นายกฯสั่งคค.ปรับความเร็วไฮสปีดเทรนกทม.-เชียงใหม่เป็น ‘รถไฟความเร็วปานกลาง’

0
248
“สมคิด”เผยครม.สัญจรสุโขทัย สั่งคมนาคมศึกษาปรับลดความเร็วไฮสปีดเทรน กทม. – เชียงใหม่ เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง อ้าแขนรับเอกชนร่วมทุนแบบพีพีพี เติมเต็มศักยภาพภาคการท่องเที่ยว หลังนายกฯให้ศึกษาคุ้มค่าโครงการเหตุไม่ได้เชื่อมโยงกับประเทศอื่นเหมือนเส้นรถไฟไทย-จีน ด้าน “อาคม”เดินหน้ารถไฟทางคู่พัฒนาภาคเหนือ รุกปรับปรุงสนามบินภาคเหนือ พร้อมขยายถนนเชื่อมการท่องเที่ยวในคลัสเตอร์ภาคเหนือ
 
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือ ครม.สัญจร จ.สุโขทัย ( 26 ธ.ค.2560 ) ได้หารือเรื่องการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม. – เชียงใหม่ และสั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับลดความเร็วจากเดิม 250 กม./ชม. เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง (medium speed train) ที่มีความเร็ว 180 – 200 กม./ชม. โดยให้ศึกษาถึงความคุ้มค่าการลงทุน และศึกษาถึงการเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) และให้ดำเนินการก่อสร้างให้ได้ภายในปี 2561 ส่วนโครงการรถไฟทางคู่จะเป็นโครงการสำคัญในปีหน้า โดยวันที่ 28 ธ.ค.นี้กระทรวงคมนาคมจะลงนามในสัญญากับเอกชนในสัญญาก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง อีกด้วย 
“กรณีดังกลาวนี้มีการเปรียบเทียบความคุ้มทุนกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กทม.-โคราช-หนองคาย ซึ่งจะเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงของจีนที่มีการผ่านทางสปป.ลาว แต่เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ ไม่ได้ไปเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟที่เดิมมีการออกแบบว่าจะมาเชื่อมต่อทางยูนาน จึงต้องศึกษาถึงรายละเอียดจของแผนการใช้ประโยชน์ให้มีความคุ้มค่ามากที่สุด และต้องช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ด้วย ส่วนการก่อสร้างก็อยากให้เริ่มในปีหน้า แต่ให้ไปดูเงื่อนไขว่าเราจะเปิดแบบให้เอกชนร่วมลงทุนหรือพีพีพีได้หรือไม่เพราะโครงการนี้เราคุยกับญี่ปุ่นว่าเป็นโครงการรัฐต่อรัฐ”
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ครม.ไม่ได้ชะลอโครงการนี้แต่อย่างใด แต่นายกรัฐมนตรีให้ไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมถึงความคุ้มค่าของโครงการ และพิจารณาถึงการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมโครงการ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะเสนอรายละเอียดของโครงการนี้ให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบในหลักการในเดือน มี.ค.ปีหน้า 
“ครม.ยังได้พิจารณาภาพรวมของแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งในภาคเหนือ โดยเส้นทางรถไฟทางคู่ตามข้อเสนอของภาคเอกชนที่กระทรวงฯสนับสนุนคือเส้นทางเด่นชัย – เชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจาก กทม.มายังเชียงใหม่เหลือ 12 ชั่วโมงจากเดิม 14 ชั่วโมง ส่วนเส้นทางเชียงใหม่ – เชียงราย – เชียงของ คาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ในช่วงต้นปี 2561 โดยนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงฯไปดูแผนการพัฒนาระบบรางขนาดเล็กที่จะเชื่อมโยงจากเส้นทางรถไฟสายหลักไปยังเส้นทางท่องเที่ยวในเมืองรองเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น 
นอกจากนี้ นายอาคม ยังกล่างถึงการพัฒนาโครงการทางถนนของภาคเหนือว่า ปัจจบันภาคเหนือได้รับการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วน 24% ของการก่อสร้างถนนทั่วประเทศ แบ่งเป็นถนนที่เชื่อมโยงภาคเหนือกับประเทศเพื่อนบ้านไปเชื่อมโยงกับถนนของ สปป.ลาว ที่จะเชื่อมไปยังประเทศจีน และการเชื่อมโยงภาคเหนือกับภาคอื่นๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าควรมีการก่อสร้างในเส้นทางเป็นช่วงๆเชื่อมโยงระหว่างเมืองท่องเที่ยว ส่วนโครงการที่กระทรวงเร่งรัดได้แก่ถนนอุตรดิตถ์ – ตาก และเส้นทางสายแม่สอด – น่าน และในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในคลัสเตอร์ภาคเหนือ โดยกระทรวงฯจะหารือกับผู้ประกอบการเอกชนในการจัดหารถบัสนำเที่ยวเพื่อให้บริการคนจากสนามบินมายังสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆในภาคเหนือ
“การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางอากาศของพื้นที่ภาคเหนือมีหลายโครงการที่จะเร่งรัดการดำเนินการได้แก่ การขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารอยู่ปีละ 10 ล้านคน อยู่ระหว่างการขยายอาคารผู้โดยสารอีกแห่งเพื่อรองรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2578 ส่วนปัญหาการจรารที่ติดขัดภายในสนามบินจะแก้ปัญหาโดยการย้ายอาคารขนส่งสินค้า (Cargo) ออกไปอยู่ในพื้นที่อื่นเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ส่วนสนามบินอีก 3 แห่ง ได้แก่ ลำปาง แพร่ น่าน มีแผนจะขยายรันเวย์ให้มีความยาวมากขึ้นเป็น 2,500 เมตร  ส่วนสนามบินพิษณุโลกจะมีการจัดซื้อสะพานเทียบเครื่องบินใหม่ทดแทนของเก่าที่ใช้งานมานาน และสนามบินแม่สอด จ.ตาก ที่มีการขยายจะให้บริการได้ในเดือน พ.ค.2561 จะช่วยเพิ่มศักยภาพการบินของไทยไปยังเมียนมาได้มากขึ้น