คลี่มาตรการ “วัวหายล้อมคอก”จากอุบัติเหตุเรือโดยสาร…ถึงล้างบางรถตู้โดยสาร

0
318

ขณะที่กระทรวงคมนาคมกำลังเดินหน้าหามาตรการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะภายหลังเกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรม ตู้โดยสารสาธารณะสายกรุงเทพฯ – จันทบุรี  พุ่งชนเสยประสานงานรถปิกอัพทำให้มีผู้เสียชีวิต  25 ศพ   ที่บ้านบึง  จ.ระยอง  เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560  ช่วงเทศกาลปีใหม่  จนทำให้ นายกฯตู่ ประยุทธ์  จันทร์โอชา ออกโรงสั่งการ “ล้างบางรถตู้โดยสาร”   

เป็นเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆงัดมาตรการ “ล้อมคอก”  กันชุดใหญ่  กระทรวงคมนาคม  คิดกันถึงขั้นเล็งชง  ม.44 เสนอนายกฯ “ เลิกรถตู้โดยสาร” แล้วหันไปเอารถขนส่งขนาดเล็กหรือไมโครบัสขนาด 20 ที่นั่ง มาใช้แทน  นายพิชิต อัคราทิพย์  รมช.คมนาคม สั่งการให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันเร่งรัดระบบติดตามผ่านดาวเทียมหรือ “ GPS ” ให้เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม นี้

แต่อย่างไรก็ตาม  ก่อนที่กระทรวงคมนาคมจะออกมาตรการ”ล้อมคอก”หวังฟื้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารรถสาธารณะ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงฝุ่นตลบจนถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาล “เกาไม่ถูกที่ดัน” หรือไม่  หากลองหันไปดูปฏิบัติการล้อกคอก ที่ผ่านมา   ในช่วงต้นปี 2559 เกิดเหตุการณ์เรือโดยสาร คลองแสนแสบ  ที่มีบริษัท ครอบครัวขนส่ง 2002 จำกัด ผู้ให้บริการเรือโดยสารดังกล่าว เกิดระเบิดบริเวณท่าเรือวัดเทพลีลา เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 67 ราย สาหัส 2 ราย

สาเหตุเรือระเบิดจากการตรวจสอบพบว่า เรือลำเกิดเหตุได้ติดตั้งระบบแก๊ส  LNG (แก๊สธรรมชาติเหลว)  ติดตั้งมานานกว่า 8 ปี    หลังเกิดเหตุระเบิดขึ้นจนนำไปสู่ปฏิบัติการ “ล้อกคอก ”  อุบัติทางเรือโดยสารคลองแสนแสบ   โดยยกเลิกใช้แก๊ส LNG ตามที่กรมเจ้าท่าได้สั่งการให้ถอดจากระบบแก๊สออกจากเรือทั้งหมดเป็นดีเซล

ถัดมาเกิดเหตุการณ์อุบัติทางเรือโดยสารเกิดเหตุเรือโดยสารล่มที่ ท่าเรือวัดสนามไชย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเดือนกันยายน   2559    ซึ่งอุบัติครั้งนั้นเป็นอุบัติครั้งใหญ่ทีเดียว   ทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตถึง   28 ศพ  และบาดเจ็บอีกนับสิบราย

เรื่องอุบัติเรือโดยสารจวบจนถึงวันนี้ จากอุบัติเหตุเรือโดยสารระเบิด เรือล่ม จนถึงล้างบางรถตู้โดยสารสาธารณะ   หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักในมาตรปลอดภัยต่อชีวิต   ความปลอดภัยผู้โดยสารที่สำคัญที่สุด   เหตุการณ์เรือล่มเป็นเหตุการณ์เศร้าสลด สูญเสียชีวิตที่ไม่มีอะไรจะมาทดแทนได้  และยังกระทบถึงธุรกิจท่องเที่ยว  อันเป็นเครื่องยนต์กลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

 ย้อนเหตุเรือล่ม ท่าวัดสนามไชย  จ.พระนครศรีฯ             

หากย้อนรอยเหตุการณ์อุบัติครั้งใหญ่ เรือล่ม จ.พระนครศรีอยุธยา  เกิดเหตุการณ์เศร้าลลด เมื่อเดือนกันยายน 2559    เรือโดยสารบริษัทสมบัติมงตล (ทับทิม) จำกัด  ขับแซงเรือบรรทุกทรายเสียหลักบังคับเรือไม่อยู่ พุ่งชนแท่นปูน สันเชื่อนพนังกั้นน้ำ หน้าวัดสนามไชย ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธา จนท้องเรือแตกน้ำทะลักเข้าเรือจม ทำให้มีผู้ชีวิต 28 ศพ   และบาดเจ็บนับสิบราย

