ฟื้นเศรษฐกิจอย่างไร?เมื่อโลกหลังโควิดไม่เหมือนเดิม

0
727

แม้มวลพายุวิกฤติจากไวรัสโควิด-19 เหมือนจะอ่อนกำลังลงไปบ้างแล้วหลังจับทิศทางลมเริ่มชะลอตัวลง จกจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ลดลงจนเหลือศูนย์ และอาจจะมีผู้จำนวนติดเชื้อรายใหม่เพิ่มบ้างในแต่ละวันแต่ไม่มากนัก ฟากรัฐบาลก็เริ่มคลายล็อกดาวน์ไปแล้วถึงระยะที่ 2 และกำลังจะตามมาระยะที่ 3

ทว่า อาฟเตอร์ช็อคจากพิษพายุวิกฤติโควิดครั้งสาหัสสากรรจ์ เพราะได้ทิ้งบอมบ์ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาคไว้เป็นซากปรักหักพังให้ผู้คนไว้ดูต่างหน้า และแม้มนุษย์เราต้องอยู่กับไวรัสมฤตยูนี้ไปอีกสักพัก เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายทุกฝ่ายก็คิดแล้วจะฟื้นเศรษฐกิจประเทศในทิศทางไหน เฉกเช่นการซ่อมบ้านหลังถูกพายุซัดถล่มอย่างหนัก

คำว่า“โลกหลังโควิดจะไม่เหมือนเดิม”อีกต่อไป หลายๆอย่างจะถูกแทนที่ด้วยความปกติใหม่ หรือ New Normalถือเป็นความท้าทายอย่างมากกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติโควิด-19 หลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็เริ่มมองถึงก้าวต่อไปหลังจากนี้เพื่อหวังพลิกฟื้นกลับมา

หากถามถึงความเสียหายเศรษฐกิจไทยและโลกหลังเผชิญโควิด-19 ว่ารุนแรงระดับใด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและ IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 อาจมีแนวโน้มหดตัวสูงถึง -5.3% และ -6.7% ตามลำดับ ปัจจัยหลักมาจากการที่ไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก ยังรวมถึงมาตรการรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์โควิด

ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้วิกฤตินี้อีกนาน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) เปิดเผยว่าสัญญาณเตือนเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ปัญหาที่น่าห่วงคือปัญหาหนี้ครัวเรือน-หนี้ธุรกิจเกินกำลังดันหนี้เสียพุ่งมหาศาล แบงก์พาณิชย์ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้พร้อมหาแนวร่วมจัดระเบียบธุรกิจใหม่ และโจทย์ใหญ่ประเทศต้องปรับองคาพยพ “แรงงาน-เงินทุน” สร้างธุรกิจเซ็กเตอร์ใหม่ที่เป็นอนาคตของประเทศ รับมือโลกหลังโควิดที่คนตกงาน-กิจการปิดตัว เพิ่มขึ้น

“วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจแต่เป็นวิกฤตที่เกิดจากด้านสาธารณสุข และมีผลกว้างไกลมากไปทั้งโลก และถึงแม้จะควบคุมสถานการณ์โควิดในประเทศได้ดี แต่ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดมีการค้าการขายกับทั่วโลกและพึ่งพาสัดส่วนการท่องเที่ยวที่สูงมากสถานการณ์วิกฤตแบบนี้พระเอกคือนโยบายการคลัง เพราะคนขาดรายได้ วิธีการคือจะต้องเข้าไปเยียวยาทางด้านเพิ่มรายได้ ซึ่งรัฐบาลก็ค่อนข้างมูฟเร็ว”

