เผือกร้อน “คิงเพาเวอร์”

0
205

ระอุแดดขึ้นมาอีกครั้งกับเรื่องของสัมปทานดิวตี้ฟรีของกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ของเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรฟุตบอล เลสเตอร์ซิตี้ของอังกฤษที่เคยพลิกประวัติศาสตร์พาทีมเถลิงแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2015-2016 ให้คนไทยสุดฟินกันมาแล้ว

แต่วันนี้ดูเหมือนธุรกิจแสนล้านของ “เจ้าพ่อดิวตี้ฟรีเมืองไทย” กำลังสั่นคลอนอย่างหนัก หลังมีข่าว นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานอนุกรรมการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ไม่รู้ไปกินดีหมีมาจากไหนถึงได้ห้าวเป้งลุกขึ้นมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ประเดิมศาลใหม่ไปแล้ว 2 คดีจากทั้งหมด 5 คดี

โดยกล่าวหาบอร์ดและเจ้าหน้าที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) รวม 18 คน ร่วมกระทำผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนทำรัฐเสียหายไปกว่า 14,290 ล้านบาท ขณะที่ฟากฝั่งผู้บริหาร ทอท. และกลุ่มคิงเพาเวอร์ ก็สู้หัวชนฝาออกโรงยืนยัน นั่งยันว่า พันธสัญญาระหว่างกันเป็นไปอย่างถูกต้อง จ่ายค่าตอบแทนถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว

เรื่องของคดีความจะเผือกร้อนไม่ร้อนกันอย่างไร ผู้บริหารคิงเพาเวอร์ และ ทอท. จะเปิดความจริง เท้าความหลังไล่เรียงสัญญากันอย่างไรนั้น “เนตรทิพย์” คงไม่ก้าวล่วงอะไรด้วยหรอกครับ คงปล่อยให้เป็นเรื่องที่ ทอท. และผู้เกี่ยวข้องสะสางกันไป แต่ที่ผมติดใจอยู่นิดก็ตรงที่ผู้บริหาร ทอท. ออกมาเปิดความจริงเรื่องของจุดส่งมอบสินค้า หรือ Pick up Counter พร้อมลำดับที่มาของสัญญาดังกล่าวอย่างละเอียด โดยระบุว่า ในยุคแรกช่วงเปิดประมูลโครงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น ยังไม่มีสัญญาเรียกเก็บค่าใช้บริการพื้นที่จุดส่งมอบสินค้า แต่มาเกิดขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นการประมูลไปแล้วซึ่ง ทอท.ได้ระบุเพิ่มในสัญญาจะเรียกเก็บในอัตรา 15% ของยอดจำหน่ายสินค้าและค่าบริการ ซึ่งการเรียกเก็บจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง 3% ของยอดสินค้าที่ส่งมอบ หรือ 0.45% นั้นเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องแล้ว และ ทอท.ได้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวมาโดยตลอด

อ่านคำชี้แจงของฝ่ายบริหาร ทอท. ข้างต้นแล้ว บอกตามตรงผมหล่ะเสียวสันหลังแทนจริงๆ ไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงเปิดความจริงดังที่ผู้บริหาร ทอท. เข้าใจ หรือเป็นการ รับสารภาพกันแน่!!!

มีอย่างที่ไหนไปยอมรับว่า การจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้า หรือ Pick up counter นั้น ไม่ได้มีการกำหนดไว้ใน TOR ทั้งในส่วนของสัมปทานปลอดอากร และการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์มาตั้งแต่แรก แต่มากำหนดกันภายหลังและผนวกไปอยู่กับสัมปทานบริหารพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ โดย ทอท. จะเรียกเก็บค่าต๋ง 15% ของยอดจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการส่งมอบสินค้า แต่ไม่รู้ไปทำกันอีท่าไหนกลับกลายเป็นว่า ท้ายที่สุด ทอท. กลับจัดเก็บค่าต๋งได้จริงแค่ 3% ของค่าบริการส่งมอบสินค้า หรือ 0.45% ของยอดส่งมอบสินค้าเท่านั้น ก่อนจะมาปรับปรุงสัญญากันใหม่ในยุคที่ 2 ปี 2554-2555 ปรับขึ้นมาเป็น 3% ของสินค้าปลอดอากรที่ส่งมอบกันจนปัจจุบัน

