“ศักดิ์สยาม”Kick off สายเอเชีย ‘ต้นแบบ’สปีดความเร็วได้ 120 กม./ชม.นำร่อง 45.9กม.แรก

0
144

“ศักดิ์สยาม” Kick off  สายเอเชียสปีดความเร็วได้ 120 กม./ชม.นำร่อง 45.9 กม.แรกช่วงบางปะอิน-อ่างทองทั้งขาเข้า-ออก ชี้เป็นเส้นทาง “ต้นแบบ” ทางหลวงแผ่นดิน-ทางหลวงชนบท สอดรับแผนประกาศใช้สายทางเฟส 2 ภายในเดือนส.ค.64 ครอบคลุมเส้นทางภาคกลาง-เหนือ-อีสาน-ใต้รวมระยะ 260 กม.ลุยเพิ่มเติมบนทางหลวงสายหลักอีกเส้นทางระยะทาง 1,760 กม.ตั้งแต่ธ.ค.64เป็นต้นไป

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธี “เริ่มต้นใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง)”ว่าตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เฉพาะถนนที่ได้มาตรฐานตามที่กฎกระทรวงกำหนด มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป ไม่มีจุดกลับรถระดับราบ มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น และมีความปลอดภัยด้านวิศวกรรมสูง

โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เตรียมการนโยบายนี้มาอย่างต่อเนื่องจนเป็นผลสำเร็จและประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วฉบับใหม่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยเส้นทางแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ ทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน ถึง ทางต่างระดับอ่างทอง เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยสูง โดยกระทรวงคมนาคมยังได้สั่งการและเน้นย้ำให้กรมทางหลวงปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เสริมการก่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างทาง (Concrete Barrier) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเนื่องจากการเสียหลักตกเกาะกลาง ปรับปรุงจุดกลับรถระดับราบ เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร ติดตั้งป้ายจราจรและป้ายเปลี่ยนข้อความได้เพื่อสื่อสารการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละช่องจราจร รวมทั้งติดตั้งแถบเตือน Rumble Strips เพื่อแจ้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเข้าเขตควบคุมความเร็ว โดยเส้นทางนี้ ถือเป็น “ต้นแบบ” ของทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท

โดยกรมทางหลวงมีแผนจะประกาศใช้สายทางในระยะที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ครอบคลุมเส้นทางในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ระยะทางประมาณ 260 กิโลเมตร เช่น ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วง อ่างทอง – สิงหบุรี ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหางน้ำหนองแขม – นครสวรรค์ ทางหลวงหมายเลข 2 ตอนบ่อทอง-มอจะบก และทางหลวงหมายเลข 4 ช่วง เขาวัง-สระพระ เป็นต้น พร้อมทั้งดำเนินการต่อเนื่องเพิ่มเติมบนทางหลวงสายหลัก เช่น ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 24 สีคิ้ว-อุบลราชธานี ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง -สุพรรณบุรี  และทางหลวงหมายเลข 44 กระบี่-ขนอม อีกประมาณ 1,760 กิโลเมตร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้คัดเลือกเส้นทางนำร่อง คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 บางปะอิน – พยุหะคีรี (ช่วงอยุธยา – อ่างทอง) ระหว่าง กม. 4+100 ถึง กม. 50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก ระยะทาง 45.9 กิโลเมตร แบ่งการใช้ความเร็วเป็น 3 ระดับ คือ ช่องซ้ายสุด ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่องกลางไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยในช่องขวาขับขี่ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้ผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วแตกต่างกันในเส้นทาง ใช้ทางสาธารณะร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นเส้นทางแรก

กรมทางหลวงยังได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องหมายจราจรต่าง ๆ  ในเส้นทางที่กำหนด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ทาง เช่น ติดตั้งสัญลักษณ์กำหนดความเร็วบนพื้นถนน รวมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดและอุปกรณ์ตรวจจับความเร็ว โดยผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Website กรมทางหลวง (www.doh.go.th) แฟนเพจกรมทางหลวง และ Call Center 1586

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวตอนท้ายว่า การกำหนดอัตราความเร็วรถเป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนถนนสายเอเชียนั้น จะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาอุบัติเหตที่เกิดจากการชนท้ายหรือการเปลี่ยนช่องจราจร อันเนื่องมาจากรถวิ่งด้วยความเร็วที่แตกต่างปะปนกันไป ไม่เป็นระเบียบ อีกทั้งยังทำให้ถนนสายเอเชียในอนาคตจะไม่มีจุดกลับรถระดับราบ ส่งผลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และปลอดภัยตลอดเส้นทาง และขอให้พี่น้องประชาชนศึกษาข้อมูลเส้นทาง และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยลดปัญหาอุบัติเหตบนท้องถนนในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน