อปท.สำลักพิษ กม.พีพีพี

0
166
จี้คลังเร่งยกเครื่อง พรบ.พีพีพีปี 56 หลังโครงการลงทุนของรัฐ-องค์กรปกครองท้องถิ่นเจอตอ แม้ทำโครงการยิบย่อยแค่ดึงเอกชนวางท่อร้อยสายมูลค่า 10-20 ล้านยังถูกตีความเข้าข่าย ต้องดำเนินการตาม กม.พีพีพี แต่กับโครงการสัมปทานร้านปลอดภาษีระดับหมื่นล้าน สำนักงานอัยการสูงสุดกลับ “ใบ้กิน”
 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)ถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เตรียมเสนอแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติ(พรบ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 หรือ“พรบ.พีพีพี” เพื่อรองรับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐนับสิบโครงการที่จำเป็นต้องดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้าโดยเฉพาะโครวการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” และรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.6 ล้านล้านบาทนั้นว่า  
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเผยว่า ส่ิงที่กระทรวงการคลังควรเร่งรัดสร้างความกระจ่างก็คือในเรื่องของวงเงินลงทุนที่เข้าข่ายที่ปัจจุบันกฎหมายพีพีพีไม่ได้กำหนดวงเงินที่เข้าข่ายแต่ วางหลักการเอาไว้กว้างๆ หากเป็นการลงทุนที่ใช้ทรัพย์สินของรัฐ หรือให้เอกชนลงทุนถือว่าเข้าข่ายทั้งหมด ทำให้ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานท้องถ่ินที่มีนโยบายเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินโครงการต่างๆ แม้จะมีมูลค่าไม่ถึง 100 ล้านหรือ 1,000 ล้านบาท ก็ถูกตีความว่าเป็นโครงการที่เข้าข่ายร่วมลงทุนตาม พรบ.พีพีพีทั้งหมด  
ล่าสุดเกิดปัญหาขึ้นกับเทศบาลเมืองแห่งหน่ึงในจังหวัดภูเก็ต ที่มีโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน วงเงินลงทุนราว 30 ล้านบาท โดยดึงบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้เข้ามาดำเนินการวางท่อร้อยสายและซ่อมบำรุงเพื่อขานรับนโยบายของรัฐบาลในการดึงสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินและผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมือง “สมาร์ทซิตี้” แต่เมื่อหน่วยงานท้องถิ่นดังกล่าวส่งร่างสัญญาที่ลงนามเอ็มโอยูไว้กับบริษัทเอกชนไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณากลับถูกส่ังให้ชะลอการดำเนินโครงการไว้ก่อน พร้อมระบุว่าเป็นโครงการที่เข้าข่ายตาม พรบ.พีพีพีปี 2556 เนื่องจากมีลักษณะการอนุญาตหรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิเอกชนในการใช้พื้นท่ีของเทศบาลถืิอเป็นการใช้ทรัพย์สินของรัฐที่ต้องทำตามพรบ.พีพีพีปี 2556 
“ผลพวงจากการตีความดังกล่าว ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นแห่งอื่น ๆ ที่มีโครงการดึงสายสื่อสารโทรคมนาคมลงดินตามนโยบายรัฐบาลเพื่อสร้างภูมิทัศน์และความเป็นระเบียบของเมืองต้องหยุดชะงักไปท้ังหมด และทำให้มีการตั้งข้อสังเกตุไปถึงโครงการอื่นๆ ที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในลักณะเดียวกันเช่นการเช่าที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์เพื่อพัฒนาพื้นท่ี หรือการที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจทีโอที และกสท.โทรคมนาคมมีนโยบายจะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาโครงการในชุมสายโทรศัพท์ก็ต้องหยุดชะงักไปทั้งหมด แม้จะเป็นโครงการที่มีมูลค่าระดับ 100-200 ล้านบาทก็ตาม แม้แต่การที่องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่าง กทม.ที่ให้เอกชนติดตั้งป้ายโฆษณาในหน่วงยงานรัฐก็อาจถูกตีความว่าเข้าข่ายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ-เอกชนด้วย” 
แหล่งข่าวกล่าวว่าจุดมุ่งหมายของ พรบ.ร่วมทุนปี 2535 ที่มีการปรับปรุงแก้ไขมาเป็น พรบ.พีพีพีปี 2556 น้ันมุ่งเน้นบังคับใช้กับโครงการลงทุนของรัฐที่มีมูลค่าโครงการ หรือวงเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาทหรือ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป และล่าสุดมีความพยายามจะขยายวงเงินลงทุนขึ้นไปเป็น 5,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ ส่วนที่ว่าแม้โครงการร่วมลงทุนดังกล่าวจะมีมูลค่าไม่ถึงพันล้านตามมาตรา 23 นั้น หากหน่วยงานเห็นว่าสมควรจะใช้กฎหมายดังกล่าวด้วยก็สามารถกำหนดได้น้ันก็เพื่อตีกันการทำตัวเลขประเมินโครงการหลบเลี่ยงกฎหมายฉบับนี้ แต่กับโครงการเช่าพื้นท่ีตั้งป้ายโฆษณา หรือวางท่อร้อยสายที่มีมูลค่าลงทุนระดับ 20-30 ล้านบาทนั้น โครงการเหล่านี้แม้จะใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือได้รับสัมปทานจากรัฐแต่ไม่ได้อยู่ในข่ายตามพรบ.พีพีพีแต่อย่างใด
“น่าแปลกขณะที่สัมปทานร้านค้าปลอดอากรที่กำลังมีเรื่องราวกันอยู่ ซ่ึงมีมูลค่าโครงการ เฉพาะยอดขายของเอกชนแต่ละปีก็สูงนับหมื่นล้าน แค่เงินการันตีค่าสัมปทานแต่ละปีก็ตกปีละกว่า  1,200 ล้านบาทแล้ว แต่กลับเป็นเรื่องน่าแปลกที่สำนักงานอัยการสูงสุดกลับไม่เคยมีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาแต่อย่างใด  แต่กลับโครงการยิบย่อยระดับ 20-30 ล้านบาทกลับตีความว่าเข้าข่ายจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายพีพีพีโดยเคร่งครัด”