แตกหัก!!! ตันจงฯฟ้องกลับ MFTBC ร้อง“ขอเงินคืน-เรียกค่าชดเชย” แฉยึดแบรนด์คืน “ไร้ธรรมาภิบาล”

0
962

นับตั้งแต่ตันจงฯกรุ๊ป กลุ่มธุรกิจยานยนต์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย ได้เซ็นสัญญาเป็นผู้จำหน่ายรถบรรทุกฟูโซ่ในประเทศไทยภายใต้บจก.ฟูโซ่ ทรัค (ประเทศไทย) กับบจก.มิตซูบิชิ ฟูโซ่ ทรัค แอนด์ บัส คอร์เปอร์เรชั่น ( MFTBC) ประเทศญี่ปุ่น บริษัทลูกของเดมเลอร์ กรุ๊ป ประเทศเยอรมัน โดยตันจงฯ กรุ๊ปได้ทุ่มทุนมหาศาลขยายธุรกิจ ทั้งจัดตั้งโรงงานประกอบรถภายใต้บจก.ตันจง แอสเซมบลีย์ แมนนูแฟคเจอริ่งหรือ TCAM จัดตั้งบจก.ซีโร่ พาวเวอร์เทรน เพื่อรองรับการประกอบชิ้นส่วน รุกคืบเติมเต็มศักยภาพขององค์กรด้วยการเพิ่มกำลังคน และปูพรมขยายดีลเลอร์ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศมากกว่า 20 แห่ง หวังปั้นแบรนด์ฟูโซ่ให้เติบโตพร้อมพุ่งทะยานชนความสำเร็จในประเทศไทย

ตลอดระยะ 5-6 ปีที่ฟูโซ่ทรัคประเทศไทยขับเคลื่อนแบรนด์ฟูโซ่เข้าสู่สมรภูมิรถใหญ่เมืองไทย ส่งผลให้ยอดขายรถบรรทุกฟูโซ่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปีทำสถิติสูงสุด 250 คันต่อเดือน สร้างปรากฎการณ์เป็นเจ้าตลาด“รถบรรทุกดัมพ์”ขนาดแรงม้าไม่เกิน 300 แรงม้า โดยครองสัดส่วนตลาดในเซกเม้นต์นี้มากกว่า 60 % และเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ทั้งปีจากไม่ถึง 2 % ทะยานสูงถึง 7% มีรถบรรทุกฟูโซ่โลดแล่นบนท้องถนนเมืองไทยแล้วเกือบหมื่นคัน และที่สำคัญผู้ประกอบการขนส่งไทยมั่นใจในสินค้าและบริการหลังการขายมากขึ้นทุกขณะ

แต่ฉับพลันสิ้นสุดสัญญา ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 รุ่งอรุณวันที่ 1 เม.ย. MFTBC ก็ได้ฤกษ์ตีปี๊ปปฏิบัติการยึดแบรนด์คืน ประเดิมด้วยการไม่ยอมต่อสัญญาพร้อมกับดึงตันจงฯเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทันที โดยฟ้องศาลห้ามตันจงฯใช้“เครื่องหมายการค้า –องค์ความรู้เทคนิค หรือโนฮาวต่างๆ”ที่จะนำไปสู่การบริการลูกค้า ตัดการสั่งอะไหล่ทุกชนิด ซ้ำร้ายยังดอดตีท้ายครัวด้วยการเซ็นสัญญากับ 9 ดีลเลอร์ชั้นแนวหน้าที่ฟูโซ่ทรัคประเทศไทยบรรจงสร้างมากับมือ ภายใต้เงื่อนไข“Service&Spare Parts”ประหนึ่งว่าเป็นผู้สืบทอดการดูแลแทนฟูโซ่ทรัคประเทศไทยพร้อมเดินหน้าปฏิบัติการบีบบังคับทุกช่องทางหวังให้ตันจงฯจนมุมแล้วยอมรับเงื่อนไขที่MFTBCต้องการ โดยให้ตันจงฯถือหุ้นส่วนเพียงน้อยนิดแล้วก้มหน้าก้มตายอมรับชะตากรรมเป็น“ผู้ประกอบรถ”เท่านั้น

