บทเรียนราคาแพง!“บังคับติด GPS”นโยบายติดจรวด‘มาเร็วเคลมเร็ว’

0
1141

กลายเป็น Talk of the town และ Unhappy Ending เพียงชั่วข้ามคืนจริงๆสำหรับแนวคิดการบังคับให้รถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนบุคคลทุกคันต้องติด GPS ทุกคัน ที่กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)ผุดไอเดียนี้ขึ้นหวังล้อมคอกปัญหาเกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรม กรุยทางสู่ผลงานชิ้นโบว์แดง

แต่ทว่า หลังถูกสื่อตีแผ่เป็นข่าวในโลกออนไลน์กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลอย่างหนัก ส่วนใหญ่ออกมาแสดงข้อคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยและยังคัดค้านแนวคิดดังกล่าว เพราะมองว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป

ด้วยพลังมหาศาลจากเสียงคัดค้านของพลเมืองโลกโซเชียลที่ถาโถมใส่แนวคิดดังกล่าวอย่างหนักหน่วง ร้อนไปถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มิอาจทนแรงต้านได้ถึงกับยอม “ยกธงขาว”พร้อมโยมเผือกร้อนให้นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)เคลียร์หน้าเสื่อแทน

Logistics Time ขอใช้เวทีนี้ไล่เรียง Time Line นโยบายติดจรวดบังคับรถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนบุคคลทุกคันต้องติด GPS ที่ตกอยู่ห้วงการ “เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป”เพียงชั่วข้ามคืนได้อย่างไร?


คุยโว!หากทำได้ไทยประเทศแรกโลก

แนวคิดร้อนฉ่าดังกล่าวเป็น 1 ใน 10 นโยบายที่เจ้ากระทรวงหูกวาง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เดินทางไปมอบให้แก่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.)ในวันที่ 21 ต.ค.62 และเปิดเผยในวันนั้นว่าตนได้มอบให้ขบ.ไปศึกษาการกำหนดให้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ หรือ GPS เพิ่มเติม นอกเหนือไปจากรถสาธารณะ 4 ประเภทที่ถูกบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว ได้แก่ รถบรรทุก รถตู้โดยสาร รถรับจ้าง และรถโดยสารขนาดใหญ่

“ เชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ในระดับหนึ่ง เพราะสามารถควบคุมความเร็วรถและตรวจสอบข้อมูลการขับขี่ได้ โดยเชื่อว่าการตั้งด่านสกัดจับนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น โดยจะให้ขบ. ทำการศึกษาราคาอุปกรณ์GPS รวมถึงค่าบริการรายเดือนนั้นจะต้องไม่แพง”

รมว.คมนาคม ระบุอีกว่าคาดจะเริ่มบังคับจากรถใหม่ก่อน โดยในเดือนนี้ปลัดกระทรวงคมนาคม และอธิบดีกรมการขนส่งจะไปหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อดูราคา GPS เพราะขณะนี้ราคาอุปกรณ์จีพีเอส ราคาปรับลดลงจากหลักหมื่นเหลือหลักพันเท่านั้น ซึ่งค่าบริการจีพีเอสรายเดือนจะอยู่ที่ 500-700 บาท ปัจจุบันอุปกรณ์ก็ลดลงเหลือ 3,000 และค่าบริการรายเดือนเหลือแค่ 300 บาท ส่วนรถเก่าก็จะมีมาตรการค่อยๆ บังคับใช้ต่อไป

“หากเราติด GPSกับรถได้ครบทุกประเภท เราจะกำกับดูแลการใช้รถใช้ถนนได้หมด ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่ทำแบบนี้ ไม่มีอะไรเป็นของฟรีในโลก แต่เรากำลังชั่งน้ำหนักว่า สิ่งที่จะนำมาใช้จะเกิดประโยชน์อย่างไร ขอหารือกระทรวงอุตฯก่อนในเดือนนี้ หากจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้คงต้องใช้เวลาอีก 6 เดือน หรือถ้าเป็นกฎหมายต้องใช้เวลาเป็นปี แต่เราต้องกล้านับ 1 คาดว่าภายใน 1 ปี จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่องนี้”

หวังล้อมคอกอุบัติเหตุ-อาชญากรรม

เมื่อถามว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่? นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าต้องไปดูกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลฉบับอื่นๆ ประกอบด้วย แต่ต้องดูว่าผลที่ได้รับจากการติด GPS คืออะไร ซึ่งจะเห็นว่าประโยชน์มีมาก อย่างน้อยการก่ออาชญากรรมจะลดลง เช่น การขโมยรถ การกำกับความเร็วรถจากGPSก็ช่วยรถลดปัญหาอุบัติเหตุได้

“เรื่องดังกล่าวจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่บางเรื่องยอมรับว่าอาจจะกระทบสิทธิ์ประชาชน แต่ถ้าไม่เกิดความเสียหายมากนัก และเกิดประโยชน์ลดอุบัติเหตุและลดความเสียหายได้ บางครั้งก็คงต้องยอม”

