แก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 หรือแค่…แก้ผ้าเอาหน้ารอด?

0
265

ผลพวงจากปัญหาค่ามฤตยูฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ที่ยังไม่ผ่อนแรงเล่นงานมนุษย์เมืองกรุงและปริมณฑลปาเข้าไปร่วมเดือนแล้ว เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจนงอมพระราม ส่งแรงกระเพื่อมให้หน่วยงานรัฐตื่นตัวพร้อมคลอดสารพัดมาตรฐานการแก้ไขปัญหายังกะเปิดสงครามล้างฝุ่นพิษให้สิ้นเผ่าพันธุ์

แต่มิวายถูกสังคมวิพากษ์หนักและกังขาว่านี่มัน“มหกรรมแก้ผ้าเอาหน้ารอด”?

โดยเฉพาะการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ที่เป็น 1 ในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยเฉพาะยิ่งบรรดารถยนต์ทีใช้น้ำมันดีเซล ที่ถูกมองว่าเป็นตอปัญหาถึง 60 %

การตื่นตัวดังกล่าว นำมาซึ่งหลากหลายแก้ปัญหาไล่ดะตั้งกระทรวงคมนาคมไล่บี้ให้ขสมก.เร่งดำเนินการปรับจูนเครื่องยนต์รถเมล์ 2,075 คันให้สามารถรองรับน้ำมันไบโอดีเซล B20 การบูรณาการความร่วมมือกันปูพรมตั้งด่านตรวจจับรถยนต์-รถโดยสารประจำทางที่ใช้รถควันดำออกวิ่งให้บริการ

ขณะที่แวดวงค่ายรถใหญ่ก็มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ โดยเจ้ากระทรวงพลังงาน “ศิริ จิระพงษ์พันธ์”เชิญบรรดาค่ายรถบรรทุกหลังไล่บี้ให้ผลิตรถบรรทุกที่มีเครื่องยนต์ใช้ได้กับ B20 ได้ ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีค่ายรถค่ายไหนตอบรับหรือเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ หรือยังแปลงร่างเป็น “เสือซุ่ม” ดูสถานการณ์กันอยู่จะเอาไงดี?

ก่อนหน้าที่ค่ายรถใหญ่ฮีโน่ก็ออกโรง“ฮีโน่” ร่อนหนังสือถึงตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุก ตอกย้ำทุกรุ่นใช้ดีเซล (บี 7) ได้เท่านั้นแต่ไม่สามารถใช้ได้กับบี 20 เพราะอาจมองว่าเป็นการดำเนินธุรกิจย้อนหลังกลับไปหาเทคโนโลยีเก่าไม่คุ้มทุนกับการลงทุน ส่วนค่ายอื่นๆจะตอบรับหรือมีความเคลื่อนไหวหรือไม่ ต้องจับตาเป็นพิเศษ หรือจะเงียบหายไปกับกลีบเมฆ

แม้บางค่ายจะออกโรงยืนยันเครื่องยนต์ทุกรุ่นสามารถปรับใช้ได้กับทุกน้ำมันทางเลือกก็ตาม แต่ทว่า ค่าใช้จ่ายการปรับจูนเครื่องยนต์แพงหูฉี่ระดับ 6 หมื่นบาทขึ้นไปนั้น ผู้ประกอบการจะรับไหว หรือคุ้มค่าหรือไม่?ผสมโรงกับปั้มน้ำมันเพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งเข้าไปเติมอีกร่ะ พิกัดมันอยู่ตรงมุมไหนของโลกนี้?

ยังไม่แค่นั้น กรมควบคุมมลพิษ ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ สั่งการไปยังผู้ประกอบการกลุ่มโรงกลั่นนํ้ามันจำนวน 6 โรง ประกอบด้วย โรงกลั่นไทยออยล์ โรงกลั่นบางจาก โรงกลั่นพีทีทีจีซี โรงกลั่นไออาร์พีซี โรงกลั่นเอสพีอาร์ซี และโรงกลั่นเอสโซ่ ให้เร่งรัดการปรับปรุงกระบวนการผลิตนํ้ามันจากปัจจุบันบังคับใช้นํ้ามันมาตรฐานยูโร 4 ให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 เพื่อลดมลพิษค่ากำมะถันลงมาเหลือ 10PPM เทียบกับยูโร4อยู่ที่ 50 PPM

