ทล. เปิดวิ่ง ทล.106 ช่วงบ้านแม่ป่าไผ่-ต.แม่ตืน จ.ลำพูน ยกระดับโครงข่ายคมนาคม เชื่อแหล่งท่องเที่ยวภาคเหนือ

0
0

กรมทางหลวง(ทล.) เปิดวิ่ง ทล.106 ช่วงบ้านแม่ป่าไผ่ – ตำบลแม่ตืน จังหวัดลำพูน ยกระดับโครงข่ายคมนาคม เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวภาคเหนือ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณจราจรและยกระดับความคล่องตัวในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำพูน กรมทางหลวง (ทล.) พร้อมดำเนินการตามนโยบายอย่างเคร่งครัด คำนึงถึงความสะดวก ปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้รายงานว่าโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 106 ช่วงบ้านแม่ป่าไผ่ – ตำบลแม่ตืน ระหว่าง กม. ที่ 154+491 – 168+391 ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรแล้วเป็นการยกระดับมาตรฐานการเดินทางให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น และส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายการท่องเที่ยวในภาคเหนือ

ถนนสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 106 สายสวรรคโลก – อุโมงค์ อยู่ในการควบคุมดูแลของแขวงการทางลำพูนมาตั้งแต่ปี 2497 ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อปี 2522 เดิมเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร (สวนทาง) มีจุดเริ่มต้นจากทางเข้าอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย พาดผ่านจังหวัดสุโขทัย ลำปาง ลำพูน และสิ้นสุดที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีบทบาทสำคัญเป็นเส้นทางลัดจากถนนพหลโยธินเดินทางไปยังสถานที่สำคัญ อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติออบหลวง ช่วยให้ผู้เดินทางสามารถหลีกเลี่ยงการจราจรหนาแน่นในตัวเมืองเชียงใหม่ และเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 108 มุ่งสู่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วยลดเวลาในการเดินทาง รองรับการขยายตัวของเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของปริมาณการเดินทาง ก่อสร้างเป็นถนนมาตรฐานทางชั้นพิเศษ ขยายช่องจราจรจากเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ ข้างละ 2 ช่องจราจร) ผิวจราจรแอสฟัลท์คอนกรีต ขนาดความกว้างช่องละ 3.50 เมตร และไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร การแบ่งทิศทางการจราจรโดยเกาะกลางแบบยก (Raised Median) งานก่อสร้างสะพานคอนกรีตและระบบระบายน้ำ รวมถึงการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟสัญญาณจราจร ไฟกะพริบบนทางหลวง ออกแบบและก่อสร้างจุดกลับรถบริเวณทางแยกและทางเชื่อมทางหลวงท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทาง เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง เพิ่มความสะดวกในการสัญจรของประชาชน รองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศต่อไป