ขณะนั้นกระทรวงคมนาคม   โดยกรมเจ้าท่าได้เซ็นคำสั่งย้าย นางหทัยกาญจน์ เพ็ญกุล นักวิชการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานนทบุรีไปช่วยปฏิบิตราชการที่สำมาตรฐานทะเบียนเรือ  เพราะจากการตรวจสอบเรือโดยสารลำที่ล่มพบว่า  เรือลำดังกล่าวไม่มีการจัดทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนด    แต่นางหทัยกาญจน์กลับลงนามต่ออายุใบอนุญาตให้เรือลำดังกล่าว     รวมทั้ง กรมเจ้าท่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น  อีกทั้งได้ออกมาตรการคุมเข้มท่าเรือ โดยสั่งการให้เจ้าท่าจังหวัดทั่วประเทศ เร่งสำรวจท่าเรือและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำน้ำ เพื่อทำการรื้อถอน เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดินเรือ  แต่หากยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ จะให้เจ้าของพื้นที่ติดต่อขอใบอนุญาต และเสียค่าธรรมเนียมในอัตราตารางเมตรละ 1,000 บาท
นอกจากนี้  ยังทำการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ ให้มีโทษรุนแรงขึ้น เช่น จากเดิมโทษปรับหนึ่งหมื่นบาท  เป็นปรับหลักแสนบาทขึ้นไป   ทั้งนี้ได้ส่งแนวทางการแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว คาดว่าไม่เกิน 1 ปี   และยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบอุปกรณ์ชูชีพ และเรือโดยสารทุกลำ  และยังเข้มงวดการต่อใบอนุญาตเรือโดยสารให้รัดกุมมากขึ้น และจะติดตั้งเครื่องติดตามเรือโดยสารตลอด 24 ชั่วโมง ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมปี 2560

 

กรมเจ้าท่ารับ “ขาดแคลนบุคลากร”

ล่าสุดถึงวันนี้ กรมเจ้าท่าในฐานะเจ้าภาพหลักทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำดำเนินการอย่างไรบ้าง   นายศรศักดิ์  แสนสมบัติ  อธิบดีกรมเจ้าท่า  เปิดเผยว่า  นโยบายการป้องกันความปลอดภัยทางน้ำ ซึ่งกรมให้ความสำคัญครอบคลุม ทั้งคนขับเรือโดยสาร  เด็กประจำเรือ และเจ้าของหรือผู้ประกอบการเรือ โดยกรมเจ้าท่าจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องความปลอดระบบการขนส่งทางเรือ

“ เราทำการปรับเปลี่ยนการอบรมจากเดิมปีละ 1 ครั้งเป็น 4 ครั้งต่อปี    รวมถึง  ยังปรับปรุงกฎระเบียบการเดินเรือให้ความรู้เรื่องการเดินเรือตามมาตรฐานสากล   สำหรับตัวเรือโดยสารก็ต้องมีเสื้อชูชีพประจำเรือ  ผู้โดยสารเองต้องใส่เสื้อชูชีพก่อนออกเรือเสมอ  อย่างเรือด่วนเจ้าพระยา  เรือคลองแสนแสบ  ผู้โดยสารทุกคนต้องใส่เสื้อชูชีพทุกครั้ง  ตลอดจนการปรับปรุงบริเวณขึ้น-ลง เรือเสื้อชูชีพประจำเรือก็ต้องมีแบรนด์ของกรมเจ้าท่าที่แสดงมาตรฐานของความปลอดภัย”

นอกจากนี้ กรมเจ้ายังบังคับให้เรือโดยสารต้องวิทยุแสดงพิกัดเรือ(GPS)  ซึ่งสอดรับตามนโยบายรัฐบาล   ขณะเดียวกัน กรมเจ้าท่าของบประมาณจากรัฐบาล  เพื่อเปิดรับบุคลากรเพิ่มเติมเพราะขาดแคลนเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมเรือ   ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ของรัฐทำหน้าที่เป็นฝ่ายเฝ้าระวังควบคุมเรือ ณ ศูนย์ควบคุมเรือประจำภาคพื้นดิน  ดังนั้น ภายหลังเกิดเหตุกรณีเรือล่มที่ท่าสนามไชยจ.พระนครศรีอยุธยา   2559 เป็นต้นไป  กรมเจ้าท่ายังเดินหน้าพัฒนาเรื่องความปลอดภัยทางเรือ สร้างความตระหนักการป้องกันรักษาความปลอดภัย

