กทท.ผนึก กพร.MOU พัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านป้อนงานท่าเรือ

0
121

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายสมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ให้เกียรติมาเป็นประธานและสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาบุคลากรและบุคคลทั่วไป ระหว่าง กทท. และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) โดยมี ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. และนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นผู้ลงนามฯ เพื่อพัฒนาหลักสูตรพัฒนาทักษะเฉพาะด้านเกี่ยวกับการปฏิบัติงานท่าเรือ ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารที่ทำการ กทท.

สำหรับโครงการดังกล่าว กทท. ได้ให้บริการหลักสูตรพัฒนาทักษะเฉพาะด้านเกี่ยวกับ การปฏิบัติงานท่าเรือ เช่น หลักสูตรการฝึกขับเครื่องมือทุ่นแรง หลักสูตรการดับเพลิงขั้นต้น หลักสูตรการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ หลักสูตรการจัดการสินค้าอันตราย ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษขององค์กร ที่สามารถดำเนินการเผยแพร่สร้างความรู้ให้แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวได้รับความชื่นชมในมาตรฐานการฝึกอบรม และเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการภายนอก สอดรับกับกลยุทธ์เรื่องการสร้างความนิยมและยอมรับ ความเข้าใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกิจการท่าเรือ อีกทั้งเป็นการตอบแทนสังคม (CSR) ให้กับชุมชนรอบท่าเรือทั้งในกรุงเทพและส่วนภูมิภาค ในลักษณะการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้กับบุคคลทั่วไป สร้างประโยชน์ให้กับสังคมผ่านทรัพยากรของ กทท. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นการขยายการทำงานให้เกิดประโยชน์สร้างรายได้ให้กับองค์กร และกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่อยู่ภายในโครงการฯ ได้รับวุฒิบัตรการรับรองมาตรฐานที่สามารถนำไปใช้ประกอบในการปฏิบัติงาน กทท. จึงได้ประสานความร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ออกแบบหลักสูตรร่วมกัน ทั้งในส่วนของการกำหนดหลักสูตร หัวข้อวิชา ระยะเวลาการประเมินผลฯ พรัอมทั้งมีการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของหน่วยงาน จนได้ข้อสรุปของกรอบความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาบุคลากรและบุคคลทั่วไป ให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะฝีมือสูงขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาให้บุคคลทั่วไปมีศักยภาพ มีฝีมือแรงงานที่มีมาตรฐานเพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต่อไป สร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคคลทั่วไป และสถานประกอบการ รองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต