“พนัส” ผนึก สวทช.ปั้น LogTech เฟ้นหา ‘สตาร์ทอัพธุรกิจโลจิสติกส์’ครั้งแรกของไทย

0
640

เป็นครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อพนัสแอสเซมบลีย์ฯ ผู้ผลิตและประกอบยานยนต์เพื่อการขนส่งรายใหญ่ของประเทศ ผุดโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อเฟ้นหา “สตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์” (LogTech) ร่วมเข้าคอร์สติวเข้ม ผลักดันนวัตกรรมหรือไอเดียสู่การนำไปใช้จริงในภาคขนส่ง กรุยทางจัดตั้งกองทุนหนุนสตาร์ทอัพหวังต่อยอด Open Innovation เพื่อพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ให้แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเชื่อมโยงและยกระดับอุตสาหกรรมภาคการขนส่งของประเทศทั้งองคาพยพ

โดยวันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ ได้รับเกียรติจากคุณพนัส วัฒนชัย CEO คึย์แมนสำคัญจากพนัสแอสแซมบลีย์ฯ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนด้านโลจิสติกส์ คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นเกียรติในงานดังกล่าว พร้อมเปิดเวทีสัมมนาในหัวข้อ “การผลักดันประเทศไทย ให้ก้าวไกลด้วยระบบโลจิสติกส์” เมื่อ 6 ก.ย.2560 ณ คริสตัล บอลรูม 1 อาคารอี (ชั้น 2 ) คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (CDC)

พนัสแอสเซมบลีย์ฯ คู่วงล้อขนส่งไทยกว่า 47 ปี 

คุณพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด เปิดเผยภายในงานฯว่าบริษัทพนัสฯ เป็นผู้นำตลาดในภาคธุรกิจขนส่งมากว่า 47 ปีแลัว และเป็นบริษัทคนไทยที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการขนส่งมาโดยตลอด ธุรกิจเริ่มต้นจากการต่อประกอบรถกระบะบรรทุกและสิบล้อไม้สำหรับใช้บรรทุกข้าวและสินค้าทางการเกษตร ต่อมาได้มีการพัฒนานวัตกรรมรถประเภทอื่นๆป้อนเข้าสู่ระบบการขนส่งภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

“บริษัทพนัสฯ เป็นบริษัทแรกที่ริเริ่มผลิตรถพ่วงและรถกึ่งพ่วง ผลิตรถคอนเทนเนอร์พื้นเรียบและแชสซีคอนเทนเนอร์เพื่อรองรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ขนส่งด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ลาว พม่า กัมพูชา ฯลฯ และพัฒนาการออกแบบการผลิตรถขนส่งคุณภาพสูงหลายประเภท ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศด้วย”

ตั้งเป้าปี 2020 เป็นผู้นำและเป็นผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคอาเซียน+6

นอกจากนี้ คุณพนัส ระบุอีกว่าปัจจุบันบริษัทพนัสฯ ได้แบ่งธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งออกเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มรถเพื่อใช้ในการขนส่ง (Logistics) กลุ่มสินค้าเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ (Fabrication) กลุ่มอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นสนามบิน (Ground Support Equipment) กลุ่มรถที่ใช้ในราชการทหาร (Defense) และกลุ่มงานบริการ (Service) ซึ่งมีศูนย์บริการ Panus S Plus 100 สาขาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะที่ต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกาใต้ เป็นต้น ในปี 2559 มีรายได้มาจากธุรกิจในประเทศ 60% โดยกลุ่มโลจิสติกส์ถือเป็นธุรกิจหลัก และธุรกิจส่งออก 40% การเติบโตของธุรกิจโดยภาพรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ต่อปี ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2020 จะเป็นผู้นำและเป็นผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคอาเซียน+6 เรื่องพาหนะ ระบบ อุปกรณ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้า และเป็นผู้ให้คำตอบด้านการขนส่ง

“บริษัทฯ ตอบสนองภาคการขนส่งในประเทศเกือบ 100% และถือเป็นกระดูกสันหลังที่มีส่วนสำคัญต่อขับเคลื่อนความสำเร็จของแทบทุกอุตสาหกรรม หัวใจสำคัญที่ทำให้บริษัทฯเป็นผู้นำในธุรกิจขนส่งอย่างแข็งแรงจนถึงทุกวันนี้คือ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ ที่สามารถตอบสนองความต้องการและการใช้งานที่หลากหลายของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้ ปัจจุบันเรามีแบบรถต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและทำให้ต้นทุนของลูกค้าต่ำที่สุด และยังได้รับการรองรับจากกรมการขนส่งทางบกว่าเป็นอู่ผู้ผลิตระดับ 1

 

