ส่องทิศทาง 70ปีการท่าเรือฯพุ่งเป้าท่าเรือชั้นนำโลก เชื่อมข้อมูลโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ

0
515

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามวงล้อเศรษฐกิจโลกตามแนงโน้มถ่วงเทรนด์เทคโนโลยีโลก ผสมโรงด้วยพลังพฤติกรรมผู้บริโภค ทุกองค์กรจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ แสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าทั้งในและต่างประเทศ พร้อมนำพาองค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในทิศทางที่ควรจะเป็น

ตลอดระยะเวลา 7 ทศวรรษปีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะองค์กรผู้นำด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ของประเทศ ได้พัฒนาองค์กรมุ่งเน้นการบริการที่เป็นเลิศและทันสมัย เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศด้านศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำและโลจิสติกส์  เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เวทีการค้าโลก พร้อมเดินหน้าผลักดันภารกิจรองรับ “ภาคธุรกิจส่งออกไทย” อีกหนึ่งในเครื่องยนต์หลักทางธุรกิจ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อเนื่องทุกปี

ทว่า ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ที่กินเวลามาแล้วขวบปีกว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจการขนส่งทางน้ำที่มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Logistics Time ขอใช้พื้นที่นี้ประมวลภาพรวมผลการดำเนินด้านนโยบายและทิศทางการบริหารของการท่าเรือฯในปีปีงบประมาณปี 64 ในโอกาสครบรอบ 70 ปีที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ดังนี้

ปริมาณสินค้า-ตู้สินค้ามีทิศทางค่อยฟื้นตัวหลังมีวัคซีน

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ฉายภาพถึงผลการดำเนินงานของการท่าเรือฯในปีงบประมาณ 2564 ว่าปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงอยู่ที่ 6.24% หรือคิดเป็น 25.762 ล้านตัน และตู้สินค้าผ่านท่า ลดลง 2.81% หรือ 2.311 ล้าน ที.อี.ยู. ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

“ทว่าหลังจากที่ประเทศไทยและหลายประเทศมีวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่า มีทิศทางฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยหลักสะท้อนการเติบโตของปริมาณสินค้า ซึ่งส่งผลให้ในเดือนมกราคม 2564 ปริมาณสินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 3.57% อยู่ที่ 9.253 ล้านตัน จาก 8.934 ล้านตัน และตู้สินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 2.66% อยู่ที่ 773,055 ที.อี.ยู. จาก 753,042 ที.อี.ยู.”

70 ปีการท่าเรือฯมุ่งยกระดับท่าเรือชั้นนำโลก

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของการท่าเรือฯ ในโอกาสครบรอบ 70 ปี นั้น ผอ.กทท.ระบุว่าการท่าเรือฯมีแผนจะยกระดับเป็นท่าเรือชั้นนำที่ได้มาตรฐานสากล โดยมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนในการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีมาตรฐานในระดับโลก การพัฒนาสู่การเป็นประตูการค้าหลักและศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง

“อีกทั้งยังการพัฒนาสินทรัพย์ในเชิงธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาการให้บริการและยกระดับการทำงานมุ่งสู่การเป็นองค์กร สมรรถนะสูง ด้วยการนำระบบ Port Community System (PCS) หรือระบบศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์แบบ ไร้รอยต่อ ทั้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ทั้งภาครัฐและเอกชนมาใช้ เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการรองรับโครงข่ายการเชื่อมโยงด้าน Logistics ในระดับนานาชาติ”

เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือของประเทศ

เรือโท กมลศักดิ์ กล่าวต่อว่าการท่าเรือฯจะเดินหน้าเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือของประเทศ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือภูมิภาค โดยจะเร่งพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ขยายพื้นที่รองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มากขึ้น สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 18 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี ตลอดจนพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับให้ท่าเรือแหลมฉบังกลายเป็นท่าเรือหลักของภูมิภาค และเป็นเมืองท่าแห่งอนาคต

“อีกหนึ่งโครงการ คือ การพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อก่อสร้างลานขนถ่ายตู้สินค้า  ทางรถไฟบนพื้นที่ 600 ไร่ ให้สามารถรองรับรถไฟได้ 12 ขบวน พร้อมติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) ซึ่งจะรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี รวมทั้งโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ) ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ และระบบโลจิสติกส์ได้อย่างครบวงจร”

กรุยทางสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573

ผอ.กทท.ย้ำต่อสำหรับท่าเรือกรุงเทพได้มีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือทุ่นแรง รวมถึงกระบวนการทำงานภายในให้สามารถนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาให้เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง พัฒนารูปแบบการให้บริการและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีโครงการปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) และพัฒนาระบบขนส่ง และการขนถ่ายสินค้าให้มีโครงข่ายเชื่อมโยง (Logistics Chain) ภายในประเทศ ให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้า  ได้ 240,000 ที.อี.ยู.ต่อปี

“โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกในลักษณะท่าเรืออัตโนมัติมีการนำเอาระบบ Semi-Automated Operation ที่มีประสิทธิภาพ โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษ  สายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพื่อส่งเสริมระบบการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ และพัฒนาระบบการขนส่ง และเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ และยกระดับการให้บริการเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ รวมทั้งโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย และยกระดับชีวิตของชุมชนโดยรอบท่าเรือไปพร้อมกัน”

อย่างไรก็ดี เรือโท กมลศักดิ์ สรุปปิดท้ายว่าเราเชื่อมั่นว่าจากนี้ไปการท่าเรือฯ จะเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573”