โดยทางกระทรวงพลังงานยืนยันว่าเร็วๆนี้ จะเห็นความชัดเจนถึงแผนการลงทุนของกลุ่มโรงกลั่นนํ้ามันดังกล่าวที่คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ในการปรับปรุงขบวนการผลิตนํ้ามันออกมา แม้ว่าบางโรงกลั่นจะไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าต้นเหตุไม่ได้เกิดจากคุณภาพของนํ้ามัน แต่เกิดจากการสึกหรอของเครื่องยนต์ ที่เกิดการใช้งานเป็นเวลานาน อีกทั้ง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จะส่งผ่านไปยังผู้บริโภคอีก 50-60 สตางค์ต่อลิตร ประกอบกับการใช้มาตรฐานนํ้ามันยูโร 4 ของไทยถือว่าสูงสุดในภูมิภาคนี้ และยังไม่มีการประกาศออกมาเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่าจะต้องปรับปรุงไปสู่มาตรฐานยูโร 5 เมื่อใด หากต้องลงทุนเพิ่มขึ้น ทางภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนโครงการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้นจากของเดิมที่มีอยู่

ขณะที่อาจารย์มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน เปิดเผยว่า การปรับปรุงมาตรฐานการกลั่นยูโร 5 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลต่อค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และจะมีผลต่อต้นทุนราคานํ้ามันที่ปรับเพิ่มขึ้น 50-60 สตางค์ต่อลิตร จากเดิมที่เคยศึกษาไว้เมื่อ 2 ปีก่อนที่ 3.5 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น การเร่งรัดเพื่อลงทุนให้เร็วขึ้น รัฐบาลคงจะต้องให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนแก่โรงกลั่นมากขึ้นจากของเดิมที่มีอยู่ โดยเฉพาะโรงกลั่นส่วนใหญ่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี คงต้องมาพิจารณาว่า จะให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนภายใต้อีอีซีได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม การปรับมาตรฐานยูโร 5 คงไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นลงได้ เพราะต้นเหตุมาจากรถยนต์เก่า ที่เกิดจากการสึกหรอของเครื่องยนต์

ถึงกระนั้น กระทรวงพลังงาน ยังเดินหน้าไปให้สุดขอบฟ้าไม่ฟังเสียงนกเสียงกาด้วยการจับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “ปตท.-บางจาก” นำร่องเปิดขายB20 โดยประเดิม 10 แห่งในเขตกทม. – ปริมณฑล ดีเดย์ 1 ก.พ.นี้เป็นต้นไป

 ล่าสุด อาจารย์มนูญ ยังออกโรงจวกยับกระทรวงพลังงานในเรื่องนี้ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวทำนองส่งสัญญาเตือนภาครัฐ “การส่งเสริมใช้ B20 ระวังจะเจริญรอยตาม E85” โดยมีข้อความบางตอนว่า “…ผมจึงอยากให้กระทรวงพลังงานใคร่ครวญให้ดีๆเกี่ยวกับนโยบายการเปิดจำหน่าย B20 ตามปั้มน้ำมัน ถึงแม้จะเป็นการทดลองเพียงไม่กี่แห่ง และต้องการขายเฉพาะรถบรรทุกเท่านั้นก็ตาม

เพราะนอกจาก B20 ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานและรับประกันจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยทั่วไปแล้ว การส่งเสริมยังจะเป็นการสร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมันฯและผู้ใช้น้ำมันมากขึ้นในอนาคต เป็นภาระที่มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นตามยอดการจำหน่าย จนไม่สามารถเลิกได้ในที่สุด เหมือน E85 ที่เราไม่ควรส่งเสริมตั้งแต่แรก

สู้ใช้ความพยายามมาผลักดันน้ำมันดีเซล B7 ให้เป็น B10 น่าจะเป็นประโยชน์กว่าครับ !!!”

ระดับผู้เชี่ยวชาญออกโรงส่งสัญญาณเตือนเช่นนี้!พลังงานฯจะยอมชายตามองหรือไม่? หรือจะดั้นเฆมไปต่อแตะขอบฟ้าให้ได้?

แม้จะเห็นการตื่นตัวของทุกภาคส่วนในการเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ทำไปทำไปทำมามิวายถูกสังคมตั้งข้อสงสัยว่าภาครัฐแก้ปัญหาไม่ถูกจุด “เกาไม่ถูกที่คัน” เป็นการแก้ปัญหาแบบจับแพะชนแกะ หรือไม่? ทิศทางการแก้ปัญหาไปคนละทิศละทาง?

เป็นเยี่ยงนี้!จากเป้าหมายมีไว้พุ่งชน “การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5”

…ระวัง!จะกลายเป็นมหกรรม “แก้ผ้าเอาหน้ารอด”ไปวันๆ

:ปิศาจขนส่ง