โยกบัญชีเงินฝากเข้าคลัง….. อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่!

0
450

ภาษิตโบราณท่านว่าไว้ “ไม่มีไฟ ย่อมไม่มีควัน”….

หากไม่เพราะพฤติกรรมหลายๆ ประการของกระทรวงการคลังที่มุ่งมั่นเอาแต่จะพลิกช่องหาทาง “รีดภาษี” เข้ารัฐในทุกรูปแบบ สังคมคงไม่ตั้งข้อกังขาเอากับการยกร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน พ.ศ. … ที่กระทรวงกาคลังกำลังตั้งแท่นอยู่เวลานี้  

ไม่ว่าจะเป็นกรณีการผลักดัน พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ 2560 ปรับขึ้นภาษีเหล้า-เบียร์ที่คลังดีเดย์ไปเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา การยกร่างกฎหมายจัดเก็บภาษี “อีคอมเมิร์ซ” ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังโม่แป้งอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน

เมื่อคลังรุกคืบยกร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน พ.ศ. … ซึ่งมีเนื้อหาในอันที่จะดึงเงินฝากในบัญชีธนาคารของประชาชนที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเกินกว่า 10 ปีขึ้นไปเข้าไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังแทนสถาบันการเงิน มันจึงก่อให้เกิดข้อวิพากษ์ตามมาอย่างหนักหน่วงว่ามี “วาระซ่อนเร้น”แน่!

แม้ นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะออกโรงยืนยันเงินฝากของประชาชนที่กระทรวงการคลังจะนำมาเก็บรักษาไว้นั้นจะไม่มีการนำออกไปใช้แต่อย่างใด เป็นแค่การช่วยเก็บรักษาไว้ให้แทนสถาบันการเงินเท่านั้น โดยกระทรวงการคลังจะจัดทำระบบการค้นหาข้อมูลออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนเจ้าของบัญชี หรือทายาทตามกฎหมายสามารถขอคืนได้ตลอดเวลา ผ่านขั้นตอน กระบวนการที่กำหนด

พร้อมยืนยันการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องมาตรฐานสากล เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวมาบริหารจัดการเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และกันเงินสำรองอีกส่วนหนึ่งไว้เพื่อคืนให้แก่ประชาชน

แต่เมื่อกระทรวงการคลังยอมรับว่า ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดไถ่ถอน แต่เจ้าของบัญชียังไม่มีการแสดงหลักฐานเพื่อขอไถ่ถอน เงินดังกล่าวจะถูกนำส่งเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป จุดนี้มันคือการ “แบไต๋” เนื้อแท้ของกฎหมายฉบับนี้นั่นเอง!!!  

เปิดบัญชี(ขี้ลืม) 10,000 ล้าน!

ข้อมูลอันน่าตกตะลึงที่ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาตีแผ่นั้น ในปัจจุบันมีเงินฝากในบัญชีธนาคารที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเกินกว่า 10 ปี รวมกว่า 10,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 2,000 บาทและต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ธนาคารทุกๆ 6 เดือน ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้นำเงินจำนวนนี้มาเก็บรักษาไว้ให้แทน โดยจะอยู่ในบัญชีเงินคงคลัง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้สถาบันการเงินลดภาระในการดูแลรักษาบัญชีแล้ว ยังช่วยลดภาระแก่เจ้าของบัญชี ไม่ต้องถูกรีดค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีปีละ 100-200 บาทอีกด้วย

จากที่ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์เองนั้นต่างก็เห็นด้วยกับหลักการนี้ เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระให้แก่สถาบันการเงินที่ไม่ต้องนำเงินฝากไปสมทบเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากและกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินรวมกัน 0.47% ของยอดเงินฝาก 10,000 ล้านบาทแล้ว ในส่วนของประชาชนเจ้าของบัญชีเองก็ได้ได้ประโยชน์ไม่ต้องถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดูแลบัญชีด้วย  

ฝากปลาย่างไว้กับแมว?

แม้คลังจะอ้างว่าการโยกเงินฝากในบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวไปอยู่ในความดูแล จะยังประโยชน์ต่อทั้งสถาบันการเงินและเจ้าของบัญชี และเงินจำนวนนี้กระทรวงการคลังไม่มีแผนจะนำออกไปใช้ใด ๆ

แต่จะมีหลักประกันใดการันตีได้ว่า กระทรวงการคลังจะไม่แตะต้องเงินฝากเหล่านี้

ในเมื่อคลังเองก็ยอมรับในต่างประเทศมีการนำเงินเหล่านี้ออกไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ แถมยังแบไต๋ออกมาชัดๆ หากเป็นพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอน แต่เจ้าของไม่มาไถ่ถอน ส่วนนี้จะถูกโอนเข้าเป็นรายได้คลังด้วยอีก

ข้ออ้างที่ว่าคลังไม่มีแผนจะนำเงินเหล่านี้ออกไปใช้นั้น ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดีว่าในกฎหมายนั้นมักจะกำหนด “ข้อยกเว้น” ไว้เสมอ เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อความมั่นคง โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือโดยการตราเป็นข้อบังคับเพิ่มเติมซึ่งโดยปกติไม่พ้น “เห็นชอบ มอบรมว.คลังว่าไปได้เลย” นั่นแหล่ะ!

เหนือสิ่งอื่นใดแม้สถาบันการเงินที่รักษาบัญชีเงินฝากเหล่านี้เอาไว้จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี แต่ก็จ่ายดอกเบี้ยให้ด้วยเช่นกันและเม็ดเงินที่อยู่ในมือแบงก์เหล่านี้จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นสินเชื่อลงไปสู่ภาคธุรกิจ การลงทุนที่เป็น Investment ไม่ได้สูญเปล่า! ผิดกับเป้าหมายของคลังที่หวังฮุบเงินฝากเหล่านี้

กับความคาดหวังที่ว่าเจ้าของบัญชีหรือทายาทสามารถจะนำเอกสารหลักฐานมาเบิกเงินออกไปเมื่อใดก็ได้นั้น ในข้อเท็จจริงจะกระทำได้หรือไม่ การแสดงเอกสารหลักฐานที่ว่ายังต้องสำแดงที่มาของเงินด้วยหรือไม่ว่า เป็นเงินที่ถูกกฎหมายหรือไม่ด้วยอีก ดังนั้นแม้จะหาหลักฐานเอกสารมายืนยันความเป็นเจ้าของได้ก็ใช่ว่าจะเบิกเงินไปได้ง่ายๆ

ผิดกับบัญชีเงินฝากที่อยู่กับแบงก์หรือสถาบันการเงิน แม้เจ้าของบัญชีจะหลงลืมไว้เป็น 10-20 ปี หรือเจ้าของบัญชีตายไปนับสิบปี หากทายาทหรือผู้สืบทรัพย์มรดกหาเอกสารหลักฐานมายืนยันว่ามีบัญชีเงินฝากอยู่ที่แบงก์ ก็สามารถจะทำการเบิกจ่ายออกไปได้โดยง่าย โดยที่แบงก์ไม่มีสิทธิ์บิดพลิ้ว เพราะขืนมีลูกเล่นตุกติกมีหวังถูกร้องแรกแหกกระเชอจนทำเอาชื่อเสียงของแบงก์เสียหายได้

แต่หากบัญชีเหล่านี้อยู่ในมือรัฐและกระทรวงการคลังแล้ว ต่อให้ยื่นเอกสารหลักฐานครบถ้วน แต่หากเจอลูกเล่นและระเบียบการเบิกจ่ายของราชการที่วางเอาไว้อย่าง “รัดกุม” ประเภทตรวจสอบละเอียดยิบไปจนถึงที่มาของเงินแล้ว

หากต้องวิ่งรอกกันเป็นสิบเที่ยวยังไม่มีข้อมูลโผล่บนดาต้าเบสแล้วอะไรจะเกิดขึ้น จะไปร้องแรกแหกกระเชอเอากับใคร?!!!