“ แต่ว่าการดำเนินการพัฒนาความปลอดภัยขณะนี้ประสบยอมรับว่า ประสบกับปัญหากำลังขาดแคลนบุคลากรภาครัฐทำหน้าที่ควบคุมเรืออีกจำนวนเยอะมาก   การทำหน้าที่ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่มีจำกัด   แต่ต้องคอยปฏิบัติหน้าที่ตลอด 7 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีเวลาพักผ่อนหรือมีน้อยแต่น้อยมาก  ”

 ตีกรอบคุมเข้มเรือโดยสารแหกกฎ

 รวมทั้ง  กรมเจ้าท่าเปิดโอกาสให้แจ้งข่าวสาร  เพราะลำพังเจ้าหน้าที่รัฐคงไม่อาจตรวจตราได้ทั่วถึงทั้งหมด   แต่ต้องอาศัยประชาชน ผู้โดยสารกรุณาช่วยแจ้งข่าวสารให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  หากพบเห็นการปฏิบัติการใดๆที่ไม่ถูกรีบแจ้งข่าวสารไปที่สายด่วน 1199  กรมเจ้าท่า ตลอด 24  ชั่วโมง  เพื่อการช่วยเหลือร่วมมือกันเท่ากันช่วยป้องกันรักษาความปลอดภัยอีกทางหนึ่ง

เมื่อถามถึงผลงานมีกระแสตอบรับอย่างไรบ้าง   นายศรศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ควบคุมเรือก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี  แต่ยังมีผู้โดยสารบางคนยังไม่ใส่เสื้อชูชีพ   หรือแม้ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่ควบคุมเรือก็ตาม แต่อยากให้ผู้โดยสารทุกคนปฏิบัติตาม  เรื่องนี้ประชาชนพบเห็น ก็แจ้งเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าได้   ขณะที่ปัญหาการบรรทุกเกินนั้นเราใช้วิธีตีเส้นให้ผู้โดยสารยืน   ถ้าไม่มีที่ยืนแสดงว่า  ผู้โดยสารคนนั้นเกินแล้ว  อย่างไรก็ตาม  กรมเจ้าท่าขอความร่วมมือผู้ประกอบการเรือช่วยเข้มงวดกวดขันไม่ให้เรือทำการบรรทุกน้ำหนักเกิน

“ ทุกวันนี้การเดินเรือยังมีปัญหาดังกล่าวข้างต้น    แต่หลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่จ.พระนครศรีอยุธยาก็ยังไม่มีอุบัติเสียชีวิตอีก   แต่ประการสำคัญการออกเรือไปจุดไหนก็ตาม ทุกครั้งควรต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการเดินเรือรับทราบ   เพราะหากเกิดเหตุการณ์สุดท้ายวิสัยก็จะได้ช่วยเหลือกันทันท่วงที ”

สำหรับ  Logistics Time  จากการตรวจสอบ จากผู้โดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาล่าสุด วันนี้พบว่า    คนขับเรือ ผู้ประกอบการเรือ มีการปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติกฎเกณฑ์เรื่องความปลอดภัยขนส่งทางเรือ  ทุกวันนี้พบเห็นว่ามีกระทำการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์  โดยปล่อยให้บรรทุกผู้โดยสารเกินพิกัด    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนมักจะทำการบรรทุกเกินกว่ากฎหมายกำหนด     ดังนั้น กรมเจ้าท่าควรบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ให้มากกว่านี้  มิเช่นนั้น อาจจะเกิดเหตุโศกนาฎกรรมเข้าอีกจนได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ถึงเวลานี้  กระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาจริงกับปฏิบัติการ “ล้อมคอก “ ป้องกันอุบัติเหตุเรือโดยสารสาธารณะสร้างความเชื่อปลอดภัยกับผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ก่อนก้าวไปสู่การ “ล้างบาง” รถตู้โดยสารสาธารณะ แก้ปัญหาขนสงทางเรือให้ได้ก่อนเถิด….!