ขณะที่นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า สำหรับเรื่องติด GPS รถยนต์และรถจยย.ส่วนบุคคล ต้องไปศึกษา เพื่อนำอุปกรณ์มาติดตั้งอย่างเหมาะสมก่อนมาปฏิบัติต่อไป โดยต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ กฎหมายอุตสาหกรรม การผลิตรถ ข้อมูลสิทธิส่วนบุคคลว่าสามารถเปิดเผยได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงกฎหมาย ขบ. ทั้งในส่วนของการติด GPS พ.ร.บ.จราจร

“ต้องมีการศึกษาหากมีผลบังคับใช้แล้ว ไม่มีการปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษอย่างไรด้วย ตลอดจนการตัดแต้มใบขับขี่ โดยใช้เวลาศึกษา 2 เดือน สำหรับสถิติจดทะเบียนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คนสะสมทั่วประเทศ  ณ วันที่ 30 ก.ย.62 พบว่า มี 9,868,532 คัน ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลมี 6,748,316 คัน, รถยนต์นั่งเกิน 7 คน มี 422,143 คัน แล รถจยย. มี 21,130,663 คัน”

พลังโซเชียลรุมสกรัม! “เพิ่มภาระ-ละเมิดสิทธิ”

ภายหลังไอเดียดังกล่าวถูกสื่อมวลชนตีแผ่ในทุกช่องทางการสื่อสาร โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่ถูกแชร์ข่าวไปอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยการเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดเลือดพล่าน ส่วนมากแล้วแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยและคัดค้านกับแนวคิดดังกล่าว เพราะมองว่าการที่ภาครัฐมุ่งวัตถุประสงค์แก้อุบัติเหตุและปัญหาอาชญากรรมเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

“ที่สำคัญเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นค่าติดตั้ง-ค่าบริการสัญญาณรายเดือน แม้รัฐจะอ้างว่าราคามันไม่แพงเหมือนในอดีตแล้ว ถึงกระนั้น ยุคที่เศรษฐกิจถดถอย ค่าครองชีพสูง  ประชาชนก็ยังมองอยู่ดีว่าเป็นการกดขี่บังคับและผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับพวกเขา  อีกทั้งประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล บวกบริบทความไม่พร้อมของประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา การจะมาบังคับรถส่วนบุคคลที่มีจำนวนมาก ถือเป็นอะไรที่ยากมากที่ประชาชนคนไทยจะรับได้”

อีกความคิดเห็นที่น่าคิด ก็คือการจะบังคับให้รถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนบุคคลทุกคันติด GPS นั้น สุดท้ายแล้วใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์สูงสุด  ประชาชน ประเทศชาติ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต-ติดตั้ง GPS  กันแน่

“คิดง่ายๆเมื่อรวมรถทั้ง 2 ประเภทภายในประเทศรวมแล้วกว่า 30 ล้านคัน ไม่นับรวมราคาค่า GPS ที่รัฐบอกว่าตกเครื่องละ 3,000 บาทนั้น เอาเฉพาะค่าบริการรายเดือน 300 บาทที่ประชาชนต้องจ่ายก็ปาเข้าแล้วเดือน 6 พันล้านบาทแล้ว แล้วยังนี้หรือที่รัฐอ้างว่าเพื่อลดอุบัติเหตุ-อาชญากรรม”  

นักวิชาการ ชี้เห็นด้วยแต่ต้องไม่เพิ่มภาระปชช.

นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์  ผู้จัดการแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน สะท้อนมุมมองต่อกรณีดังกล่าวว่า ตนสนับสนุนแนวความคิดนี้ เนื่องจากที่ผ่านมากรมขนส่งฯ ได้มีการติดตั้ง GPS ในรถตู้ และรถสาธารณะพบว่าลดอุบัติเหตุการสูญเสียจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ประมาณร้อยละ 80-90  ซึ่งการจะขยายไปยังวงกว้างในรถยนต์ทุกคัน แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายว่า รัฐบาลสามารถสนับสนุนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากให้ประชาชนไปติดตั้งเองก็จะมีค่าใช้จ่าย และยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนอีก แม้ค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่ที่ 300 บาท แต่จำนวนเงินดังกล่าวบางกลุ่มก็ถือว่ามากอยู่เช่นกัน

“หากเป็นไปได้ก็อยากให้มีการสนับสนุน หรือประสานกับทางภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ว่า สามารถที่จะติดตั้งมากับรถใหม่ได้หรือไม่  และค่าบริการระบบจะเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ต้องคิดดีๆในเรื่องของราคาที่จะไม่กระทบกับประชาชน เพราะถ้ากระทบก็จะเกิดการคัดค้านขึ้น ซึ่งอย่างยุโรปมีการติดตั้งเป็นกล่องดำ และติดมากับรถยนต์ที่ซื้อมาใหม่เลย”

ในปการติดตั้ง GPSในรถจักรยานยนต์ นพ.วิวัฒน์ เสนอแนะว่า ควรติดเป็นระบบเอบีเอส(ABS) มากกว่า ซึ่งเป็นระบบเบรกพื้นฐาน หรือล็อกล้อ ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าช่วยลดอุบัติเหตุได้ร้อยละ 30 และระบบนี้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนด้วย ซึ่งการติดตั้งก็ควรดำเนินการมาทันที โดยรัฐบาลต้องหารือกับภาคอุตสาหกรรมว่า หากมีการติดตั้งอาจมีมาตรการทางภาษีเข้าไปช่วยภาคอุตสาหกรรมได้

“ศักดิ์สยาม” ยอมถอยดีกว่า!