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ระบุอีกว่าส่วนตัวอยากเห็นการใช้งบประมาณในการจ้างงานระดับ ล้านตำแหน่งเพราะวิกฤตครั้งนี้มีคนตกงานจำนวนมาก โดยเฉพาะการจ้างงานตามภูมิสังคมต่างจังหวัด เช่น การจ้างอาสามัครดูแลผู้สูงอายุประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งมี 7 หมื่นหมู่บ้าน อย่างน้อยก็ 7 หมื่นตำแหน่ง หรือจ้างงานเด็กจบใหม่มาทำเรื่องระบบบัญชี ระบบการเงินของกองทุนหมู่บ้าน แม้แต่เรื่องทำฐานข้อมูลเกษตร และฐานข้อมูลระดับท้องถิ่น ซึ่งประเทศไทยยังขาดมาก

“ขณะที่มาตรการทางด้านการเงินและสถาบันการเงิน (financial policy) ก็เป็นมาตรการสำคัญ เช่น เรื่องการพักชำระหนี้ เลื่อนการชำระหนี้ เพราะวิกฤตแบบนี้ทำให้รายได้หายไปเลย การเลื่อนชำระหนี้และส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่ง ธปท.แก้เกณฑ์เยอะมาก เพื่อที่จะทำให้ธนาคารสามารถเข้าไปปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปกติทำไม่ได้และไม่ควรทำครั้งนี้เป็นวิกฤตนอกกรอบจริง ๆ เพราะปกติคงไม่มีธนาคารกลางประเทศไหนออกมาบอกให้ประชาชนไม่ต้องชำระหนี้ ให้ยืดการชำระหนี้ แต่เพราะวิกฤตครั้งนี้ทำให้เกิดขาดสภาพคล่องทันที”

ค่อยเป็นค่อยไปแบบ U-Shape

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินสะท้อนมุมมองว่าหลังจากนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างมากสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากต้องปรับตัวเข้าสู่ความปรกติใหม่ (New Normal) แล้ว ยังต้องมองหาช่องทางหรือรูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงหากต้องเผชิญโรคนี้ไปอีก 2-5 ปี ตามที่มีมีคาดการณ์ไว้ รวมถึงวิกฤติอื่นๆในอนาคตด้วย

“คาดว่าแนวโน้มหลังจากนี้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายในครึ่งปีหลัง 2563 แต่เป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปแบบ U-Shape และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็เริ่มฟื้นตัวทำให้ขณะนี้หลายคนเริ่มมองถึงก้าวต่อไปหลังจากนี้ ธุรกิจอะไรบ้างที่จะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร รวมถึงจะมีปัจจัยบวกอะไรที่จะเข้ามาเป็นแรงผลักให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดบ้าง”

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผยอีกว่าจากข้อมูลของศูนย์วิจัยธนาคารออมสินได้แบ่งประเภทธุรกิจที่คาดว่าฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติเป็น 3 เลเวล ได้แก่ ฟื้นตัวเร็ว ปานกลาง และช้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานการเปิดประเทศภายในครึ่งปีหลังนี้ มีการเบิกจ่ายงบประมาณ และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วได้แก่ ธุรกิจขนส่งสินค้าและโดยสารทั่วไป ทั้งทางบกและทางน้ำ ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจสื่อสาร ธุรกิจไปรษณีย์หรือรับส่งของ เป็นต้น

“ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวปานกลาง ได้แก่ กลุ่มธุรกิจขนส่งโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางน้ำ ธุรกิจโรงแรม ตัวแทนธุรกิจเดินทางหรือนำเที่ยว ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจขายส่งและขายปลีกโดยเฉพาะที่เป็นรายย่อย และกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เช่น ธุรกิจขนส่งทางอากาศหรือสายการบิน ธุรกิจผลิตเชื้อเพลิง ธุรกิจรถยนต์ รวมถึงกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย”

ขณะเดียวกันนั้นยังมีธุรกิจที่ต้องปิดกิจการไปจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ เนื่องจากเป็นธุรกิจจนาดเล็ก ที่มีสภาพคบ่องไม่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงพนักงานและธุรกิจได้ ซึ่งบางกลุ่มอาจต้องเผชิญปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ยาก ก็ต้องล้มหายตายจากไปจากวงจรธุรกิจ

