จากช้อปช่วยชาติ… ถึงเก็บภาษีเน็ตไอดอล-สินค้าออนไลน์

0
287

เกินกว่าฟรอยด์จะจินตนาการจริงๆ…

สำหรับรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับมหกรรม “แจก-ช้อปช่วยชาติ” ที่รัฐบาลเข็นกันออกมาจนแทบจะสำลัก!  

ไล่ดะมาตั้งแต่แจกเงินผู้มีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนคนจนไว้ก่อนหน้า 8.2 ล้านคน ที่จะได้รับแจกเงินกันฟรีๆ ที่รัฐเรียกซะเก๋ไก๋ว่าเป็น “เงินสวัสดิการ” จำนวน 3,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี และ 1,500 บาท สำหรับผู้มีรายรับ 30,001-100,000 บาท

ยังไม่นับโบนัสพิเศษปรับขึ้นค่าแรงวันละ 5-10 บาท ใน 69 จังหวัดทั่วประเทศ กับที่คลังกำลังโม่แป้งเตรียมคลอดของขวัญปีใหม่ ปัดฝุ่นมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” นำรายจ่ายจากการช้อปปิ้งซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่มาหักลดหย่อนภาษีได้ ที่นัยว่าครั้งนี้จะขยายระยะเวลาดำเนินการออกไปเป็น 2 สัปดาห์- 1 เดือนกันเลยทีเดียว ทั้งยังจะมีมาตรการลดหย่อนค่าน้ำ ไฟให้แก่ผู้ขึ้นทะเบียนคนจนไว้อีกระลอกตามมา

ทั้งหมดรัฐบาลยืนยัน นั่งยัน ไม่ใช่ “ประชานิยมสิ้นคิด ดังที่นักการเมืองและนักวิชาการดาหน้าออกมาสัพยอกรัฐ แต่เป็น “สวัสดิการ” ที่รัฐจัดให้กับผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น และไม่ได้เป็นหาหาเสียงแสวงหาคะแนนนิยม ซึ่งคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า หากในอนาคตพรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่มาใหม่จะทำการสานต่อโครงการช่วยเหลือสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยที่ว่านี้ จะทำได้หรือไม่ หน่วยงานอิสระอย่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะบันทึกไว้เป็นหลักการหรือไม่ว่า กรณีการจัดสวัสดิกาในลักษณะนี้ให้ถือว่าเป็น “รัฐสวัสิดิการ”ไม่ใช่ประชานิยม หรือไม่

เพราะหากถือว่า นี่คือสวัสดิการรัฐที่ต้องจัดให้ ไม่ได้เป็นนโยบายหาเสียงหรือประชานิยมสิ้นคิดแล้ว รัฐบาลชุดต่อๆ ไป ก็มีหน้าที่ต้องจัดให้หรือสานต่อ… 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำเอาหลายฝ่ายกังขา ทำเอาเอาเหล่าเซเลบฯ เน็ตไอดอล สะท้านกันไปทั้งเมือง…

ไม่ใช่เรื่องกลัวรัฐจะตลบหลัง หากช้อปปิ้งไปเพลินเกินความพอเพียงอะไรหรอก แต่เป็นเรื่องที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง กำลังซุ่มเงียบตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ รวมไปถึงบรรดาเน็ต ไอดอล เพจดังทั้งหลายแหล่ 

โดย นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เผยกับผู้สื่อข่าวว่าถึงเรื่องนี้ว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ ทั้งที่เป็นการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ และโซเชียลเน็ตเวิร์คทั้งหลาย ทั้งกูเกิ้ล เฟซบุ๊ค อินสตราแกรม  แอพพลิเคชั่น ไอโชว์ บีโก้ไลฟ์ทั้งหลาย

