“ใบขับขี่ดิจิทัล”ดีเดย์วันแรกส่อวุ่น!”ขนส่งฯ-ตร.”เสียงแตก!

0
245

ดีเดย์วันแรกก็ส่อวุ่นฝุ่นตลบกลบฝุ่นละลองพิษที่เล่นงานคนกรุงและปริมณฑลจนงอมพระรามในเวลานี้กับกรณีกรมขนส่งฯประกาศใช้ใบขับขี่ดิจิทัล  15 ก.พ.62 เปิดให้โหลดใส่ไว้บนมือถือใช้แทนบัตรจริงผ่านแอปพลิเคชัน “DLT QR Licence” ชูสรรพคุณไม่ต้องพกพาให้ยุ่งยาก ล้ำสมัยตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ยุค4.0

แต่ก็มิวายดันประสานงาสนั่นกับฟากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกโรงฟัดวุ่นแน่ ชี้กม.ยังไม่เปิดทาง เผยแจ้งไปยังกรมขนส่งฯให้เลื่อนใช้ใบขับขี่ดิจิตอลออกไปก่อนจนกว่าจะแก้กม.แล้วเสร็จสมบูรณ์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติระหว่างผู้ขับขี่กับตำรวจจราจร ย้ำหากขนส่งฯยังยืนยันตามกำหนดที่วางไว้โดยไม่รอกฎหมายใหม่ เชื่อมีปัญหาแน่ ลั่นขอตรวจไม่มีตัวจริงจับเหมือนเดิม

เห็นทิศทางการการขับเคลื่อน “นโยบาย-การปฏิบัติ”ทั้ง 2 หน่วยงานภาครัฐในเรื่องเดียวแล้วดูเหมือนจะประสานงากันโดยสิ้นเชิง ขนส่งฯไปทางตร.ก็ไปอีกทางวุ่นฝุ่นตลบ!

หากจะผ่าไส้ในให้สิ้นซากถึงโครงการใบขับขี่ดิจิทัลล้ำสมัยนี้ ที่กรมขนส่งฯดั้นเมฆพัฒนาเพื่อรองรับความสะดวกให้กับผู้ที่มีใบขับขี่ทั้งตลอดชีพและใบขับขี่ชั่วคราว รวมถึงประชาชนที่ต้องการจะสอบใบขับขี่ ทั้งใบขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์

โดยท่านอธิบดีกรมขนส่งทางบก “พีระพล ถาวรสุภเจริญ “ เปิดเผยว่าโครงการ DLT Smart Licence เป็นการพัฒนารูปแบบใบอนุญาตขับรถสู่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 4.0 หรือ Electronic Driving Licence เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถที่มีคิวอาร์โค้ด (QR Code) ด้านหลังบัตร โดยใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแอปพลิเคชัน “DLT QR Licence” จะปรากฏใบอนุญาตขับรถอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเสมือนจริงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมมีระบบแจ้งเตือนให้มาดำเนินการเปลี่ยนชนิดใบอนุญาตขับรถ (จากชนิดชั่วคราวเป็นชนิดส่วนบุคคล 5 ปี) หรือขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถล่วงหน้า

“ทำให้สามารถวางแผนการดำเนินการล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังมีข้อมูลที่นอกเหนือจากที่ปรากฏบนหน้าบัตร เช่น ประวัติการแพ้ยา, กรุ๊ปเลือด, โรคประจำตัว, สิทธิการเข้ารับการรักษาพยาบาล, หมายเลขโทรศัพท์ผู้ที่สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะมีเมนู SOS ขอความช่วยเหลือ สามารถโทรแจ้งหรือส่ง SMS ไปยังบุคคลดังกล่าวในกรณีฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว และผู้ให้ความช่วยเหลือสามารถตรวจสอบข้อมูลของเจ้าของบัตรก่อนที่จะทำการรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้”

เท่านั้นยังไม่พอ ยังครอบคลุมการดูแลความปลอดภัยการเดินทางทุกรูปแบบ ผู้ใช้งานสามารถแชร์เส้นทางการเดินทางให้ครอบครัวหรือผู้อื่นทราบ เช่น ผู้ปกครองต้องการทราบเส้นทางการเดินทางของบุตรหลาน หรือการแชร์หมายเลขทะเบียนรถโดยสารสาธารณะอีกด้วย

สรรพคุณยังไม่ยุดแค่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ยังสามารถตรวจความถูกต้องของบัตรได้โดยสแกน QR CODE ผ่านแอปพลิเคชั่นได้ อีกทั้งยังตรวจสอบใบสั่งของผู้ถือบัตรที่เคยได้รับทั้งหมด กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินก็สามารถแสดงตำแหน่งผู้ใช้งานได้

หยุด!ความดีอกดีใจของผู้คนจะได้ใช้บัตรขับขี่ดิจิทัลล้ำสมัยจากรมขนส่งฯในฐานะผู้ออกบัตรเอาไว้ก่อน!

ข้ามฟากมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้ต้องปฏิบัติหน้าที่เรียกตรวจ-ยึดใบขับขี่นี้โดยตรง ตามความเข้าใจของวิญญูชนแล้ว ตร.นี่แหล่ะคือผู้ตกเป็น “สายล่อฟ้า” ที่มีข้อพิพาทกับประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะเป็นข่าวรายวัน ดุจเป็น “เครื่องมือ” ทำมาหากินและเรียกผลประโยชน์เข้ากระเป๋าของเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำเลวบางคนบางกลุ่ม ก็เพราะไอ้ใบขับขี่เจ้าปัญหานี่แหล่ะ ที่ใครได้-มีมาแล้วต้องเก็บรักษาและหวงยังกะ“ไข่ในหิน”ซะอีก

บทจะได้มาจากกรมขนส่งฯก็ยากเย็นแสนเข็ญ แต่บทจะหายไปชั่วพริบตาก็ตกเป็น “ตัวประกัน”ในมือคุณตำรวจเป็นที่เรียบร้อย ถ้าไม่ยื่น “หมา-แมว” ก็อาจไม่คืน จนถูกสังคมค่อนแคะเสมอว่ากรมขนส่งฯเป็นผู้ออกใบขับขี่ได้ค่าธรรมเนียมเพียงแค่น้อยนิด แต่กลับถูกตีราคาค่างวดตามใจปรารถนาของเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกแถวบางคน นำไปเป็นตัวประกันขูดรีดเลือดเนื้อประชาชนตาดำๆก็เพราะใบขับขี่ใบเดียว

ก่อนหน้านี้ หลังกรมฯจุดพลุเตรียมคลอดใบขับขี่ดิจิทัลดีเดย์ 15 ม.ค.62 มีข่าวตามสื่อออกมาเป็นระลอกนัยยะว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างยังไม่ได้รับการประสานงานจากรมขนส่งฯกับเรื่องใบขับขี่ดิจิทัลนี้แต่อย่างใด พร้อมกับอ้างว่าเจ้าใบขับขี่ล้ำสมัยนี้อาจเกิดปัญหาในการปฏิบัติ-ใช้งานจริงได้ของคุณตำรวจทั้งหลายได้ เช่น กรณีหากผู้ขับขี่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจแล้วไม่มีความผิดอะไรก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากทำผิดกฎหมายจราจรแล้วจำเป็นต้องยึดใบขับขี่ตามลักษณะความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว

คุณพี่ตำรวจก็ไม่สามารถกระทำการอันใดได้เลยทั้งการออกใบสั่งให้ชำระค่าปรับตามลักษณะความผิดที่ต้องเรียกเก็บใบขับขี่ ออกใบสั่ง และออกเป็นใบขับขี่ชั่วคราว เพราะปัจจุบันการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรมฯกับสตช.ยังทำไม่ได้ เช่น เรื่องใบสั่งอัตโนมัติและการอายัดทะเบียนก็ยังไม่สามารถเชื่อมเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลกันได้

แปลให้ฟังง่ายๆเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจจะยึดเอาพระแสงอะไร?เพื่อประโยชนฺ์อันใด?

ยิ่งเป็นการตอกตะปูความไม่ลงล็อคการประสานงานทั้ง 2 หน่วยงานภาครัฐเมื่อกรมฯยืนยันตามกรอบเวลาเดิมการประกาศใช้ใบขับขี่ดิจิดัล(15 ม.ค.62)ทั้งๆที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยทักท้วงไปก่อนหน้านี้ เมื่อพล.ต.ต.เอกลักษณ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในฐานะคณะทำงานแก้ไขกฎหมาย สตช. ออกโรงชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่าตามที่กรมขนส่งฯนำใบขับขี่ดิจิทัลมาใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.นี้ ในทางปฏิบัติการเรียกตรวจผู้ขับขี่ที่กระทำความผิดกฎหมายจราจร ผู้ขับขี่จะต้องแสดงใบอนุญาตขับขี่ต่อเจ้าพนักงานตำรวจจราจร และหากกระทำผิดจริง ตำรวจมีอำนาจยึดใบอนุญาตขับขี่และออกใบสั่งให้ผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับตามกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 140 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกปี 2522 ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขเรื่องการยกเลิกเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ เพื่อให้รองรับการใช้ใบขับขี่ดิจิทัลตามที่กรมการขนส่งฯ เสนอ โดยจะเสนอเข้าที่ประชุม สนช. เพื่อพิจารณาวันที่ 17 ม.ค.นี้

ดังนั้น ระหว่างนี้ตำรวจจราจรยังมีอำนาจที่จะยึดใบอนุญาตขับขี่ หากไม่สามารถนำใบอนุญาตขับขี่มาแสดงได้ จะมีความผิดเพิ่มอีกข้อหาไม่พกพาใบอนุญาตขับขี่ ขณะนี้กม.2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.จราจรทางบก กับ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก “ขัดแย้งกัน” โดย สตช.ได้แจ้งไปยังอธิบดีกรมขนส่งฯทราบแล้ว เพื่อขอให้เลื่อนการใช้ใบขับขี่ดิจิทัลออกไปก่อน จนกว่าการแก้ไขกฎหมายจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติระหว่างผู้ขับขี่กับตำรวจจราจร อย่างไรก็ตาม หากกรมการขนส่งฯยืนยันจะใช้ใบขับขี่ดิจิทัลตามกำหนดที่วางไว้โดยไม่รอกฎหมายใหม่ เชื่อว่า จะมีปัญหาแน่นอน เพราะตำรวจจราจรมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นกัน (อ้างอิงข่าวจาก https://www.thairath.co.th/content/1470009)

มันสะท้อนถึงอะไรไม่ได้เลยนอกจากถูกตีแสกหน้าจากภาคประชาชนว่าเป็นนโยบายที่ขาดความรอบคอบ ย้ำตะปูความล้มเหลวซ้ำซากถึงวิธีการทำงานของภาครัฐที่ขาดการประสานงานของทุกฝ่ายเกี่ยวข้องให้ชัดเจนก่อนเสนอ(หน้า)?

แต่พอเรื่องมันแดงงามหน้าขึ้นมาก็…ขายหน้ากันทั้ง 2 ฝ่าย เข้าทำนอง “นโยบายผักชีโรยหน้า”ดีๆนี่เอง!

:ปิศาจขนส่ง