เจ้าท่าทดสอบเรือไฟฟ้าต้นแบบคลองแสนแสบ

0
585

เจ้าท่าร่วมทดสอบเรือไฟฟ้าต้นแบบจากท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศสู่ท่าเรือประตูน้ำ ชี้น่าพอใจระดับหนึ่ง ย้ำต้องแก้ไขปัญหา-ปรับปรุงให้เหมาะสมกับการเดินเรือก่อนเปิดทดลองวิ่งให้บริการประชาชนโดยไม่เก็บค่าโดยสาร คาดได้ข้อสรุปทั้งหมดและส่งมอบต้นแบบให้ผู้ประกอบการเดินเรือในคลองแสนแสบนำไปต่อยอดเปลี่ยนเรือได้ภายในปีนี้

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยภายหลังการร่วมทดสอบเรือไฟฟ้า“ โครงการจัดหาระบบเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบในคลองแสนแสบ เพื่อประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”ว่าครั้งนี้เป็นการทดสอบเดินเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบเสมือนจริงในเส้นทางเดินเรือคลองแสนแสบจากบริเวณท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศสู่ท่าเรือประตูน้ำ ระยะทาง 5 กิโลเมตร(กม.) ใช้เวลาเดินทาง 20 นาที พบว่า ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องมีการปรับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หางเสือ เพื่อให้บังคับเรือง่ายขึ้น และการลดแรงกระแทกของคลื่น เป็นต้น และจากการสอบถามผู้โดยสารที่ร่วมนั่งเรือทดสอบแล้วส่วนใหญ่บอกว่ารู้สึกชอบ เพราะไม่มีกลิ่นน้ำมัน และเสียงไม่ดัง ที่นั่งสะดวกสบาย

“ตนจึงมอบหมายให้ทีมที่ปรึกษาและบริษัทผู้ผลิตเรือไปแก้ไขปัญหาและปรับปรุงให้เหมาะสมกับการเดินเรือ ก่อนกำหนดวันมาทดลองวิ่งให้บริการประชาชนโดยไม่เก็บค่าโดยสารอีกครั้ง คาดว่าจะสรุปผลการดำเนินงานทั้งหมดและส่งมอบต้นแบบให้ผู้ประกอบการเดินเรือในคลองแสนแสบนำไปต่อยอดเปลี่ยนเรือได้ภายในปีนี้”

นายวิทยา กล่าวอีกว่า เรือไฟฟ้าต้นแบบดังกล่าวมีต้นทุนลำละ14 ล้านบาท มีคุณสมบัติเฉพาะเรือโดยสารในคลองแสนแสบ ประกอบด้วย ขนาดเรือ ยาว 20.2 เมตร กว้าง 3 เมตร กินน้ำลึก 0.75 เมตร น้ำหนักรวมบรรทุก 19,000 กิโลกรัม ทำด้วยวัสดุอลูมิเนียม บรรทุกผู้โดยสาร 100 คน ลูกเรือ 3 คน ความเร็ว 20 กม./ชม.ชุดขับเคลื่อนมอเตอร์ ขนาด 55 กิโลวัต 2 ชุด แบตเตอร์รี่ ลิเทียม 135.75 กิโลวัต ระยะเวลาใช้งาน 60 กม. ต่อการชาร์จ 2 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามในส่วนของอัตราค่าโดยสารของเรือไฟฟ้านั้น หากผู้ประกอบการนำต้นแบบไปต่อยอดเปลี่ยนเรือแล้วจะต้องวิเคราะห์และคำนวณต้นทุนที่แท้จริง ให้เป็นอัตราที่เหมาะสมและใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป

นายเชาวลิต เมธยะประภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทครอบครัวขนส่ง(2002)จำกัด กล่าวว่า เบื้องต้นเห็นว่าเรือไฟฟ้าต้นแบบสามารถวิ่งในคลองแสนแสบได้ แต่หากจะนำมาต่อยอดในเชิงธุรกิจแล้วคงต้องปรับปรุงอีกมาก และน่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าเรือต้นแบบจาก14ล้านบาทต่อลำเป็นประมาณ19ล้านบาทต่อลำ เพราะต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น

“คงต้องรอให้การทดสอบนิ่งและสรุปผลให้ได้ก่อนจึงพิจารณาว่าจะเปลี่ยนเรือที่มีอยู่เป็นเรือไฟฟ้าเลยหรือไม่ เพราะต้องดูองค์ประกอบหลายเรื่อง โดยเฉพาะสถานีประจุไฟฟ้า แต่ขณะนี้ทางบริษัทฯได้ทยอยเปลี่ยนเรือไม้เป็นเรือเหล็กและเรืออลูมีเนียม ซึ่งมีต้นทุนลำละประมาณ10ล้านบาทแล้ว ซึ่งเรือที่เปลี่ยนใหม่นี้สามารถที่จะปรับปรุงและต่อยอดเป็นเรือไฟฟ้าในอนาคตได้”