ถอดบทเรียน“ค่าโง่โฮปเวลล์” สะกิด!“4เมกะโปรเจ็กต์EEC”

0
414

ทันทีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่8พ.ย.51ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาทไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีโดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด

ด้วยแรงโน้มถ่วง “ค่าโง่โฮปเวลล์หมื่นล้าน” จากโครงการสุดอัปยศที่รัฐต้องจ่ายให้กับเอกชนนั้นสังคมไทยอดเป็นห่วงไม่ได้ถึง 4 อภิมหาโปรเจ็กต์ EEC 6.5 แสนล้านอาทิ โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เป็นต้น ที่รัฐบาลคสช.กำลังปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการ พร้อมขีดเส้นตายต้องมีการลงนามเซ็นสัญญากับผู้ชนะการประมูลในทุกโครงการให้ทันก่อนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

ท่ามกลางความคาดหวังสูงสุดด้านเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาลจาก  4 เมกะโปรเจ็กต์นั้น ทุกภาคส่วนเกรงว่าโครงการเหล่านี้อาจพุ่งชนความล้มเหลวซ้ำรอย “ค่าโง่โฮปเวลล์”ที่นัยว่าเกิดจากทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยน้ำมือ “นักการเมือง-ข้าราชการ” น้ำเลวบางคนบางกลุ่ม แล้วทิ้งความขมขื่นและสะเทือนใจและกลับมาหลอกหลอนประชาชนคนไทยอีกหรือไม่?

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ออกโรงฝากข้อคิดสะกิดสติภาครัฐให้ถอดบทเรียนแสนแพงจากค่าโง่โฮปเวลล์ ก่อนมีการเร่งรัดหาผู้ชนะการประมูลในการลงทุนพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4เมกะโปรเจ็กต์ EEC ที่ถูกจับตาจากสังคมในเวลานี้ไว้อย่างน่าสนใจ

ทำไมประเทศไทยถึงต้องเผชิญชะตากรรม “โง่ซ้ำโง่ซาก”?

ดร.มานะ ได้ฉายภาพเบื้องต้นถึงการเสียค่าโง่จากโครงการโฮปเวลล์ว่าก่อนอื่นต้องบอกว่าโครงการนี้มันนานมากแล้วเกือบ 30 แล้ว เป็นโครงการความหวังในความทรงจำสำหรับคนกรุงเทพฯที่ฮือฮาและถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในเวลานั้น พอวันหนึ่งโครงการถูกยกเลิกการสัมปทาน เสาตอม่อที่หลงเหลือจากโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จเป็นอะไรที่น่าหดหู่มาก ยิ่งผมเป็นนักธุรกิจเวลาที่พาแขกบ้านแขกเมืองชาวต่างชาติที่มาติดต่อธุรกิจ เขามักจะถามว่านั่นคืออะไร บางคนก็พูดว่านั่นมันคือ Stonehenge เมืองไทย เป็นสิ่งมหัศจรรย์โลก

“จริงๆแล้วมันเป็นเรื่องน่าละอายที่เราต้องไปบอกเขาเหล่านี้เป็นผลมาจากโกงฉ้อฉลและการเห็นแก่ตัวของนักการเมืองบางคนที่ให้ทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างมาก และทุกคนยังหัวเราะว่ามันยังคงเป็นอนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลวและเป็นตราปาบคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้”

ชี้ ‘นักการเมือง’ มีส่วนชักใย “ทุจริตคอร์รัปชั่น”

กับประเด็นแล้วนักการเมืองมีส่วนให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่นั้น? ดร.มานะ ระบุต่อว่าครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราได้ยินว่าภาครัฐต้องจ่ายค่าโง่ให้กับภาคเอกชน ก็ต้องมองย้อนกลับว่าแล้วคนไทยโง่นักหรอ แล้วประเทศไทยถึงมีแต่นักการเมืองที่โง่ๆ หรือเราต้องมีข้าราชการโง่มากขนาดนั้นจริงหรอ จริงๆแล้วประเทศเรไทยเราไม่ได้โง่ ผมกลับมองว่าเราไม่โง่แต่เราฉลาดไม่แพ้ชาติอื่น เรามีนักการเมืองที่ดีๆจำนวนมาก ขณะเดียวกันเราก็มีข้าราชการที่ดีและเก่งจำนวนมากเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเรามีคนโกงที่มีโอกาสไปปกครองบ้านปกครองเมือง ใช้อำนาจสั่งการบ่อยครั้งและมากเกินไป

“เมื่อ 20-30 ที่แล้วเมื่อประเทศไทยต้องก่อสร้างโครงกสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ ก็ต้องไปพึ่งนักลงทุนต่างชาติ เวลาเขามาเรามักจะเสียเปรียบเขา เพราะคนเหล่านี้เขามีประสบการณ์ในการลงทุนใหญ่ในประเทศของเขาและอีกหลายประเทศมาแล้ว ด้วยประสบการณ์ทางธุรกิจเขาจะรู้เวลาทำสัญญาก่อสร้างโครงการต่างๆ เช่นโฮปเวลล์นี้ ประเทศไทยเรามีจุดอ่อนและช่องวางทางกฎหมายตรงไหน อะไรที่มันจะล่าช้าได้และรู้ว่าปัญหาในแต่ละประเทศนั้นจะเป็นอย่างไร”

นอกจากนี้ ดร.มานะ ย้ำอีกว่าประกอบกับความร่ำรวยของบริษัทเอกชนต่างชาติเหล่านี้ ทำให้เขาสามารถว่าจ้างทีมกฎหมายเก่งๆระดับโลกที่ผ่านประสบการณ์ไปทำสัญญาก่อสร้างกับรัฐในแต่ละประเทศทั่วโลกมาเป็นที่ปรึกษา  เขารู้ว่าประเทศไทยเรามีจุดอ่อนและช่องว่างทางกฎหมายยังไงเขาควรจะวางปมหรือเงื่อนไขอะไรไว้ตรงไหน อีกอย่างในอดีตข้าราชการไทยเราอาจจะไม่มีประสบการณ์ทัดเทียมกับเขาหรอก

“จนมาถึงวันนี้ความจริงของโลกก็คือว่าเทคโนโลยีและการค้าการลงทุนใหม่ๆ เราก้าวไม่ทัน การที่เราก้าวไม่ทันก็หมายความว่าเราไม่รู่ว่าเขาวางหมากกลอะไรไว้บ้าง ซ้ำร้ายกว่านั้นอีก เราต้องเผชิญกับนักการเมืองขี้โกงเข้ามาเป็นผู้ชักใย ตรงนี้แหล่ะที่ทำให้เกิดความเสียหายหนักเข้าไปอีก อะไรที่เราจะคัดค้างง้างก็กลับเสียหายไป”

สะกิดเตือน!อย่าให้ซ้ำรอย “ค่าโง่โฮปเวลล์”

ต่อประเด็นเป็นห่วง 4 เมกะโปรเจ็กต์ EEC จะซ้ำรอยค่าโง่โฮปเวลล์หรือไม่นั้น ดร.มานะ สะท้อนมุมมองว่าจากผลพวงค่าโง่โฮปเวลล์นี้ ทุกภาคส่วนต้องตื่นตัวกับเรื่องนี้อย่าให้เรื่องน่าอับอายแบบนี้หลอกหลอนเป็นตราบาปคนไทยอีกต่อไป ยิ่งปัจจุบันภาครัฐกำลังลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆด้วยเม็ดเงินมหาศาล ซึ่งล้วนแล้วเป็นโครงการสำคัญเพื่อวางรากฐานรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในอนาคต แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกโครงการต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยจำบทเรียนค่าโฮปเวลล์นี้ไว้เตือนสติ

“4เมกะโปรเจ็กต์ EEC วงเงินลงทุนสูงถึง6.5 แสนล้านมีความสำคัญและแตกต่างกันในรายละเอียดการลงทุนก่อสร้าง แต่ทุกโครงการอยู่ภายใต้การลงทุนที่ใช้กระบวนการลงทุนแบบ PPPคงไม่ใช่ผมคนเดียวเป็นคนทั้งประเทศฝากความหวังไว้กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบสามารถตอบข้อสงสัยของสังคมในประเด็นต่างๆได้”

อย่างไรก็ดี ดร.มานะ สรุปปิดท้ายว่าในขั้นตอนการเจรจาและเงื่อนไขต่างๆ รัฐเองก็ต้องรู้ทันชั้นเชิงทางธุรกิจของนักลงทุน ต้องดำเนินการทุกขั้นตอนโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ไม่เอื้อต่อกลุ่มเอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทุกอย่างต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

“4เมกะโปรเจ็กต์ในโครงการ EEC แม้จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล ตามภาครัฐประกาศไว้เพื่อเป็นการลงทุนเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมตามมา 300,000 ล้านบาทต่อปีส่งผลดีให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกปีละ 0.8-1% ถึงกระนั้นก็ต้องดำเนินการด้านกฎหมายอย่างรัดกุม หากไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะซ้ำรอยค่าโง่โฮปเวลล์ได้”