เทคอนกรีตจุดเชื่อมสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาข้ามแม่น้ำเนยแห่งที่ 2

0
210

 

รมว.คมนาคม “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” และ Mr.Win Khaing รมว.การก่อสร้าง เมียนมา ร่วมเป็นประธานพิธีเทคอนกรีต จุดเชื่อมต่อสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 จังหวัดตาก เชื่อมโยงขนส่งสินค้า เดินทาง ท่องเที่ยว การค้าไทย-เมียนมา วงเงินก่อสร้าง 3,900 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จปี 62

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ Mr.Win Khaing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการก่อสร้าง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมเป็นประธานในพิธีเทคอนกรีต จุดเชื่อมต่อสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  พร้อมด้วยนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกรมทางหลวง ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธีฯ โดยมี นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวรายงาน ณ สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา

 

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำเมย เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางบกในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก หรือ East – West Economic Corridor เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้า การเดินทาง การท่องเที่ยว และช่วยเพิ่มศักยภาพการค้า การลงทุน ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รวมทั้งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

“เมืองแม่สอด – เมียวดี เป็นเมืองชายแดนที่สำคัญของทั้งสองประเทศ มีปริมาณการค้ามากกว่าร้อยละ 35 ของการค้าชายแดน มูลค่าถึง 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองประเทศมีนโยบายพัฒนาและเชื่อมโยงเมืองชายแดน ได้จัดทำบันทึกความตกลงร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เกี่ยวกับการดําเนินงานก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 130 (ทางเลี่ยงเมืองแม่สอด) และการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ตลอดจนงานก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนของทั้งสองฝั่ง รวมถึงแนวทางการปฏิบัติงาน โดยครม.ไทยมีมติเห็นชอบในหลักการให้ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และดำเนินโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งศูนย์บริการนำเข้า – ส่งออก ศูนย์โลจิสติกส์ และคลังสินค้า โดยจัดหาพื้นที่ตามแนวเส้นทางก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และรองรับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก หรือ East – West Economic Corridor”

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยและเมียนมาได้ร่วมกันจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดน ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านกฎระเบียบ อันเป็นกุญแจสำคัญไปสู่การเชื่อมโยงในภูมิภาค

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้ศึกษาออกแบบและได้รับอนุมัติงบประมาณค่าก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรีในโครงการดังกล่าว ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,900 ล้านบาท ประกอบด้วยตัวสะพานข้ามแม่น้ำเมย ถนนเชื่อมต่อสะพานทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งอาคารด่าน หรือ Border Control Facilities เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจรับผิดชอบการตรวจผ่านแดนเข้ามาใช้สถานที่ปฏิบัติงานให้บริการประชาชนร่วมกัน เช่น กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมปศุสัตว์ ซึ่งสะพานแห่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางเลี่ยงเมืองแม่สอด มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 12 ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน ที่บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ราชอาณาจักรไทย เข้าสู่บ้านเยปู หมู่ที่ 5 เมืองเมียวดี จังหวัดเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีจุดสิ้นสุดบรรจบถนนหมายเลข 85 สายเมียวดี – กอกะเร็ก เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียหมายเลข 1

สำหรับงบประมาณการก่อสร้างในพื้นที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบให้เปล่า หรือ Grant Aid ส่วนรูปแบบการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ลักษณะเป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง มีความยาวของสะพานทั้งหมด 760 เมตร แบ่งเป็นฝั่งไทย 515 เมตร และฝั่งเมียนมา 245 เมตร ไม่มีเสาตอม่ออยู่กลางแม่น้ำ สะพานมีขนาด 2 ช่องจราจรไป-กลับ แยกช่องจราจรด้วยเกาะคอนกรีตแบบต่ำ ช่องผิวจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร และทางเดินเท้ากว้างข้างละ 1.50 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการและเปิดใช้งานได้ภายในปี 2562 ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อำนวยความสะดวก รวดเร็วในการคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ช่วยลดปัญหาการจราจรแออัดของสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 1 และรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งจะกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้มีความใกล้ชิดแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น