ทั้งนี้ ตันจงฯ กรุ๊ป ไม่อาจยอมรับในเงื่อนไขดังกล่าวได้ และไม่ยอมให้MFTBC“ฮุบธุรกิจ”คืนได้ง่ายๆ ล่าสุด โร่ขึ้นศาลฟ้องกลับ MFTBC แฉพฤติการณ์ยึดแบรนด์คืน“Not Fair”ไร้ซึ่ง “ธรรมาภิบาล” ขาดความเป็น “สุภาพบุรุษทางธุรกิจ”พร้อมเรียกร้องความชอบธรรม“ขอเงินคืน-ค่าชดเชย-ดูแลลูกค้าต่อ”ย้ำแม้MFTBCเป็นเจ้าของโปรดักส์แต่วิธีการควรถูกต้องตามครรลองที่ควรจะเป็น รับตกหลุมพรางกลอุบายที่แทรกซึมในนโยบายที่MFTBCหว่านล้อมให้ทุ่มทุนมหาศาลหวังเติบโตไปด้วยกันภายใต้นโยบายสุดหรู T2520 และให้ความหวังจะได้รับต่อสัญญาระยะยาว แต่วันดีคืนดีพอยอดขายฟูโซ่ดีขึ้นต่อเนื่องMFTBC กลับ“ตระบัดสัตย์ทางธุรกิจ”ไม่ยอมต่อสัญญาพร้อมใช้วิธีการบีบบังคับทุกช่องทางหวังฮุบธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ เปลือยใจเป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยเงื่อนไขที่ไม่อาจยอมรับได้ ลั่นขอดูแลลูกค้าภายใต้ข้อจำกัดให้ดีที่สุด พร้อมมองหาธุรกิจใหม่และเดินหน้าปั้นแบรนด์ในเครือต่อไป

จากปฏิบัติการยึดแบรนด์คืนของ MFTBCครั้งนี้ ถือเป็นพฤติการณ์สุดแสบสันต์ถวัลย์รูถูชนิดความเผ็ดของพริกทั้งสวนก็ไม่อาจทัดทานได้  Logistics TIME ได้ถือโอกาสจับเข่านั่งคุยกับแหล่งข่าวระดับสูงจากตันจงฯกรุ๊ป ที่ได้เปลือยใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างหมดเปลือกดังนี้

ฟ้องกลับ MFTBC เรียกร้องความชอบธรรม

การที่ตันจงฯได้ฟ้องศาลครั้งนี้ เราเองไม่ได้ฟ้องเขาก่อน แต่เรากลับโดนฟ้องก่อนหน้านี้ทันทีที่สัญญาหมดลง โดยMFTBCฟ้องศาลห้ามเราใช้ “เครื่องหมายการค้า –องค์ความรู้ เทคนิค หรือโนฮาวต่างๆ”ที่จะนำไปสู่การบริการลูกค้า และสั่งตัดการสั่งอะไหล่ทุกชนิด ทำให้ทุกกระบวนการหยุดชงัก เราเองก็ไม่สามารถดูแลลูกค้าที่ซื้อไปอย่างที่ควรจะเป็นได้ ยิ่งนานก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์เราติดลบในสายตาลูกค้า ซ้ำรายยังบีบบังคับทุกช่องทางหวังให้เราจนมุมแล้วยอมรับเงื่อนไขที่เขาต้องการ ซึ่งเราไม่อาจยอมรับได้ และจึงเป็นที่มาของการฟ้องศาลในครั้งนี้ สิ่งที่เราต้องการอย่างแรกคือเงินที่เราได้ชำระซื้อสินค้าไปแล้ว แต่เขากลับไม่ยอมส่งรถให้กับเราและยังไม่ยอมคืนเงินเราถือว่าเป็นการหลอกให้เราชำระเงินซื้อสินค้า สุดท้ายสินค้าเราก็ไม่ได้ เงินก็ไม่ได้คืน นี่คือสิ่งแรกที่ต้องพิ่งศาลเรียกร้องความเป็นธรรม