Panus Thailand LogTech Award 2017 เวทีประกวดแนวคิดธุรกิจโลจิสติกส์

ส่วนจุุดประสงค์ของการจัดทำโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ขึ้น คุณพนัส เล่าถึงรายละเอียดว่าปัจจุบันภาครัฐได้ยกระดับสตาร์ทอัพให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไลหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เราเห็นว่ายังไม่มีกิจกรรมใดที่ให้การสนับสนุนนวัตกรรมด้านการขนส่ง รวมทั้งสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่เป็นสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ หรือ LogTech พนัสฯจึงได้จัดทำโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ขึ้น เพื่อเป็นเวทีประกวดแนวคิดธุรกิจและโครงการด้านธุรกิจโลจิสติกส์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

“ไอเดียหรือนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพจะได้รับการสนับสนุนต่อยอดให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบสนองอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศ หรือระดับภูมิภาคต่อไป ซึ่งบริษัทฯ เองมีแผนจะพิจารณาจัดตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพกลุ่ม LogTech เราเชื่อว่าหากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้องและทันเวลา จะเป็นการเกื้อหนุนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ภาคโลจิสติกส์ดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ ทันสมัย เร็วขึ้น ลดต้นทุน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีบทบาทที่สำคัญในการผลักดันให้เมกะโปรเจ็กต์ เช่น ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)และ EECi รถไฟความเร็วสูง เกิดเร็วขึ้นหรือแข็งแรงขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ”

อย่างไรก็ดี คุณพนัส กล่าวเสริมว่า โครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ที่จัดประกวดในหัวข้อ “Logistics Innovation” พร้อมเปิดกว้างทุกไอเดียที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชั่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เช่น ระบบบริหารคลังสินค้า การพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ หรือผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เช่น รถหรืออุปกรณ์สนับสนุนการขนส่งทางบก-อากาศ-น้ำ ตลอดจนการเชื่อมโยงธุรกิจโลจิสติกส์เข้ากับธุรกิจอื่นๆ เช่น Logistics Market Place เป็นต้น โดยการประกวดจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ และกลุ่มนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีแนวคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาธุรกิจด้านโลจิสติกส์

LogTech สะพานเชื่อมสตาร์ทอัพเกิดใหม่

ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สวทช. โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ การสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ด้านเทคโนโลยี หรือ Tech Startup ให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจเติบโตและดำเนินกิจการ ได้อย่างประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมามีการแบ่งเซ็กเตอร์ของสตาร์ทอัพออกเป็น 9 กลุ่ม อาทิ กลุ่มธุรกิจภาครัฐและการศึกษา (GovTech & EdTech) กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตแห่งอนาคต (IndustryTech) กลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) กลุ่มเทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์ (Propertytech)เป็นต้น

“แต่ยังคงมีเซ็กเตอร์หนึ่งที่ฝังตัวอยู่ในกลุ่ม IndustryTech คือ กลุ่มภาคการขนส่ง หรือ LogTech ซึ่ง ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. จึงร่วมมือกับบริษัทพนัสฯ ส่งเสริมสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ในรูปแบบประชารัฐภายใต้โครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 นอกจากจะเป็นการค้นหาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์แล้ว โครงการดังกล่าว ยังเป็นสะพานเชื่อมสตาร์ทอัพเกิดใหม่ในกลุ่ม LogTech เข้ากับองค์กร และบริษัทใหญ่ที่แสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบ Open Innovation ด้วย”

Logistics New S-Curve 

ถึงกระนั้น ดร.ณรงค์ ระบุต่อไปว่าโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต จัดอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ที่รัฐบาล กำลังส่งเสริมและผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) สู่ประเทศไทย 4.0 LogTech จึงเป็นเซ็กเตอร์ที่มีศักยภาพสูง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 จะได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มผู้ประกอบการ ในการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ หรือผลงานนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์

“ทีมที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม LogTech BoothCamp ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มาเติมเต็มความรู้ แนวคิด ปรับปรุงแผนธุรกิจ และเป็นการเตรียมความพร้อมในการแข่งขันรอบพิชชิ่ง เพื่อเฟ้นหาแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้จริง จึงเชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดการร่วมลงทุนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ รวมทั้งการสร้างคอมมูนิตี้ของกลุ่มโลจิสติกส์อย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ชนะเลิศการประกวดผลงานในโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ทั้งยังได้รับโอกาสในการไปดูงานโลจิสติกส์โลก ที่ประเทศเยอรมนี รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรการเข้าร่วมแข่งขันประกวดผลงาน สำหรับนิสิตนักศึกษาที่ชนะการประกวด ไอเดียธุรกิจ LogTech รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 รับเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรการเข้าร่วมแข่งขันประกวดผลงาน

ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมประกวดในโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ผ่านทางเว็บไซต์ www.panuslogtechaward.com ตั้งแต่วันนี้ – 30 กันยายน 2560 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณภรณ์ไพรินทร์ สายสุทธ์ (คุณหนึ่ง) เบอร์ติดต่อ 063-197-7124