“หากมองข้ามช็อตไปในระยะยาว ทุกธุรกิจคงต้องเตรียมปรับตัวรับกับ New Normal ใหม่ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ไม่เพียงแต่ด้านการค้า การตลาด และการชำระเงินเท่านั้น เพื่อลดต้นทุนค่าแรง ยังรวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการบริการ อย่างในธุรกิจค้าปลีกที่นำเทคโนโลยี AR มาใช้ต่อยอดจากแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ E-Commerce เช่น ให้ลูกค้าสามารถลอสินค้าผ่านภาพเสมือนจริง ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น”

ธุรกิจหลังโควิดมีทั้งปรับตัว เติบโต เกิดใหม่ และหายไป

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่าผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลต่อธุรกิจของไทยไม่น้อย โดยมีทั้งธุรกิจที่ต้องปรับตัว ธุรกิจที่เติบโตขึ้น ธุรกิจที่เกิดใหม่ และธุรกิจบางส่วนที่หายไปสำหรับธุรกิจที่ต้องปรับตัว ได้แก่การขายสินค้าต่างๆ และธุรกิจค้าปลีก ต้องเพิ่มบริการขายผ่านระบบออนไลน์ ต้องนำระบบไอทีเข้ามาใช้ เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

“ขณะที่ซัปพลายเชน หรือกระบวนการตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต จนถึงการขายสินค้าถึงมือผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไป โดยประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะหันมาให้ความสำคัญต่อการผลิตและสั่งซื้อวัตถุดิบและสินค้าภายในประเทศ หรือสั่งซื้อสินค้าจากประเทศใกล้เคียง เพื่อป้องกันปัญหาการขนส่งอันเนื่องมาจากผลกระทบของวิกฤตการณ์ต่างๆ ดังที่เกิดในช่วงวิกฤตโควิด-19 นอกจากนั้น อุตสาหกรรมบางอย่างจะมีการย้ายฐานการผลิตกลับมาประเทศไทยด้วย”

รศ.ดร.สมชาย ย้ำต่อว่าส่วนธุรกิจที่เติบโตขึ้น ได้แก่ธุรกิจไอทีต่างๆ เช่น การทำเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน บล็อกเชน (เครือข่ายการเก็บข้อมูล) เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต่างๆ หันมาใช้บริการไอทีเหล่านี้มากขึ้นและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจธุรกิจจัดส่งสินค้าและอาหาร เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผู้คนต้องอยู่กับบ้านทำให้มีการสั่งอาหารและสินค้าออนไลน์มากขึ้นและกลายเป็นวิถีชีวิตที่ผู้คนคุ้นชิน ส่งผลให้ธุรกิจจัดส่งสินค้าและอาหารมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว

“ธุรกิจที่เกิดใหม่ ได้แก่ คอร์สออนไลน์ต่างๆ เนื่องจากช่วงวิกฤตโควิด-19 คนหันมาสนใจศึกษาสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร งานศิลปะ การร้องเพลง การออกกำลังกาย หรือการเรียนออนไลน์เพื่อประกอบอาชีพต่างๆ ทำให้มีธุรกิจคอร์สสอนออนไลน์ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายธุรกิจที่หายไป ได้แก่ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้บางรายที่เงินทุนหรือสายป่านไม่ยาวพอต้องปิดกิจการลง เช่่น ร้านอาหาร โรงแรม สปา โรงงานอุตสาหกรรม”

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5-8% ส่วนปีหน้าน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นและคงจะเริ่มกลับมาเป็นปกติในปี 2565-2566 ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวคงจะซึมยาวถึงปีหน้าเพราะเศรษฐกิจไม่ดี คนตกงานเยอะทำให้กำลังซื้อมีน้อย บริษัทต่างๆ หันมาประหยัดค่าใช้จ่ายกันมากขึ้น

รูปแบบการค้าเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

ขณะที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าหลังจากวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแน่ๆ คือรูปแบบการขายสินค้า ซึ่งผู้ค้าจะหันมาขายสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์กันมากขึ้น ควบคู่ไปกับการขายหน้าร้าน เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนหันมาซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และจ่ายเงินผ่าน E-Banking ธุรกิจต่างๆ จึงเริ่มทำการตลาดออนไลน์กันมากขึ้น เมื่อคนเชื่อมั่นในการซื้อขายแบบออนไลน์หลังวิกฤตโควิดสิ้นสุดลงผู้คนก็ยังคงไลฟ์สไตล์แบบนี้อยู่

“ธุรกิจขนส่งสินค้า เช่น บริษัทรับขนส่งสินค้ารูปแบบเดียวกับเคอรี่ บริการขนส่งสินค้าและอาหารแบบเดียวกับแกร็บ จะเติบโตอย่างรวดเร็วธุรกิจตัวกลางขายสินค้าจะเริ่มหายไป อาชีพยูทูบเบอร์ นักรีวิวสินค้า นักออกแบบเว็บไซต์ แอดมินหรือผู้ดูแลเว็บไซต์และตอบคำถามลูกค้าจะเป็นอาชีพที่มาแรงสินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารคลีน สมุนไพร วิตามินต่างๆ จะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ขณะที่สินค้าที่ไม่มีคุณภาพร้านอาหารที่ไม่สะอาดจะเริ่มหายไป”

ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างเช่น จิวเวลรี เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีราคาแพง รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ จะได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำจากผลกระทบของโควิด-19 แต่จะเริ่มขายดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่วนธนาคารและสถาบันการเงินจะลดสาขาและจำนวนพนักงานลง เพราะลูกค้าหันมาใช้แอปพลิเคชันและบริการเงินแบบออนไลน์กันมากขึ้น ขณะเดียวกันประกันภัยรูปแบบต่างๆ จะได้รับความสนใจมากขึ้น

“หลายอย่างอาจจะไม่ถึงกับเป็น New Normal แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่วิกฤตโควิด-19 มาเป็นตัวกระตุ้นให้สิ่งเหล่านี้เกิดเร็วขึ้น เช่น การลดสาขาและจำนวนพนักงานของธนาคารต่างๆ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เมื่อวิถีนั้นๆ สอดคล้องต่อการดำเนินชีวิตก็จะได้รับความนิยมและดำรงอยู่ต่อไป”ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุทิ้งท้าย

ต้องยอมรับว่าผลกระทบจากพิษไวรัสโควิด-19 เล่นงานแทบทุกธุรกิจอ่วมอรทัย มีผลกระทบเป็นวงกว้างของธุรกิจทั้งมหภาคและจุลภาค ยังไม่เหมารวมผลกระทบทางด้านจิตใจที่มีความสำคัญมากเช่นกัน พิษร้ายเจ้าไวรัสโควิดถาโถมใส่ทุกทิศทางจนเศรษฐกิจโดยรวมการชะลอตัว-หดตัว

แต่ละธุรกิจล้วนแล้วได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวมากน้อยแตกต่างกันไปตามโครงสร้างของธุรกิจ ประเภทของธุรกิจ ความสามารถในการบริหารจัดการ ความแข็งแกร่งของธุรกิจด้านการเงิน หลังไวรัสโควิดสิ้นฤทธิ์ การฟื้นประเทศ-เศรษฐกิจ คือความท้าทายอย่างมากของแต่ละประเทศ แต่การจะกลับได้เหมือนเดิมนั้นต้องใช้เวลา

เพราะคือวิกฤติครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ ไม่ต่างอะไรกับบ้านที่ถูกพายุซัดกระหน่ำซะจนพัง ต้องได้รับการซ่อมแซมขนานใหญ่ที่ต้องใช้ทุนทรัพย์ และเวลากว่าจะเป็นบ้านสมบูรณ์ได้ดั่งเดิม ทุกภาคส่วนต้องเตรียมความพร้อมกับการฟื้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญนี้

เพราะ…โลกหลังโควิดมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป!