“คมนาคม”เร่งใช้ระบบตั๋วร่วมนำร่องรถไฟ-เรือก่อนสิ้นปี64

0
75

“ศักดิ์สยาม”เร่งสปีดนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ นำร่องมาจ่ายค่าโดยสาร”รถไฟสีแดง-น้ำเงิน-ม่วง-เรือ”ก่อนในสิ้นปี 64 ไม่เกินต้นปี 65 นี้ ก่อนเดินหน้าเร่งแก้กฎหมาย ดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯออกมาใช้คุมผู้รับสัมปทานขนส่งมวลชนทางราง-ค่าโดยสารทั้งระบบ มั่นใจช่วยให้ประชาชนจ่ายค่าโดยสารที่เป็นธรรมไม่ถูกเอาเปรียบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะจัดตั้งสำนักงานกลางเพื่อมาทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องตั๋วร่วม พร้อมประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ (พ.ร.บ.ตั๋วร่วม)เพื่อสามารถบังคับใช้ระบบตั๋วร่วมกับผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะทั้งที่เป็นของรัฐและของเอกชนทั้งระบบในระยะยาว ซึ่งขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ดังนั้น เพื่อให้การนำตั๋วร่วมมาบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนที่ใช้บริการในระบบขนส่งมวลชนขณะนี้ก่อนนั้น ทางกระทรวงคมนาคมจะให้ประชาชนสามารถจ่ายค่าโดยสารโดยใช้ระบบตั๋วร่วมในระยะแรกได้กับ รถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีม่วง รวมถึงจ่ายค่าผ่านทางพิเศษดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคมก่อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ภายในสิ้นปี 64 หรือ ต้นปี 65 ซึ่งรูปแบบตั๋วร่วมในระยะแรกนั้น ผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนจะจ่ายค่าโดยสารผ่านบัตรอิเล็กโทรนิกส์ที่ผูกบัตรกับธนาคารพาณิชย์ เช่น บัตรเครดิต เป็นต้น

นอกจากนั้นได้สั่งการให้ คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้ ของ คนต. ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ไปศึกษาทบทวนโครงสร้างการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ในระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผู้ให้บริการที่ยังอยู่ในสัมปทานของรัฐ ทั้งในเรื่องของอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าในปัจจุบันที่มีการเก็บค่าแรกเข้าในแต่ละสายที่ไม่เท่ากัน ,การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารในแต่ละสายไม่เท่ากัน รวมถึงมีการเก็บค่าแรกเข้าทุกครั้งเมื่อมีการเดินทางข้ามระบบ และโครงสร้างอัตราค่าโดยสารไม่สะท้อนกับระยะทาง
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ซึ่งนอกจากดูโครงสร้างอัตราค่าโดยสารของผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในปัจจุบันแล้วทางคณะอนุฯดังกล่าวจะต้องศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาสำหรับรถไฟฟ้าที่สัญญาสัมปทานได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว และแนวทางในการแก้ไขสัญญาพร้อมแนวทางการชดเชยกรณีที่มีความจำเป็น แต่สำหรับรถไฟฟ้าที่จะมีการลงนามในอนาคต ทางคณะอนุกรรมการฯ ก็จะต้องศึกษาเพื่อกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสมเพื่อกำหนดในสัญญาสัมปทานก่อนทำการลงนามด้วย เนื่องจากแต่ละโครงการมีรูปแบบมาตรฐานในการวิเคราะห์ การลงทุนก่อสร้างที่ไม่เหมือนกัน

นายศักดิ์สยาม ยังได้กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง เพื่อร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับ แนวทางการดำเนินการด้านสิทธิในทรัพย์สินของระบบบริหารจัดการรายได้กลาง (CCH) เพื่อรองรับการดำเนินการภายหลังจากมีการจัดตั้งสำนักงานกลางตั๋วร่วมในอนาคต ขณะเดียวกันยังได้ให้คณะอนุกรรมการฯ ร่วมกับธนาคารกรุงไทย พิจารณาแนวทางการลงทุนในระบบ EMV ที่ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบ M-Flow ให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงสุดด้วย