หลงกลอุบายขายฝัน T2520

ก่อนหน้าที่ทางMFTBCได้วางนโยบายต่างๆหว่านล้อมให้เราลงทุนขยายกิจการด้วยเม็ดเงินมหาศาลพร้อมกับหยอดคำหวานว่าเราจะเติบโตไปด้วยกันและให้ความหวังกับเราว่าจะได้รับการต่อสัญญาระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลอุบายขายฝันภายใต้นโยบายT2520 โดยกำหนดแนวทางให้เราขยายการลงทุนเพื่อการเติบโตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงานประกอบที่ลาดกระบังการสร้างเครือข่ายธุรกิจด้วยการเพิ่มจำนวนดีลเลอร์ทั่วประเทศ การเพิ่มกำลังคน การนำสินค้าเข้ามาขายในจำนวนมากๆ เป็นต้น เพื่อดันให้ฟูโซ่มีสัดส่วนถึง 25 % ในปี 2020 ซึ่งเราหลงเชื่อและก็คาดหวังว่าจะได้รับการต่อสัญญาในระยะยาวตามที่เขาให้ความมั่นใจกับเราตั้งแต่แรก แต่สุดท้ายก็ไม่ยอมต่อสัญญาให้กับเราแต่อย่างใด

ไร้ซึ่ง “บริษัทธรรมาภิบาล”

เราถือว่าเป็นการหลอกให้ดำเนินธุรกิจภายใต้แผนที่เขาวางเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว วันดีคืนนี้ฟูโซ่มียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี เมื่อสัญญาหมดลงก็ตัดสัญญาแล้วจะทำเองซะงั้น วิธีการดังกล่าวหาใช่การดำเนินธุรกิจอย่างบริษัทที่มีธรรมาภิบาลเขาทำกันไม่ โดยการบีบบังคับให้เรายอมเฉือนเนื้อในหุ้นส่วนที่เป็นฟูโซ่ทรัคประเทศไทยออกไป โดยเขาจะถือครองหุ้นส่วนใหญ่มากกว่า 50 % แต่ให้เราถือหุ้นส่วนน้อยแค่น้อยนิดภายใต้องค์กรใหม่ของเขา แล้วให้ก้มหน้าก้มตายอมรับชะตากรรมเป็นแค่ผู้ประกอบรถให้เท่านั้น แม้ความจริงเขาเป็นเจ้าของโปรดักส์ แต่พฤติการณ์แบบนี้เป็นการไม่เกียรติกัน ถ้าเราทำได้ไม่ม่ดีก็ว่าไปอย่าง แต่นี้เราทำได้ดีมาตลอด แสดงว่าให้เห็นธาตุแท้ว่าเขาตั้งธงเพื่อจะยึดกิจการของเราเป็นการเฉพาะ เราจึงร้องศาลเพื่อเรียกค่าชดเชย(Goodwill) กับสิ่งที่เกิดขึ้น

ดอดตีท้ายครัวเซ็นสัญญา 9 ดีลเลอร์

อีกหนึ่งพฤติการณ์ที่เราไม่อาจรับได้ก็คือ การที่MFTBCดอดไปเซ็นสัญญากับ 9 ดีลเลอร์ฟูโซ่ที่มียอดขายดีที่สุดที่เราสร้างมากับมือ ภายใต้เงื่อนไข“Service&Spare Parts” เหมือนเป็นผู้แลลูกค้าแทนฟูโซ่ทรัคประเทศไทยโดยวิธีการของเขาก็คือให้ 9 ดีลเลอร์สามารถสั่งอะไหล่ได้โดยตรงจาก MFTBCเมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้อีก 15 ดีลเลอร์ฟูโซ่ที่เหลือที่ไม่ได้รับการเลือกก็ต้องอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ เพราะหากไม่มีอะไหล่ก็ไม่สามารถดูแลลูกค้าได้ ดังนั้น ทั้ง 15 ดีลเลอร์จึงไหลไปหา 9 ดีลเลอร์

ถูกบริษัทลูกเดมเลอร์กรุ๊ป “รุมกินโต๊ะ”