ผมไม่แน่ใจว่า การชี้แจงและยึดถือสัญญาแบบนี้จะพูดได้เต็มปากว่าเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ และ ทอท. ได้แน่หรือ

ก็หากไม่ได้มีสัญญาระหว่างกันตั้งแต่แรกแล้ว ทอท.ไปประเคนให้เขาทำไมกัน อีกอย่างหากยึดถือตามคำชี้แจงของ    ทอท. ข้างต้นก็เท่ากับว่า ทอท. ยอมรับว่า การจัดตั้งและขายสินค้าปลอดอากรในเมือง หรือ Downtown Duty Free นั้นแทบไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนใดๆ ให้แก่ ทอท. แม้แต่น้อยหรือจ่ายแค่ 3% ของค่าบริการส่งมอบสินค้าเท่านั้น ก็ถ้าหากบริษัทเอกชนโหมทำตลาดหรือขายสินค้าปลอดอากรในเมืองเป็นหลักมียอดขายปีละ 30,000-50,000 ล้านบาท ทอท.จะได้ผลประโยชน์อะไรนอกจากเงินประกันรายได้ขั้นต่ำ?

ผมไม่รู้ว่าที่ผ่านมา ทอท. เองจะโดยบอร์ดหรือฝ่ายบริหาร ทอท. เองเคยคิดจะหารือประเด็นความ อึมครึมของสัญญาประกอบการดิวตี้ฟรี และจุดส่งมอบสินค้าเจ้าปัญหาที่ว่า ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีหน้าที่ตรงนี้หรือไม่แทนจะมโนไปกันเอง

เพราะหาก “จุดส่งมอบสินค้า” หรือ Pick up counter ถือเป็นส่วนหนึ่งของร้านค้าปลอดอากร ไม่สามารถจะแยกออกมาเป็นเอกเทศจากกิจการดิวตี้ฟรีได้ สิ่งที่ ทอท. ปฏิบัติต่อการนำเอาจุดส่งมอบสินค้านี้ไปผนวกไว้กับสัญญาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ จนทำให้ ทอท. แทบจะจั่วลมผลประโยชน์ตอบแทนนั้นจะกลายเป็น“หนังคนละม้วน” ขึ้นมาทันที!

อย่างไรก็ตาม หากจะมองข้ามช็อต กลุ่มคนที่กำลังเดินหมากเขย่านั่งร้านสัมปทานคิงเพาเวอร์ ปะทุเอาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ ทอท. เตรียมเปิดประมูลสัมปทานใหม่ในปี 2561 นั้น ถือเป็นการเดินเกมที่แยบยลจริงๆ เพราะหากศาลประทับรับฟัองคดีความเหล่านี้ที่ต้องกินเวลาไปอีกหลายปี ขณะที่ไทม์ไลน์การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีใหม่ที่จะมีขึ้นในปีหน้านั้น

แม้บริษัทคิงเพาเวอร์จะยังคงมีสิทธ์เข้าร่วมประมูลไม่ขัดเงื่อนไขต้องห้าม เพราะไม่ได้ถูกแบล็กลิสต์หรือมีคดีความฟ้องร้องกับ ทอท. แต่ผลพวงจากคดีความที่กำลังถูกไต่สวนคาราคาซังอยู่ในศาลนั้นคงทำเอาคน ทอท. และผู้เกี่ยวข้องต้องคิดหนักแน่ หากจะต้องบากหน้าไปรับหน้าเสื่อพิจารณาให้สัมปทานออกไป

ตรงนี้ต่างหากคือเป้าใหญ่อันแหลมคมที่ใครก็คาดไม่ถึง!

ส่วนเรื่องสัมปทานร้านค้าปลอดอากร และสัมปทานบริหารพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ Commercial Area เข้าข่ายเป็นโครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2535 หรือไม่นั้น ยกเลิกได้หรือไม่นั้น ใครอยากรู้ตื้นลึกหนาบางเรื่องนี้อย่างไร ผมแนะนำให้ลองไปหาพ็อคเก็ตบุ๊ค “พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2535 : หนามยอกอกเมกะโปรเจ็กต์” ที่ผมเคยเขียนและรวบรวมเอาไว้ตั้งแต่ปี 2550 กันเองครับ ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยต่างๆ น่าจะยังพอมีให้คนหาอยู่จะได้ตาสว่างกันเสียที!!!

บทความโดย :  เนตรทิพย์