หลังถูกพลังโซเชียลคัดค้านและโจมตีอย่างหนัก วันถัดมา (22 ต.ค.62) ปมร้อนดังกล่าวก็ยังคุกรุ่นต่อเนื่อง ส่งเปลวร้อนไปถึงเจ้ากระทรวงหูกวาง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”เมื่อถูกสื่อรุกหนักกับประเด็นร้อนถึงกับปัดที่จะตอบคำถาม โดยบอกไปสั้นๆว่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้(21 ต.ค.62)ยังไม่พออีกหรือตอนนี้น่วมแล้ว

“เราจะไปฟื้นอีกทำไม เรื่องที่เฟดไปแล้วก็ให้ผ่านไป ถ้ายังไปพูดอีกก็จะหาว่าตลบตะแลง ไม่เอาไม่พูดแล้ว และต่อจากนี้ไปผมจะต้องให้โฆษกกระทรวงถามไปยังผู้สื่อข่าวก่อนว่าจะมีคำถามอะไรแล้วส่งมาให้ ผมจะตอบและพิมพ์ให้ เพราะตอนนี้ผมกลัวมาก ไม่เอาแล้ว ยอม ไม่ไหว …” 

จนกระทั่งช่วงเย็นของวันเดียวกัน นายศักดิ์สยาม ก็ออกโรงเปิดเผยว่านโยบายให้ติดตั้ง GPSในรถยนต์ส่วนบุคคลนั้น เรื่องนี้ให้เป็นความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางบก เพราะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาก็ให้ข่าวว่าให้กรมการขนส่งทางบกมีการศึกษาใน 1 ปี และเมื่อผลการศึกษาออกมาแล้วกรมฯจะทำต่อหรือไม่ทำก็เป็นเรื่องของกรมการขนส่งทางบก หากไม่ทำก็พับเรื่องไป

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ก็ออกโรงเด้งรับเผือกร้อนทันทีและเปิดเผยว่านโยบายดังกล่าวนี้เป็นแนวคิดและอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งเมื่อผลการศึกษาออกมาแล้วอาจจะนำมาปฏิบัติ หรือไม่สามารถนำมาปฏิบัติก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางกรมฯจะคำนึงถึงข้อมูลการคุ้มครองการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเป็นหลักด้วย.\

“จากนี้ไปกรมฯต้องทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะความเป็นไปได้-ผลกระทบที่เกิดขึ้น ต้องศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน อีกทั้งยังต้องพิจารณาปัจจัยด้านราคาค่าอุปกรณ์การติดตั้งและค่าบริการ มุ่งเน้นประโยชน์ด้านความปลอดภัย ที่สำคัญต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน อีกทั้งต้องมีการหารือร่วมกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อพิจารณาแนวทางกำหนดให้มีการติดตั้ง GPS กับรถใหม่ที่ผลิตจากต้นทางโรงงานผู้ผลิต เพื่อให้ไม่สร้างผลกระทบกับประชาชน คาดจะมีความชัดเจนภายใน 1 ปี ก่อนได้ข้อสรุปเพื่อดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร”

หลังเช็คแอ๊คติ้งล่าสุดของเจ้ากระทรวงหูกวาง ที่ใส่เกียร์Rกลายๆประหนึ่งยอมศิโรราบทิศทางลมจากแรงต้านสังคมถาโถมจนอ่วมเกินรับไหวและยากจะดันทุรันเดินหน้าต่อ แม้คำแก้ต่างสวยหรูเป็นแค่แนวคิดที่อยู่ระหว่างการศึกษาตามกรอบ 1 ปีก็ตาม ผลจากศึกษาออกมาอาจจะไม่เดินหน้าก็ได้ หรืออาจนำร่องด้วยภาคสมัครใจไปก่อน

คงเป็นแค่คำแก้เกี้ยวหวังลดทอนเสียงคัดค้านลงพลางรักษาฐานเสียงคะแนนนิยมของพรรคในคราบนักการเมืองเอาไว้เท่านั้น

สำหรับ Logistics Time หลังจับชีพจรไอเดียกระฉูดแตกนี้แล้ว ฟันธงล่วงหน้าได้เลยว่า “มันจบแล้ว” จากเส้นทางไอเดียบรรเจิด…สู่เชิงตะกอนฌาปนกิจเรียบร้อยโรงเรียนกระทรวงหูกวาง ตอกย้ำแนวคิดติด GPS ถือเป็นบทเรียนราคาแพงกับนโยบายติดจรวด “มาเร็วเคลมเร็วจบเร็ว”…ที่แท้ True!