บวท.เปิดใช้งานระบบบริหารจราจรทางอากาศใหม่ ณ ศูนย์ฯหัวหิน เชื่อมระบบ TMCS ทั่วประเทศ

0
59

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กระทรวงคมนาคม ได้ถ่ายโอนระบบควบคุมจราจรทางอากาศสู่ระบบใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ (Thailand Modernization CNS/ATM System หรือ TMCS) เพื่อเพิ่มศักยภาพและความปลอดภัยทางการบิน เกิดการเชื่อมโยงการใช้งานระบบ TMCS โดยสมบูรณ์ทั่วประเทศ

ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า บวท. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ หรือ TMCS ซึ่งเป็นโครงการติดตั้งระบบควบคุมจราจรทางอากาศระบบใหม่แทนระบบเดิม ถือเป็นการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีระบบบริการการเดินอากาศครั้งใหญ่ของประเทศไทย ให้ทันสมัย มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงระบบการทำงานไปยังเครือข่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการให้บริการ เพิ่มศักยภาพระบบบริการการเดินอากาศของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการบินโลก ทั้งนี้ บวท. ได้เริ่มเปิดให้บริการจราจรทางอากาศด้วยระบบ TMCS ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นแห่งแรก ตั้งแต่ปี 2562 และได้ขยายการใช้งานระบบใหม่นี้ไปยังศูนย์ควบคุมการบินทั่วประเทศ โดยศูนย์ควบคุมการบินหัวหิน เป็นส่วนงานสุดท้ายที่ทำการถ่ายโอนระบบ และได้นำระบบ TMCS มาใช้งาน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2565

ศูนย์ควบคุมการบินหัวหิน มีภารกิจสำคัญในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศเขตสนามบิน และเขตประชิดสนามบิน ทั้งอากาศยานของทางราชการ อากาศยานฝึกบิน และเที่ยวบินพาณิชย์ รวมทั้งให้บริการข้อมูลและสารสนเทศการเดินอากาศ ปัจจุบันท่าอากาศยานหัวหินให้บริการจราจรทางอากาศ เฉลี่ยวันละ 30 เที่ยวบิน ส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินจากอากาศยานฝึกบิน เที่ยวบินพาณิชย์ 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ซึ่งท่าอากาศยานหัวหินมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ด้านการปฏิบัติของผู้ทำการในอากาศ รวมทั้งเป็นฐานปฏิบัติการบินและฝึกบินของหน่วยบินของทั้งทางราชการและพลเรือน เพื่อที่จะพัฒนาไปเป็นบุคลากรทางด้านการบินที่จะมีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของประเทศ การฝึกปฏิบัติการในการสนับสนุนทางอากาศของหน่วยงานด้านความมั่นคงของชาติ เป็นเมืองที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยว มีธรรมชาติที่สวยงาม และเป็นประตูสู่ภาคใต้ บวท. มีความมุ่งมั่นในการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพของระบบเทคโนโลยี เพื่อความปลอดภัยสูงสุด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ เพิ่มโอกาสการเติบโตด้านการท่องเที่ยวที่กำลังเริ่มฟื้นตัว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่งของประเทศ และสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล