหมือนกัน บางทีถูกข่มขู่ หรือไม่ก็ถูกฟ้องขึ้นโรงขึ้นศาลก็มี แต่พวกผมไม่กลัวพร้อมจะสู้ทุกคดีเพื่อเรียกร้องความชอบธรรมแม้จะเสียค่าใช้จ่ายก็ตาม

ตัวแทนทางหลวง-ขนส่งฯใบ้รับประทาน

ฟากตัวแทนจากกรมทางหลวง นายทรงฤทธิ์  ชยานันท์รองผู้อำนวยการสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง กล่าวว่าหลังได้ฟังแล้วทราบความจริงหลายอย่างรับปากจะรวบรวมข้อปัญหาแล้วนำรายงานอธิบดีกรมทางหลวงให้รับทราบ จะไม่นิ่งนอนใจ ขอชี้แจงฝ่ายรัฐเราพยายามจะช่วยให้ประชาชนมีความปลอดภัย  เห็นว่าวิธีการปฏิบัติ การวางกรวย การกั้น การจับ บนทางหลวง มันมีผลกระทบต่อถนนที่กรมทางหลวงรับผิดชอบมีความยาวมากกว่า 5 หมื่นกม.กรมทางหลวงชนบทมีมากกว่า 3 เท่า เราจะกลับไปตรวจสอบข้อเท็จอีกทีเรื่องขั้นตอนปฏิบัติให้ชัดเจนอีกที เพราะการตั้งด่านแบบนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนมาก

“ปัจจุบันเราพยายามใช้วิธีใช้เครื่องมือตรวจสอบความเร็วแทนการตั้งด่าน การให้การศึกษากับประชาชน การช่วยเหลือฉุกเฉิน การประชาสัมพันธ์เราก็ทำอยู่ หากมองการแยกประเภทของถนนจะต่างจากของต่างประเทศ ทางมหาดไทยเองก็พยายามสกัดรถที่คนขับเมาแล้วขับไม่ให้ออกสู่ถนน มันเป็นส่วนหนึ่งของที่มาของการตั้งด่าน เราต้องมาดูกันว่าด่านต้องเป็นอย่างไร มีความถี่การตั้งอย่างไร ถ้าเป็นพื้นที่ของกรมทางหลวง ในใบอนุญาตต้องระบุชื่อ และต้องดูว่า1ใบใช้ได้หลายครั้งหรือไม่ ส่วนการตั้งด่านต้องขออนุญาตหรือไม่นั้นต้องขอตรวจสอบอีกที และจะนัดแนะการพบปะกันเพื่อพบอธิบดีฯภายหลัง”

ส่วนนายภพ ไตรยสุนันท์ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่าปกติเราปราบปรามคนกระทำผิดมันทำไปตามกฎหมายและนโยบาย ล่าสุดมีประเด็นต้นตอฝุ่น PM 2.5 จึงต้องเข้มงวดตรวจจับในเรื่องรถกับคน ซึ่งทำตามหลักการจะตั้งโดยพลการไม่ได้ เราจะมี scout คัดกรองก่อนเมื่อตรวจพบเบื้องต้นก็จะส่งวิทยุให้สกัด เราจะแจ้งข้อกล่าวหาซึ่งก็เป็นการปรับไม่ได้เดินรอบรถแล้วสร้างปัญหา

“ส่วนพรบ.ที่เกี่ยวข้อคือ พรบ.รถยนต์ พรบ. ขนส่งทางบก และในอำนาจบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจราจรทางบกที่พูดถึงผู้ตรวจการที่ได้รับการแต่งตั้งจาก รมต. คมนาคมในทางหลักการ ที่มาของการออกหนังสือเชื่อว่าเรามีอำนาจจริง แต่เจ้าหน้าที่ของเรามีน้อย แต่ทางกรมฯทำหน้าที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเปรียบเทียบปรับของนายทะเบียน แล้วเอาเงินที่ได้จากการปรับไปแบ่งนั้นมันมีระเบียบ แล้วกรมฯไม่ได้ปรับสูงมากและก็ต้องคำนึงถึงสังคมด้วย บางครั้งกระแสสังคมมองว่าเราปรับน้อย เราไม่ได้ต้องการให้เขาล้มละลาย ต้องการลงโทษเท่านั้น”

นายภพย้ำอีกว่าในการตรวจควันดำซึ่งมองว่ารถมันตรวจสภาพประจำปีอยู่แล้ว ควรต้องตรวจสองรอบต่อปี  ต้องบอกว่าเป็นการดำเนินการตามนโยบาย บางครั้งรถที่ตรวจไปแล้วก็ต้องตรวจอีกเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีผลกระทบต่อส่วนรวม และมีรถที่ไปจัดการมา ไปดัดแปลงแก้ไขสภาพ ที่ยังทำให้มีควันดำอีก ปัจจุบันเราใช้เทคโนโลยีที่ตรวจสอบได้แม่นยำมากขึ้น

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจกับนานาข้อกังขาในตั้งด่านจะถูกกระทุ้งหนักหน่วงทุกสารทิศก็ตาม ตราบใดที่สตช.ไม่ได้ถูกปฏิรูป การบังคับใช้กม.ไร้ประสิทธิภาพ กม.ล้าหลัง มีผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่ภาคประชาชนในฐานะผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายยังอ่อนแอและไร้เดียงสาต่อการบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบด่าน ส่วย สินบน จะหมดไปจากสังคมไทยหรือไม่?

ตราบนั้น ด่าน ส่วย สินบน… จะไม่มีวันหมดไปจากสังคมไทยยังไม่มีวันตาย และยังเป็นวาระซ่อนเร้นและถูกสืบทอดวังวนอุบาทว์จากรุ่นสู่รุ่นหลอกหลานประชาชนคนไทยไปอีกนาน!