มากับลมหนาว!ขบวนรถพิเศษนำเที่ยว กรุงเทพ-เขื่อนป่าสักฯ เริ่มขายตั๋ววันแรก 25 ต.ค.นี้

0
78

การรถไฟฯขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว “นั่งรถไฟลอยน้ำ” ไปสัมผัสบรรยากาศปลายฝนต้นหนาวกับขบวนรถพิเศษนำเที่ยว เส้นทางกรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ โดยเปิดให้บริการทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 – มกราคม 2567 พร้อมเปิดให้บริการเที่ยวแรก 4 พฤศจิกายน 2566 เริ่มจำหน่ายตั๋วโดยสารพร้อมกันทุกสถานีทั่วประเทศ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ ที่ได้ให้ความสำคัญและต้องการให้การรถไฟฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐ เอกชน และจังหวัดต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะเปิดให้บริการแบบไปเช้าเย็นกลับ ซึ่งในปีนี้กำหนดจัดในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 – มกราคม 2567 รวม 24 วัน (ขบวนรถงดให้บริการช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ วันที่ 30 – 31 ธันวาคม 2566) ประกอบด้วย

เดือน พฤศจิกายน วันที่ 4,5,11,12,18,19,25,26 รวม 8 วัน

เดือน ธันวาคม    วันที่ 2,3,9,10,16,17,23,24 รวม 8 วัน

เดือน มกราคม    วันที่ 6,7,13,14,20,21,27,28 รวม 8 วัน

อัตราค่าโดยสารผู้ใหญ่และเด็กราคาเดียวกัน ดังนี้

รถธรรมดา ชั้น 3 (พัดลม)

กรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ ไป-กลับ ราคา 330 บาท

สระบุรี/แก่งคอย – โคกสลุง ไป-กลับ  ราคา 330 บาท

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ เฉพาะเที่ยวกลับ ราคา 150 บาท

รถปรับอากาศ ชั้น 2

รถนั่งปรับอากาศ (JR-WEST)

กรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ ไป-กลับ ราคา 500 บาท

สระบุรี/แก่งคอย – โคกสลุง ไป-กลับ  ราคา 500 บาท

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ เฉพาะเที่ยวกลับ ราคา 250 บาท

รถนั่งปรับอากาศ (OTOP TRAIN และรถนั่ง/นอนปรับอากาศ JR-WEST)

กรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ ไป-กลับ ราคา 590 บาท

สระบุรี/แก่งคอย – โคกสลุง ไป-กลับ ราคา 590 บาท

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ เฉพาะเที่ยวกลับ 250 บาท

รถธรรมดา ชั้น 3 (รถโถง) เดินทางระยะสั้น ไม่สำรองที่นั่ง

สระบุรี/แก่งคอย – โคกสลุง ไป-กลับ ราคา 200 บาท

นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังเปิดให้บริการตู้โดยสารพิเศษจัดเฉพาะเช่าเหมาคัน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเป็นหมู่คณะ สามารถเช่าพ่วงเพิ่มไปกับขบวนรถนำเที่ยวดังกล่าวได้ สอบถามข้อมูลได้ที่งานตั๋วหมู่คณะ หมายเลขโทรศัพท์ 02 6218701 ต่อ 5202

นายเอกรัชฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขบวนรถพิเศษนำเที่ยว กรุงเทพ – เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ – กรุงเทพ ขบวนที่ 921/926 เริ่มออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 06.00 น. ถึง จุดชมวิว “รถไฟลอยน้ำ” กลางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เวลา 09.25 น. โดยขบวนรถจะหยุดกลางสันเขื่อนมีเวลาให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ความงดงาม 20 นาที และเดินทางไปที่สถานีโคกสลุง มีเวลาให้นักท่องเที่ยวได้เดินชม ชิม ช้อป สินค้าพื้นเมือง OTOP พร้อมทั้งอาหารและของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดลพบุรี ประมาณ 30 นาที จากนั้นขบวนรถจะพานักท่องเที่ยวกลับมาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เวลา 10.35 น. นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นเดินเล่นชมวิวริมอ่างเก็บน้ำ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก นั่งรถตัวหนอนไหว้พระใหญ่ รับประทานอาหารกลางวันจากร้านค้าของกลุ่มชุมชนท้องถิ่น หรือท่องเที่ยวรอบนอกตัวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยใช้บริการรถตู้ของกลุ่มรถตู้ชุมชนหน้าเขื่อนฯ ที่นำมาให้บริการเป็นพิเศษ อัตราค่าบริการท่านละ 70 บาทตลอดเส้นทาง นำชมสถานที่ท่องเที่ยวทุ่งทานตะวัน ทุ่งดอกดาวกระจายและทุ่งหญ้าหลากสีที่บานสะพรั่งสวยงาม ณ บ้านกล้วย & ไข่ คาเฟ่ เดินทางต่อเพื่อไปชมสวนเฟิร์นยักษ์ บนพื้นที่กว่า 4 ไร่ ให้ทุกท่านได้ถ่ายรูปกับบรรยากาศสไตล์ชิคๆ ที่จุดชุมวิว ณ ไร่ทรัพย์ประยูร จากนั้น ขบวนรถเที่ยวกลับออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เวลา 15.30 น. ถึงสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 18.50 น. นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นลงตามจุดต่าง ๆ โดยมีสถานีที่หยุดรับ-ส่ง ได้แก่ สถานีชุมทางบางซื่อ ดอนเมือง รังสิต อยุธยา สระบุรี และชุมทางแก่งคอย การรถไฟฯ เริ่มเปิดจองตั๋วโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้า (สูงสุดไม่เกิน 30 วัน) ด้วยระบบ D-Ticket หรือที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

ท้ายนี้ การรถไฟฯ คาดหวังว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวได้ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ สร้างความเข้มแข็งสู่เศรษฐกิจฐานราก และชุมชนให้กลับมามีความเข้มแข็งยั่งยืนต่อไป