สิ่งที่เห็นได้ชัดที่เรามองว่าไม่เป็นธรรม คือกรณีMBLT หรือ Mercedes- BenzLeasing Thailand ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทลูกของเดมเลอร์กรุ๊ป ก่อนที่จะหมดสัญญาเขาก็อนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้าเราด้วยการออกหนังสืออนุมัติสินเชื่อ ซึ่งเราก็ทำตามทุกขั้นตอนเสร็จสรรพและเราได้ส่งรถให้ลูกค้าแล้วพอถึงเวลาเราก็เอาชุดจดไปแลกเงิน แต่MBLTกลับไม่ยอมจ่ายเงินและยกเลิกหนังสืออนุมัติสินเชื่อทั้งหมด ทั้งๆที่ลูกค้าเซ็นสัญญาแล้ว จ่ายเช็คแล้ว ประกันภัยเริ่มแล้ว จ่ายเงินดาวน์-ประกันภัยแล้ว แต่กลับระงับการเช่าซื้อแล้วไม่ยอมจ่ายเงินให้กับเรา อีกกรณีหนึ่งเวลาที่ลูกค้ามีปัญหาวารันตีการเคลมมาที่ดีลเลอร์ แล้วดีลเลอร์ก็เคลมมาที่เรา เราก็จ่ายเงินให้กับดีลเลอร์ จากนั้นเราก็ไปเคลมต่อที่MFTBC ปรากฏว่าเขาระงับการจ่ายเงิน ทั้งๆที่เขาอนุมัติมีลายลักษณ์อักษรแล้ว

และอีกกรณีหนึ่งก็คือเราสั่งรถจากเดมเลอร์อินเดีย โดยที่เขาหลอกให้เราชำระเงินค่ารถไป ซึ่งเขาจะผลิตให้เราในเดือนนั้นเดือนนี้ พอเราชำระเงินไปเรียบร้อยแล้ว เขากลับไม่ยอมผลิตรถให้กับเรา และที่สำคัญยังยึดเงินเราไว้อีกต่างหาก ซึ่งทั้งหมดดูเหมือนถูกบริษัทลูกเดมเลอร์กรุ๊ปรุมกินโต๊ะและเล่นงานเราเพื่อให้มีภาพลักษณ์เสียหายด้านการเงิน ซึ่งหากคำนวนจำนวนเงินที่เราจ่ายไปกับกรณีดังกล่าวนี้แล้วกว่า 15 ล้านบาท แต่หากทุกอย่างไม่เกิดปัญหาและสามารถดำเนินการสำเร็จไปทุกอย่าง เราสามารถต่อยอดห่วงโซ่ธุรกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ซึ่งพฤติการณ์เหล่านี้เราเป็นผู้ถูกกระทำ และเป็นการกระทำที่เรารับไม่ได้ ที่สำคัญอื่นใดเราตกเป็นเหยื่อของMFTBCท้ายที่สุดแล้วเมื่อไม่สามารถหาข้อยุติได้ก็จำเป็นต้องขึ้นโรงขึ้นศาล

ทั้งหลายทั้งปวงสรุปได้ว่าในวันที่ฟูโซ่นั่งเบียดความตกต่ำด้านยอดขาย MFTBC กลับไม่ชายตามองห่วงโซ่คุณค่าเพื่อการทำตลาดในไทย แต่ฉับพลันที่ตันจงฯได้ขับเคลื่อนเข้าสู่สมรภูมิรถใหญ่เมืองไทยแล้วฉุดยอดขายขึ้นจากก้นเหว พร้อมกับยกระดับความเป็นแบรนด์ชั้นนำได้อย่างไร้ที่ติ ครั้นวันดีคืนดี MFTBC จะยึดแบรนด์คืนแบบง่ายๆด้วยวิธีการต่างๆนานา

แต่หารู้ไม่ว่าวิธีการที่ MFTBCเชิดหน้าชูตาตะบี้ตะบันเล่นงานตันจงฯอยู่นั้น เป็นวิธีการแสนสกปรก และหาใช่ครรลองที่บริษัทชั้นนำระดับโลกเขาทำกันไม่ และอาจถูกตราหน้าว่าใช้ “วิชามาร” บดขยี้หวังให้บรรลัยกันไปข้าง เชื่อเหลือเกินว่าช่วงรอยต่อการห้ำหั่นในชั้นศาลต้องใช้เวลาอีกนาน MFTBC ก็ยังขาดความพร้อมในการทำตลาด ตันจงฯเองก็ติดบ่วงข้อจำกัด ห้วงเวลานี้ถือเป็นการสูญเสีย“โอกาสทองฝังเพชรทางธุรกิจ”ในทิศทางที่ควรจะเป็น พร้อมกระแทกซ้ำชะตากรรมรถบรรทุกฟูโซ่ให้ “แขวนอยู่บนเส้นด้าย”อีกครั้ง และอาจได้ชื่อว่าเป็น “โศกนาฎกรรม”ของรถบรรทุกฟูโซ่ในประเทศไทยอย่างแท้จริง