ทล.เล็งเปิดร่วมทุน PPP Net Cost ปั้นมอเตอร์เวย์ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว มูลค่า 4.8 หมื่นล้าน

0
187

ทล.เล็งเปิดร่วมทุนพีพีพีเน็ทคอสปั้นมอเตอร์เวย์ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว มูลค่า 4.8 หมื่นล้าน หวังแก้รถติดสายลงใต้ คาดกวาดรายได้ปีละ 1 พันล้านตั้งแต่เปิดใช้ก่อนพุ่งแตะปีละ 8 พันล้านบาท คาดเปิดประมูลปี 62-63 เริ่มต้นก่อสร้างปี 66 

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.)เปิดเผยว่าทล.ได้จัดงานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน(Market Sounding) โครงการทางยกระดับหมายเลข 35 ช่วงบางขุนเทียน-วังมะนาว แบ่งเป็น 3 เฟส ได้แก่ เฟส 1 ช่วงบางขุนเทียน-มหาชัย ระยะทาง 10 กม. วงเงิน 1.05 หมื่นล้านบาทและเฟส 2 ช่วงมหาชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม. วงเงินลงทุนรวมกัน 4.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 2.96 หมื่นล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษาตลอดอายุสัมปทาน 1.61 หมื่นล้านบาท ค่าก่อสร้างด่านงานระบบ 1.26 พัน ค่าเวนคืนที่ดิน 640 ล้านบาท และอื่นๆ 670 ล้านบาท สำหรับรูปแบบที่คาดว่าจะนำมาใช้คือการร่วมทุนแบบ PPP Net Cost โดยฝ่ายรัฐจะลงทุนงานก่อสร้างเฟสแรก 1.05 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอกชนลงทุนงานก่อสร้างเฟส 2 และงานบริหารรวมถึงบำรุงรักษาตลอดเส้นทางเฟส 1-2 รวมมูลค่า 3.16 หมื่นล้านบาท โดยเอกชนต้องลงทุนเองทั้งหมด พร้อมงานบริหารและรับความเสี่ยงพร้อมแบ่งรายได้ให้รัฐตามสัดส่วนที่ตกลงกัน บนอายุสัมปทาน 33 ปีแบ่งเป็นก่อสร้าง 3 ปีและงานบริหาร 30 ปี โดยมีกรรมสิทธิ์โครงการแบบ BTO คือภาคเอกชนต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้รัฐบาลทั้งหมดเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว คาดจะเปิดประมูลปี 2562-2563 เริ่มต้นก่อสร้างปี 2566 ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณยานพาหนะบนถนนเส้นดังกล่าวมากกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมดจะหันมาใช้ทางยกระดับเมื่อเปิดให้บริการ ปัจจุบันมีปริมาณราว 170,000 คัน/วัน

นายอานนท์ กล่าวต่อว่าตัวเลขคาดการณ์ปริมาณจราจรในโครงการนี้ในปีแรกที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 48,000 คัน/วัน แบ่งเป็นสัดส่วนรถยนต์ 4 ล้อ 85% และรถยนต์ขนาด 6 ล้อขึ้นไป 15% ก่อนเพิ่มเป็น 100,000 คันในปี 2036 คิดเป็นปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ก่อนจะเติบโตไปจนถึงระดับ 220,000 คัน/วัน ในปี 2051 ส่วนด้านประมาณการรายได้ในปีแรกที่เปิดบริการนั้นอยู่ที่ 1,095 ล้านบาท คิดเป็น 3ล้านบาท/วัน ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ปีละ 3,650 ล้านบาท ในปี 2036 คิดเป็นการขยายตัว 233% หรือคิดเป็น 10 ล้านบาท/วัน ก่อนจะมีรายรับช่วงปลายสัมปทานในปี 2051 จะอยู่ที่ 8,030 ล้านบาท คิดเป็น 22 ล้านบาท/วัน ขณะที่อัตราค่าผ่านทางของโครงการนี้นั้นสำหรับรถยนต์ 4 ล้อมีค่าแรกเข้า 10 บาทและคิดเพิ่ม 2 บาท/กม. ขณะที่รถยนต์ขนาด 6 ล้อจะมีค่าแรกเข้า 16 บาทและคิดเพิ่ม 3.2 บาท/กม. ส่วนรถยนต์มากกว่า 6 ล้อจะมีค่าแรกเข้า 23 บาทและคิดเพิ่ม 4.6 บาท/กม. ส่งผลให้ประมาณการค่าใช้จ่ายตลอดเส้นทางช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. แบ่งเป็น รถยนต์ 4 ล้อ 60 บาท รถยนต์ 6 ล้อ 96 บาทและรถยนต์มากกว่า 6 ล้อ 138 บาท

ทั้งนี้ รูปแบบโครงการจะเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 3.6เมตร โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณจุดเชื่อมต่อทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก และมีจุดสิ้นสุดโครงการช่วงบ้านแพ้ว ทั้งนี้ตามแผนนั้นจะต่อขยายเฟส 3 ไปวังมะนาวเพื่อบรรจบกับมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ

นายอานนท์ กล่าวตอนท้ายว่าสำหรับโครงการที่ต้องเร่งเปิดประมูลในช่วงสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้นั้นมีทั้งหมด 3 โครงการได้แก่ 1.โครงการทางยกระดับหมายเลข 35 เฟส 1 วงเงิน 1.05 หมื่นล้านบาท แบ่งประมูล 3 สัญญา จะประกาศเชิญชวนเอกชนในเดือนนี้ ก่อนเปิดประมูลปลายเดือนธ.ค.นี้ 2.โครงการบริหารงานระบบและบำรุงรักษามอเตอร์เวย์สองสาย ช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา และช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาทนั้นจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน และเปิดประมูลภายในเดือนธ.ค.นี้ คาดว่าจะได้ตัวเอกชนต้นปีหน้า ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดทีโออาร์ใหม่หลังปรับแก้ไขใหม่ 3.โครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนเข้าสู่การร่างทีโออาร์ต่อไป คาดว่าจะเร่งประมูลในปี 2562 ต่อไป

รายงานข่าวทล.ระบุว่าการเปิดเวทีในครั้งนี้ทีเอกชนเข้าร่วมอย่างคึกคักทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ รวมเอกชนเจ้าใหญ่ 19 ราย แบ่งเป็น งานก่อสร้าง 16 ราย อาทิ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD บริษัท
บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)
และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เป็นต้น ส่วนด้านงานระบบ มีสนใจ 3 ราย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสถาบันการเงินอย่างธนาคารญี่ปุ่นอีกด้วย