โดยระบุว่า เมื่อผู้ให้บริการเหล่านี้ทำการซื้อขายสินค้าหรือมีรายได้จากการให้บริการ ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้ถูกต้องเป็นไปตามสากลที่หลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่ แต่กฎหมายสรรพากรในปัจจุบันนั้น ยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการเหล่านี้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากธุรกิจออนไลน์จะใช้วิธีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต เช่น วีซ่า มาสเตอร์การ์ด หรือจ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น แอปเปิ้ลเพย์ กูเกิ้ลเพย์ โดยมีบริษัทแม่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยแทบไม่ได้ประโยชน์จากธุรกรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การพิจารณาออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ดังกล่าวจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เพราะขณะนี้ มีเพียงประเทศอินเดียเพียงประเทศเดียวในโลกที่จัดเก็บภาษีจากการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยกำหนดให้ผู้ซื้อสินค้า/บริการต้องดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งให้กรมสรพากรโดยไม่ต้องไปเรียกเก็บภาษีจากผู้ขายสินค้าหรือบริการอีก แต่วิธีการดังกล่าวยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับผู้ซื้อสินค้าจะแจ้งเสียภาษีหรือหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ให้สรรพากรหรือไม่

interesting-trends-for-online-shopping

สำหรับประเทศไทยนั้น คาดว่า ผลการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีออนไลน์ น่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ และคาดว่ากลางปีหน้าน่าจะออกเป็นกฎหมายให้มีบังคับใช้ได้อย่างแน่นอน  

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ยังสั่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษีจากเพจดัง เน็ตไอดอล ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังยื่นเสียภาษีไม่ถูกต้อง เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวมีคนติดตามเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการรับงานและมีรายได้เข้ามา ทั้งการเป็นพรีเซนเตอร์ หรือขายของบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการเสียภาษีของดารา นักแสดง หากไม่ยื่นเสียภาษีตามที่กำหนดไว้ จะถูกตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ เหมือนกับดารา นักแสดงที่โดนสอบย้อนหลังในช่วงก่อนหน้านี้

online-shoppingแม้การไล่เบี้ยเก็บภาษีซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งหลายจะถือเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางธุรกิจ เป็นการยกร่างกฎหมายของรัฐเพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 แต่ก็เป็นดาบ 2 คม ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ “เอสเอ็มอี” และโดยเฉพาะสินค้าโอทอปจากชุมชน ท้องถิ่น และสินค้าเกษตรทั้งหลายที่ภาครัฐกำลัง “ป้ำผีลุกปลุกผีนั่ง” ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ปรับตัวเข้าสู่การค้าในโลกออนไลน์อยู่ 

อย่าลืมว่า รัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงดิจิทัล ต่างทุ่มเทงบประมาณกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมกิจการเอสเอ็มอี โอทอป สร้างเครือข่ายกระบวนการเรียนรู้เพื่อดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีท้องถิ่นทั้งหลายให้เข้าสู่ตลาดโลกผ่านช่องทางสื่อออนไลน์และโซเชียล กระทรวงพาณิชย์ถึงกับเปิดเวปท่า thaitrade.com และล่าสุด thaitrade.com  Sook (Small Order OK) หวังช่วยผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีให้มีหน้าร้านโชว์และซื้อขายสินค่าในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น จนสามารถดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบกว่า 1.3 แสนราย มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 2,000 ล้านบาทไปแล้วในเวลานี้

แต่อีกด้านก็กลับจะมาไล่บี้จัดเก็บภาษีขึ้นซะงั้น ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ผู้ค้าออนไลน์ เอสเอ็มอีออนไลน์ที่ทำการตลาดแบบตรงจะต้องขึ้นทะเบียนประกอบการกับพาณิชย์เข้าสู่ระบบใครจะเปิดร้านค้าขายซื้อขายสินค้าอะไรก็ตาม แต่จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เสียก่อนนั้น ผู้คนเขาก็หวาดระแวงอยู่แล้ว

พอกรมสรรพากรแบไต๋ออกมาแบบนี้ก็ทำเอาเอสเอ็มอี โอทอป และผู้ค้าออนไลน์ทั้งหลาย คงมีสะอึกกันบ้างหล่ะ ไหนว่ารัฐบาล คสช. จะคืนความสุข ไหงกลับจะมาตลบหลังให้อมทุกข์กันซะงั้น!!! 

บทความโดย…เนตรทิพย์