4 ปีรัฐบาลคสช.กับขวบปีแผนปฏิรูปโครงข่ายขนส่ง

0
258

ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ถนนทุกสายต่างมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง 62 โดยคาดการณ์จะมีขึ้นวันที่ 24 ก.พ.62 เป็นแรงส่งให้อุณหภูมิการเมืองไทยเวลานี้ร้อนปรอทแตกและถูกจับตาเป็นพิเศษจากนี้จนถึงวันเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งว่าใครกันแน่จะผงาดขึ้นแท่นเป็นนายกรัฐมนตรีกุมอำนาจบริหารบ้านเมืองคนต่อไป

ขณะที่การบริการประเทศของรัฐบาลคสช.ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเป็นนโยบายสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศระยะยาว พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2564 เพื่อวางรากฐานการลงทุนพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่อง และเชื่อมโยงระบบขนส่งทางราง ถนน น้ำ และอากาศเข้าไว้ด้วยกัน

ทว่า ตลอด 4 ปีรัฐบาลคสช.กับขวบปีการปฏิรูปโครงข่ายคมนาคมขนส่งต่างๆเดินหน้าไปถึงไหนบ้างแล้วนั้น Logistics Time ขอใช้เวทีนี้เป็นกระจกเงาสะท้อนผลงานและขมวดความคืบหน้าเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆดังนี้

ร.ฟ.ท ฟุ้งผลงาน 4 ปีกดปุ่มทางคู่สำเร็จ 7 โครงการ

ประเดิมด้วยระบบขนส่งทางรางที่รัฐบาลคสช.หมายมั่นปั้นมือพร้อมเดินหน้ากันสุดลิ่มหวังตอบโจทย์ด้านขีดความสามารถการแข่งขันและลดต้นทุนโลจิสติสก์ของประเทศให้ลดลง โดยล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท) โชว์ผลงาน 4 ปีด้วยการกดปุ่มลงทุนรถไฟทางคู่สำเร็จ 7 โครงการวงเงิน 2.1 แสนล้าน พร้อมตั้งเป้าเพิ่มความเร็วการเดินรถเป็น 120 กม./ชม.ชี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและลดต้นทุนโลจิสติสก์ของประเทศลง 2%

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ให้ความสำคัญสนองตอบต่อนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยนับตั้งแต่มีการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ปี58 จนถึงปัจจุบัน เป็น 4 ปีที่การรถไฟฯ สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ได้ตามแผนที่ยุทธศาสตร์กำหนดไว้จำนวน  7 โครงการวงเงินลงทุนกว่า 2.1 ล้านบาท

“โครงการรถไฟทางคู่ถือเป็นหัวใจการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โดยเมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จตามแผนจะช่วยเพิ่มความเร็วของขบวนรถขนส่งสินค้าจาก 35 – 40 กม./ชม. เป็น 70 กม. และรถไฟขบวนขนส่งผู้โดยสารเพิ่มความเร็วจาก 50 – 60 กม./ชม. เป็น 120 กม. และยังก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนไปสู่การขนส่งทางรางที่มีต้นทุนต่อหน่วยถูกลง อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงและส่งผลดีต่อการลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศจากปัจจุบันที่มีต้นทุนโลจิสติกส์เฉลี่ยร้อยละ14 ของจีดีพีให้ลดลงได้อีกร้อยละ 2 และยังก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้และเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นประโยชน์ต่อประเทศอีกมาก

รถไฟทางคู่เฟส 1 สะดุดตอ!

ขณะที่การรถไฟฯกำลังปลื้มปริ่มกับผลงาน 4  ปีอยู่นั้น ก็ต้องหุบรอยยิ้มกระทันหันหลังแหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 รวม 5 เส้นทางต้องเจอปัญหาการปรับแบบสถานียกสูง(High Platform) ที่ยังไร้ข้อสรุปของฝ่ายนโยบายจนอาจส่งผลกระทบต่อความล่าช้าของโครงการทั้งหมดของร.ฟ.ท.จนรักษาการผู้ว่าการรถไฟฯต้องออกโรงแจงประเด็นร้อนดังกล่าวว่าปัจจุบันชานชาลาที่มีใช้งานอยู่ทั่วประเทศของการรถไฟฯ เป็นรูปแบบชานชาลาต่ำ ซึ่งการปรับระดับความสูงของชานชาลาให้เป็นชานชาลาสูงนั้น จะต้องพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการให้น้อยที่สุด

“การที่จะปรับเปลี่ยนชานชาลาทั้งหมดทั่วประเทศให้เป็นชานชาลาสูงต้องคำนึงถึงผลกระทบในหลายๆ ด้าน การรถไฟฯ  จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาระดับความสูงของชานชาลาที่เหมาะสม มาเพื่อพิจารณาระดับความสูงของชานชาลาที่เหมาะสมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินการและมาตรการรองรับในช่วงที่การรถไฟฯ ต้องทำการปรับระดับความสูงของชานชาลา อาคารสถานี และขบวนรถไฟ เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากที่สุด คาดจะใช้ระยะเวลาศึกษา 3 เดือน”

ส่วนกรณีอาจส่งผลกระทบต่อความล่าช้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 จำนวน 5 เส้นทางนั้น การรถไฟฯ ขอเรียนชี้แจงว่าได้สั่งการให้ผู้รับเหมาทำการก่อสร้างเป็นรูปแบบชานชาลาต่ำไว้ก่อน โดยกำหนดให้โครงสร้างสามารถรองรับการปรับปรุงให้เป็นชานชาลาสูงได้โดยไม่ยุ่งยากและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ดังนั้น ผู้รับเหมาจึงสามารถดำเนินงานก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างแต่อย่างใด

4 ปี ไฮสปีดเทรนไทย-จีน “อืดเป็นเรือเกลือ”

ส่วนไฮสปีดแทรนไทย-จีนโครงการในฝันที่นำร่องช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลไทยปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งถึงวันที่ 19 ธ.ค. ศกนี้ก็จะครบ 4 ปีแล้ว นับเป็น 4 ปีที่รัฐบาลต้องกุมกะมับกับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วรัฐบาลไทยต้องประกาศเป็นผู้ลงทุนโครงการเองทั้งหมดท่ามกลางกระแสวิพากย์วิจารณ์หนาหูว่าเป็นโครงการที่ไม่คุ้มทุนสร้างไปก็การันตีได้ถึง”มหกรรมขาดทุน”

“ถึงกระนั้นรัฐบาลก็ยังดันทุรันเดินหน้าต่อสุดลิ่มโดยโดยจ้างจีนเป็นผู้ก่อสร้างและไม่มีการให้สัมปทานหรือร่วมทุนใดกับประเทศจีนรวมทั้งได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานจากรถไฟความเร็วปานกลางเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ 250 กม./ชม. โดยฝ่ายจีนได้ดำเนินการปรับปรุงการออกแบบใหม่ใช้เวลาอยู่หลายเดือนกว่าจะคลอดแบบก่อสร้างเฟสแรกสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. เป็นงานถมคันทาง โดยกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ วงเงิน 425 ล้านบาท เริ่มงานเมื่อเดือน ธ.ค. 60”

จนถึงขณะนี้แค่เฟสแรกงานถมคันทางระยะทาง 3.5 กม.ก็ยังอืดเป็นเรือเกลือเหตุคืบหน้าได้ไม่ถึง 50 %คงไม่ต้องจินตนาการถึงงานก่อสร้างส่วนที่เหลืออีก 13 สัญญา และยากเหลือเกินจะคิดไปไกลว่าโครงการในฝันนี้จะใช้เวลากี่ปีกว่าจะแล้วเสร็จ และจะยังกล้าการันตีการเปิดใช้ทันตามไทม์ไลน์ที่กำหนดในปี 66 หรือไม่?

และคงไม่ต้องสาธยายถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่นเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ เฟสแรกกรุงเทพ-พิษณุโลก กับความฝันหวังปั้น “พิษณุโลก”ให้เป็นศูนย์กลางเชิงพาณิชย์ของรถไฟไฮสปีดเส้นนี้ป่านนี้รัฐบาลไทยยังสะกดคำว่า “รูปธรรม” ไม่ถูก!

มอเตอร์เวย์3 สาย “กาญจนบุรี”ช้ากว่าแผน

ขณะที่ความคืบหน้าการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ระบบขนส่งทางถนน คงต้องโฟกัสไปที่การเร่งก่อสร้างมอเตอร์เวย์โปรเจ็กต์มาสเตอร์พีซ 3 สายใช้เงินลงทุนกว่า 1.6 แสนล้าน เริ่มสาย “พัทยา-มาบตาพุด” ระยะทาง 32 กม.เงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า90% ตามไทม์ไลน์จะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 61 เริ่มทดสอบระบบปี 62 และเปิดใช้งานเต็มรูปแบบปี 63 ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานพัฒนาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ปี 2560-2564 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

ขณะที่สาย “บางปะอิน-นครราชสีมา” ระยะทาง 196 กม. เงินลงทุน 8.4หมื่นล้านบาท มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 50 % ถือเป็นความคืบหน้าเร็วกว่าแผนอย่างมาก กำหนดแล้วเสร็จปี 63 ปัจจุบันกำลังเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานระบบเก็บค่าผ่านทาง และบำรุงรักษาโครงการ (O&M) เป็นรูปแบบ PPP Gross Cost 30 ปี ที่จะดำเนินการพร้อมกับสายบางใหญ่-กาญจนบุรี

สำหรับสาย “บางใหญ่-กาญจนบุรี” ระยะทาง 96 กม. เงินลงทุน 5.5หมื่นล้าน คืบหน้าการก่อสร้างไปแล้วเพียงแค่ 10%  ถือเป็นสายที่ล่าช้ากว่าแผน 6-8 เดือน สืบเนื่องจากติดเรื่องการเวนคืนที่ดินที่วงเงินเพิ่มขึ้น ถึงกระนั้นโครงการนี้ กรมทางหลวง (ทล.)พยายามจะให้แล้วเสร็จตามกำหนดในปี 63

ทั้งนี้ เมื่อทั้ง 3 สายแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคต่าง ๆ ของประเทศ ด้วยแนวเส้นทางที่ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค มีการเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆรวมถึงการขนส่งทางรถไฟและทางอากาศ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน

เอกชนยักษ์ใหญแห่ชิง “แหลมฉบังเฟส 3”

ขณะที่โครงข่ายระบบขนส่งทางน้ำโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) กระทรวงคมนาคม ในรอบขวบปีนี้นอกเหนือจากการสรรหาผู้อำนวยการกทท.คนใหม่ที่ว่างเว้นร่วมขวบปีที่ถูกจับตาเป็นพิเศษแล้ว คงต้องโฟกัสไปที่เมกะโปรเจ็กต์อย่างการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง(ทลฉ.)มูลค่า 8.4 หมื่นล้าน 1 ใน 5 เมกะโปรเจ็กต์ EEC มูลค่า 6.5 แสนล้านที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)กดปุ่มไฟเขียว

ภายหลังท่าเรือแหลมฉบัง(ทลฉ.)ได้ประกาศเชิญชวนและขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3  ปรากฏว่านักลงทุนทั้งไทยและเทศร่วม 32 รายแห่ชิงเค้ก 8.4 หมื่นล้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 ยักษ์ใหญ่อย่างเครือปตท. ,ซีพี,ไอทีดี และซีอาร์ซีซีจากจีนไม่พลาดกระโดดร่วมแจมด้วยเช่นกัน

ตามไทม์ไลน์จากนี้ไป กทท.มีกำหนดให้เอกชนยื่นขอเสนอจำหนวน 5 ซองในวันที่ 14 ม.ค.62 และจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในเดือนก.พ.62 โดยเมกะโปรเจ็กต์นี้จะเป็นแบบ PPP Net Cost แบ่งเป็นกทท.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ 5.3 หมื่นล้าน ขณะที่เอกชนจะลงทุนมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านเพื่อพัฒนาท่าเรือและรับสัมปทานการบริหารนาน 35 ปี

กทท.โชว์ผลงานปีงบ’61 ตู้สินค้าผ่านท่ารวม 9.513 ล้านที.อี.ยู.

ขณะที่ผลการดำเนินงานปีงบประมาณ2561 (ตุลาคม 2560 – กันยายน 2561) นั้นร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งปรเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่าเศรษฐกิประเทศไทยปี61 ช่วงครึ่งปีแรกยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ GDP ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น การบริโภค รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้การส่งออกขยายตัวมากขึ้น

“สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของ กทท. (ทกท. และ ทลฉ.) ที่เติบโตสูงขึ้นทั้งปริมาณสินค้าผ่านท่าและตู้สินค้า โดยในปีงบประมาณ 2561 กทท. มีตู้สินค้าผ่านท่าทั้งสิ้น 9.513 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.685 และปริมาณสินค้าผ่านท่า 108.567 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.656 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน”

สะดุดดราม่า!“เทอร์มินัล2 สุวรรณภูมิ”

ปิดท้ายด้วยความคืบหน้าการการก่อสร้างโครงข่ายระบบขนส่งทางอากาศในรอบขวบปี 61นี้คงไม่มีอะไรร้อนแรงไปกว่าปมการก่อสร้าง “เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ”วงเงิน 4.2 หมื่นล้าน ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงถึงความไม่ชอบมาพากลของการดำเนินการทั้งกรณีแบบอาคารเจ้าปัญหา ตลอดถึงทำเลที่ตั้งอาคารที่ถูกมองว่าผิดเพี้ยนและ ไม่ได้เป็นไปตามแผนแม่บท (Master Plan)การขยายสนามบินสุวรรณภูมิที่จัดทำไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งอาจจะนำไปสู่หายนะด้านการบริหารจัดการสนามบินในภาพรวมได้ในอนาคต

ถึงกระนั้น ทอท.เมินกระแสสังคมโจมตีก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่2 ไม่เป็นไปตามแผนแม่บท ยืนยันสร้างตามคำแนะนำของ ICAO ณ ทำเลที่ตั้งดังกล่าว ขณะที่อาคารผู้โดยสารตามแผนแม่บทเดิมฝั่งถนนบางนา-ตราด ก็จะสร้างตามมาเหมือนกัน แต่จะอยู่ในเฟส 5 ก็คือ South Terminal ตามแผนก่อสร้างปี 68 แล้วเสร็จปี 73 ตามที่Logistics Timeได้ตีแผ่ไปก่อนหน้านี้แล้ว

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาเป็นพิเศษถึงการลุยไฟเร่งรีโนเวต 4 สนามบินที่ทอท.ได้รับมอบจากรมท่าอากาศยานได้แก่ สนามบินอุดรธานี ชุมพร ตาก และสกลนคร หลังมีข้อยุติด้านข้อกฎหมายและกรมธนารักษ์เรื่องดำเนินการโอนย้ายแล้วโดยทอท.จะขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับปรุง 4 สนามบิน วงเงิน 3,500 ล้านบาทได้ทันภายในสิ้นปีนี้หรือไม่?

แม้ 4 ปีรัฐบาลคสช.กับขวบปีการลุยไฟโครงข่ายคมนาคมขนส่งต่างๆ มีบางเมกะโปรเจ็กต์เท่านั้นที่เร็วกว่าแผน นอกนั้นอืดเป็นเรือเกลือบ้าง เพิ่งตั้งไข่ได้บ้าง และมีบางเมกะโปรเจ็กต์ที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “โครงการขายฝัน” และจ่อพุ่งชน “ความล้มเหลว” ทว่า เมกะโปรเจ็กต์เหล่านี้จะถูกสานต่อหรือไม่? หรือใครจะเป็นผู้รับไม้ต่อ?

…หลังศึกเลือกตั้ง 62 จะกำหนดชะตากรรม!