แฉพิรุธขบวนการมุบมิบขายทอดตลาดทำเลทองให้”เจ้าสัวเจริญ”รัฐเสียหายนับพันล้าน

0
14407
แฉพิรุธขบวนการมุบมิบขายทอดตลาดทำเลทองให้”เจ้าสัวเจริญ”แฉรัฐเสียหายจากการสุมหัวกดราคาต่ำติดดินนับพันล้าน
ยิ่งขุดยิ่งพบพิรุธขบวนการสุมหัวขายทอดตลาดที่ดินกลุ่มกฤษดาธานนท์ต่ำติดดิน อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย“วิโรจน์ นวลแข”แหกลูกกรงแฉแบงก์กรุงไทยรู้อยู่เต็มอกหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลหนี้สุดคุ้ม แต่กลับสุมหัวเร่งขายทอดตลาดในราคาต่ำติดดิน วงในเผยใบส่ังการเมืองสั่งปิดดีลก่อนเลือกตั้งใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากบริษัทครอบครัวกฤษดาธานนท์ ออกมาเปิดโปงขบวนการมุบมิบขายทอดตลาดที่ดินทำเลทองผืนใหญ่กว่า 4,400 ไร่ ย่านบางนาตราด-สุวรรณภูมิซ่ึงเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลหนี้แบงก์กรุงไทยในอดีตในราคาต่ำติดดินแค่วาละ 5,000 บาท ทั้งๆ ที่ที่ดินผืนดังกล่าวมีการประเมินไว้ในอดีตเมื่อ20ปีก่อนสูงถึงวาละ 12,000 บาทนั้น
จากการตรวจสอบไปยังธนาคารกรุงไทยในฐานะเจ้าหนี้พบว่า ก่อนหน้านี้ นายวิโรจน์ นวลแข อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 3 ที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องร่วมชดใช้มูลละเมิด ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการประเมินราคาที่ดินเพื่อประกอบการขายทอดตลาดในคร้ังนี้ โดยระบุว่าการประเมินราคาที่ดิน โดยอิงราคาประเมินรายแปลงแยกอิสระไม่ใช่ที่ดินผืนเดียวกัน ทำให้ที่ดินเกือบทั้งหมดถูกประเมินว่าเป็นที่ตาบอดไม่มีทางเข้า-ออกนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์คู่มือตามประกาศของกรมธนารักษ์ปี 2552  เพราะข้อเท็จจริงที่ดินทั้ง 215 แปลงจำนวน 4,400 ไร่ดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เดียวกัน  จึงต้องถือเป็นที่ดินที่ต้องประเมินราคาเป็นแปลงเดียวกันทั้งโซน 
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่าเดิมที่ดินแปลงนี้ติดจำนองอยู่กับแบงก์กรุงเทพตั้งแต่ปี 2538 มีการประเมินราคาไว้สูงกว่า 14,000 ล้านบาทอยู่แล้วและเมื่อบริษัทขอรีไฟแนนซ์เงินกู้มายังธนาคารกรุงไทยก็ได้แสดงความจริงใจโดยให้บริษัทประเมินหลักทรัพย์ที่ ก.ล.ต.ให้การรับรองถึง 2 บริษัทเข้ามาประเมิน คือ บริษัทอินชิคเนียบรุค(ประเทศไทย) และบริษัทซาลแมนน์(ฟาร์อิสท์) จำกัด  ซ่ึงทั้งสองบริษัทได้ประเมินที่ดินแปลงดังกล่าว มีมูลค่าสูงกว่า 14,000-16,000 ล้านบาท สูงกว่าวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติจากธนาคาร แต่ก็น่าแปลกที่แบงก์กรุงไทยที่รับทราบข้อเท็จจริงมาตั้งแต่ต้นไม่ใช้สิทธิ์คัดค้านหรือทักท้วงการประเมินราคาเพื่อขายทอดตลาด ทั้งที่อาจทำให้แบงก์เสียหายอย่างชัดเจน
 “การที่แบงก์กรุงเทพที่มีระบบตรวจสอบที่เข้มงวดยอมปล่อยกู้ให้กับที่ดินแปลงดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2538 น่าจะเป็นคำตอบที่ดีว่ามูลค่าของที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นอย่างไร  จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่หลักทรัพย์ค้ำประกันมูลหนี้จะมีมูลค่าต่ำกว่าอดีตเป็นเท่าตัวจนทำให้แบงก์ขาดทุนได้ การที่ธนาคารกรุงไทยกลับเร่งรีบขายทอดตลาดหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งที่ในอนาคตอันใกล้ในปี 62 กรมธนารักษ์จะมีการประเมินที่ดินรายแปลงใหม่ ในขณะที่ภาครัฐยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไฮสปีดเทรน และเมืองใหม่รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งจะยิ่งทำให้มูลค่าที่ดินสูงขึ้นไปอีก จึงชี้ให้เห็นเลศนัยของการเร่งรัดขายทอดตลาดครั้งนี้ ว่าเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อใครหรือไม่
นอกจากนี้ การที่แบงก์กรุงไทยและเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะราคาขายที่ดินออกไปในราคาต่ำเพียงวาละเพียง 5,000 บาทหรือรวมแล้วแค่ 8,914 ล้านจากที่ควรจะมีราคาเกินกว่า 30,000-50,000 บาท/ตร.วาขึ้นไปนั้น ยังส่งผลให้รัฐเสียหายขาดรายได้จาก ค่าธรรมเนียมจดจำนอง ค่าธรรมเนียมการโอนภาษีธุรกิจเฉพาะไปนับ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของแบงก์กรุงไทยเองก็สูญเสียประโยชน์จากหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ถูกตีราคาต่ำติดดินนี้ไปนับพันล้านเช่นกัน
แม้การขายทอดตลาดในคร้ังนี้จะอ้างว่ากระทำภายใต้คำส่ังศาลที่อนุโลมให้ดำเนินการไปก่อนได้ แต่ศาลท่านไม่มีทางรับทราบความเป็นจริงได้เลยว่า มีขบวนการมุบมิบประเมินราคาที่ดินต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริง ดังน้ันเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดในครั้งนี้เชื่อแน่ว่าหากมีการขุดคุ้ยเรื่องขึ้นมาในอนาคตที่ทำให้แบงก์และรัฐเสียหาย ผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการขายทอดตลาดในครั้งนี้คงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่พ้นอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันมีรายงานด้วยว่า หลังการขายทอดตลาดที่ดินทำเลทองผืนดังกล่าวเสร็จสิ้นไป มีใบสั่งของนักการเมืองใหญ่ในรัฐบาล คสช.เร่งรัดไปยังธนาคารและบริษัทเอคิวเอสเตทที่เป็นนายหน้าขายที่ดินให้แก่บริษัทครอบครัวกฤษดาธานนท์ให้เร่งปิดดีลการขายทอดตลาดที่ดินผืนดังกล่าาวภายในส้ินปีนี้ก่อนการเลือกตั้งท่ัวไปต้นปีหน้า เพราะเกรงว่าหากการเมืองพลิกผันดีลการซื้อ-ขายที่ดินทำเลทองผืนนี้จะเปลี่ยนไปอีก