เครื่องฟิต!ผู้ตรวจฯคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจศูนย์ฯสอบนน.ยานพาหนะกรณีสติกเกอร์ส่วย

0
223

นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ประธานคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก พร้อมด้วยคณะทำงานฯ ตรวจการปฏิบัติงานศูนย์บัญชาการเครือข่ายสถานีตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะ สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง

นายมนตรี เดชาสกุลสม เปิดเผยว่า นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ได้มอบให้คณะทำงานฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวอย่างเต็มที่ ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และในการประชุมคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ได้มีมติให้คณะทำงานฯ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ลงพื้นที่สุ่มตรวจสถานีที่เหลือและรายงานผลให้คณะทำงานฯ ทราบ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณามอบหมายแนวทางการดำเนินงานต่อไป นั้น

สำหรับตรวจการปฏิบัติงานศูนย์บัญชาการเครือข่ายสถานีตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะในครั้งนี้ ได้มีการตรวจสอบกระบวนการทำงาน ระบบควบคุม ตลอดจนการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างศูนย์ฯ กับสถานีตรวจสอบน้ำหนักทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ฯ สามารถรับข้อมูลแบบ Real Time จากสถานีควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกทุกระบบ ประกอบด้วย ระบบชั่งน้ำหนักแบบเครื่องชั่งน้ำหนักรถขณะหยุดนิ่ง (Static) ระบบชั่งน้ำหนักยานพาหนะขณะเคลื่อนที่ (Weigh in Motion: WIM) และจากหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) สำหรับระบบการทำงานของศูนย์ฯ หากพบรถบรรทุกไม่เข้าชั่งน้ำหนักที่สถานีฯ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ จะประสานไปยังเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ เพื่อให้เรียกรถบรรทุกคันดังกล่าวมาชั่งน้ำหนัก มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูการทำงานและสุ่มตรวจเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ ตลอดจนสุ่มตรวจระบบและรถเข้าสถานีฯ ผ่านจอมอนิเตอร์ที่สามารถแสดงผลได้ทั้งบริเวณเครื่องชั่งน้ำหนัก ห้องควบคุม และจอแสดงค่าน้ำหนักรถที่สถานีฯ และจัดทำรายงานสถานการณ์ประจำวันเสนอหัวหน้าศูนย์ฯ ทุกวัน ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้สุ่มตรวจสอบระบบการทำงานของศูนย์ฯ อาทิ การติดตามรถที่ไม่เข้าด่านชั่ง การประสานงานและการสื่อสารระหว่างศูนย์ฯ กับสถานีฯ รวมถึงหน้าจอการมอนิเตอร์สถานีฯ ซึ่งมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ สามารถสรุปผลการสุ่มตรวจสถานีของคณะทำงานฯ ได้ดังนี้

1) สถานีอุบลราชธานี (ขาออก) สถานีลำลูกกา (ขาเข้า) สถานีชัยบาดาล (ขาเข้า) สถานีปราจีนบุรี (ขาออก) การเข้าชั่งน้ำหนักของรถบรรทุกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่พบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

2) สถานีแก่งคอย (ขาเข้า) คณะทำงานฯ มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงการติดตั้งกล้องให้อยู่ทิศทางที่มองเห็นเจ้าหน้าที่และหน้าจอมอนิเตอร์ในห้องควบคุมของสถานี

3) สถานีเพชรบุรี (ขาออก) คณะทำงานฯ มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงระบบไฟภายในห้องควบคุมของสถานี เพื่อให้สามารถมองเห็นการปฏิบัติงาน

4) สถานียางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ พบรถไม่เข้าชั่งน้ำหนัก 1 คัน ศูนย์ฯ มีการประสานงานโดยโทรศัพท์แจ้งไปยังสถานีฯ ให้ติดตามรถบรรทุกกลับมาชั่งน้ำหนัก ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

5) สถานีสมุทรสาคร (ขาเข้าและขาออก) พบการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 1 คัน และสถานีฯ ได้ส่งผู้กระทำผิดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

6) สถานีระยอง (ขาเข้า) พบรถน้ำหนักเกิน 1 คัน สถานีฯ ได้เข้าจับกุมและส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้ สคน. จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงระบบ Software ให้ทันสมัย สามารถประมวลได้อย่างรวดเร็วและแสดงผลหน้าจอได้มากขึ้น พร้อมเน้นย้ำศูนย์ฯ ตรวจสอบรถให้เข้าด่านชั่งน้ำหนักอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดรับแจ้งเบาะแสและการร้องเรียนเกี่ยวกับส่วยสติกเกอร์บนรถบรรทุก ผ่านเว็บไซต์กระทรวงคมนาคม www.mot.go.th และสายด่วนศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โทร. 1356 ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2566 จนถึงขณะนี้ยังไม่พบข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติม ดังนั้น คณะทำงานฯ จะทำหนังสือถึงสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เพื่อขอข้อมูลมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมต่อไป

กระทรวงฯ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยความโปร่งใส ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงตรวจสอบในทุกประเด็นเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงและเชื่อมั่นในการดำเนินการของกระทรวงฯ และหากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง กระทรวงฯ จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นต่อไป