‘พนัส’รูดม่านเวทีโม่กึ๋น Panus Thailand LogTech Award 2017 เผยโฉม ‘สุดยอดสตาร์ทอัพ LogTech’ ครั้งแรกในไทย

0
701

ภายหลังพนัส แอสเซมบลีย์ ผู้นำตลาดภาคธุรกิจขนส่ง ผนึกสวทช.จุดพลุโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 เปิดม่านเฟ้นหา “สุดยอดสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจสิติกส์” (LogTech) เป็นครั้งแรกในไทย หวังเป็นเวทีปั้นนวัตกรรมสุดเจ๋งปลุกไอเดียกระฉูดนำไปสู่การใช้จริงในภาคขนส่ง พร้อมตั้งโต๊ะแถลงข่าวและเปิดรับสมัครทั้ง 2 ประเภทไปเมื่อ 6 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา ณ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (CDC)

จากนั้นเป็นการเปิดเวทีให้ผู้ผ่านการคัดเลือกได้ “โม่กึ๋นด้านLogTech”เต็มพิกัด ในที่สุดวันนี้ (24 ต.ค.)  เวทีประกวด LogTech ครั้งแรกของไทยก็ถึงเวลารูดม่านลงพร้อมประกาศผู้ชนะเลิศแต่ละรางวัล ทีมอินเท็นติก ผงาดคว้าชัยประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป ส่วนประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ทีม 360 Truck คว้าชัยไปครอง

นอกจากนี้ คณะผู้จัดโครงการนี้ยังเดินหน้าติดสปีดตั้งกองทุนนวัตกรรมโลจิสติกส์ PANUS Logistics Innovation Fund หนุนส่งผู้ประกอบการ LogTech ไทยให้แจ้งเกิดและร่วมลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง ล่าสุด นำร่องร่วมทุนแล้ว 2 บริษัทก่อนตกผลึกไอเดียสุดเจ๋งเป็นนวัตกรรมอัจฉริยะ LogiSenses’ โดยมีค่ายยักษ์ใหญ่สื่อสารคมนาคมไทยอย่าง AIS ให้การสนับสนุนเทคโนโลยี NB IoT พร้อมต่อยอดให้บริการระบบบริหารอุปกรณ์ภาคพื้นในสนามบิน เตรียมเริ่มทดลองให้บริการ ในพื้นที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ โครงการนี้ได้ริเริ่มดำเนินการโดยบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้นำตลาดภาคธุรกิจขนส่งในฐานะผู้ผลิตและประกอบยานยนต์เพื่อการขนส่งรายใหญ่ของประเทศ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ (LogTech) เป็นรายแรกของไทย

สร้างสตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่ ผลักดันนวัตกรรมสุดเจ๋งใช้งานได้จริง

คุณพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด เปิดเผยหลังพิธีประกาศผลผู้ชนะเลิศว่า โครงนี้เป็นเวทีประกวดแนวคิดธุรกิจและโครงการด้านธุรกิจโลจิสติกส์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ผลพวงจากโครงการนี้ทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยในการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ และการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เช่น หุ่นยนต์ลำเลียงสินค้า ซอฟต์แวร์บริหารระบบสินค้าคงคลัง อากาศยานไร้คนขับสำหรับขนส่งสินค้า ระบบบริหารการขนส่งและเก็บรักษาสินค้าแบบ Cold Chain เป็นต้น

“สิ่งที่เราภูมิใจอย่างมากคือมีนิสิตนักศึกษาไทย รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ที่เข้าร่วมประกวด ล้วนมีแนวคิดล้ำหน้าทันสมัยไม่แพ้ต่างประเทศเลยทีเดียว แต่ละทีมต่างเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งทุกทีมที่เข้าร่วมการประกวดยังมีโอกาสได้เจรจาและร่วมทุนทางธุรกิจด้วยกันทั้งนั้น ถือเป็นเจตนารมณ์ของบริษัทในการสร้างสตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่ ที่จะมาช่วยกันผลักดันนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์นำไปใช้งานได้จริงในเชิงธุรกิจ รวมทั้งพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆให้เกิดขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการขนส่งของประเทศให้แข็งแกร่ง”

ตั้งกองทุนนวัตกรรมฯหนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรง

ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเสริมว่า การส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ด้าน LogTech ให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้กลไกการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่ออนาคตดำเนินไปอย่างราบรื่นตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งสู่ประเทศไทย 4.0

“พร้อมกันนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดผลพวงจากการจัดประกวดการแข่งขันผ่านโครงการนี้ และเพื่อวางรากฐานอนาคตของสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ พนัส แอสเซมบลีย์ฯ จึงได้เปิดตัวโครงการ PANUS Logistics Innovation Fund หรือ กองทุนนวัตกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อพิจารณาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการด้าน LogTech ทั้งที่มาจากเวทีการประกวดและผู้ประกอบการภายนอก ในวันดังกล่าวนี้อีกด้วย”

ขณะที่คุณอัครพงศ์ ผ่องสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการพาณิชย์ (CCO) บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ในฐานะผู้ก่อตั้งโครงการกองทุนนวัตกรรมฯ กล่าวเพิ่มเตมในเรื่องนี้ว่า กองทุนนี้เป็นการต่อยอดและสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีวิสัยทัศน์ มีนวัตกรรม และมีแนวคิดที่ดีที่สามารถผลักดันผลงานออกสู่ตลาดในเชิงธุรกิจได้ แต่อาจขาดปัจจัยสำคัญ เช่น แหล่งเงินทุน แผนการตลาด รวมถึงพี่เลี้ยงคอยชี้แนะและวางแผนธุรกิจ กองทุน PANUS Logistics Innovation Fund จะเข้ามาตอบโจทย์และปิดจุดอ่อนดังกล่าว

“ถือเป็นการสนับสนุนให้วงการสตาร์ทอัพไทยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงต่อยอดสินค้าและบริการในอุตสากรรมโลจิสติกส์อย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งกองทุนนี้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อ Logistics Intelligence (LI) อันเป็นยุทธศาสตร์และเป็นการนำศักยภาพสูงสุดของเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาเป็นกลไกในการให้บริการด้านโลจิสติกส์ โดยสร้างระบบนิเวศน์ที่ประกอบด้วยตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ การใช้เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก การนำเสนอข้อมูลและระบบแนะนำอัจฉริยะ การสร้างซอฟต์แวร์เพื่อการทำงานร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน การวิเคราะห์โลจิสติกส์ย้อนกลับอัตโนมัติ และการจัดการองค์ความรู้เพื่อการความยั่งยืน”

 

2 บริษัทนำร่องก่อนตกผลึกไอเดียกระฉูดนวัตกรรมอัจฉริยะะ ‘LogiSenses’

นอกจากนี้ คุณอัครพงศ์ กล่าวอีกว่าปัจจุบัน กองทุนนี้ได้พิจารณาร่วมลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพด้าน Logistics Intelligence (LI) ไปแล้วจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท โลจิเซ้นส์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจด้านฮาร์ดแวร์โลจิสติกส์ สำหรับบริหารรถขนส่งด้วยกล่อง IoT GPS และบริษัท เครส เคอร์เนล จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจด้านซอฟต์แวร์โลจิสติกส์ สำหรับการบริหารธุรกิจขนส่งประสิทธิภาพสูง

“ทั้ง 2 บริษัทได้ร่วมมือกันเปิดตัวบริการ ‘LogiSenses’ ซึงเป็นบริการ IoT GPS พร้อมระบบซอฟต์แวร์ บริหารธุรกิจขนส่งประสิทธิภาพสูง ภายใต้คอนเซ็ปท์ ‘LogiSense – all senses of logistics’ นับเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย ที่ให้บริการ GPS รถขนส่งด้วยเทคโนโลยี NB IoT ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก AIS ผู้นำด้านนวัตกรรมการสื่อสารไร้สายอันดับ 1 ของประเทศไทย โดย ‘LogiSenses’ และ AIS NB IoT ได้ร่วมทำการออกแบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่เหมาะสมในการใช้งาน พร้อมทั้งได้ทดสอบด้านเทคนิคขั้นต้นร่วมกันแล้ว และจะเริ่มทดลองให้บริการแก่อุปกรณ์ภาคพื้นในสนามบิน (Ground Support Equipment, GSE)  ในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นแห่งแรก และจะขยายไปยังทุกสนามบินหลัก พร้อมทั้งรถขนส่งประเภทอื่นๆ ต่อไป”

อินเท็นติก ชนะเลิศประเภทนิติบุคคลฯ/ 360 Truck ชนะเลิศประเภทนักศีกษาฯ

ทั้งนี้ จากผลการประกวดโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ปรากฏว่าทีม อินเท็นติก สุดเจ๋งคว้าชัยประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป ได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ทั้งยังได้รับโอกาสไปดูงานโลจิสติกส์โลกที่ประเทศเยอรมนี ส่วนที่สอง คือ  ทีม Jump up  ได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ได้รับโอกาสไปดูงานโลจิสติกส์โลกที่ประเทศเยอรมนี และที่สาม คือ ทีม HexSense  ได้รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท ได้รับโอกาสไปดูงานโลจิสติกส์โลกที่ประเทศเยอรมนีเช่นกัน

ส่วนประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ทีม 360 Truck ชนะเลิศ รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรการเข้าร่วมแข่งขันประกวดผลงาน ส่วนที่สอง คือ  ทีม Smat Wheel ได้รับเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรการเข้าร่วมแข่งขันประกวดผลงาน และที่สาม คือ ทีม BPT  ได้รับเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรการเข้าร่วมแข่งขันประกวดผลงาน

ผลสำเร็จจากการจัดโครงการนี้ ทั้งการได้เห็นกระแสตอบรับและการตื่่นตัวของผู้ประกอบการด้านการขนส่ง รวมถึงนิสิตนักศึกษาให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก และหลังรูดม่านเวทีการประกวดก็ได้เห็นชัดถึงการนำเสนอนวัตกรรมสุดเจ๋งไอเดียด้านโลจิสติกส์พุ่งกระฉูด ได้เห็นหน่อพันธุ์รุ่นใหม่ไฟแรงได้แจ้งเกิดจาเวทีนี้ ตลอดถึงการจัดตั้งกองทุนฯ 

แต่ที่น่ายิ่งยินดีกว่านั้น เวทีโมกึ๋นด้าน LogTech 2017 จะไม่ใช่คร้้่งแรกในไทยในปีนี้เท่่านั้น บิ๊กบอสแห่งค่ายพนัสอย่าง “คุณพนัส วัฒนชัย”เฟิร์มมาให้ใจปลิ้มปริ่ม…ปีหน้าจัดอีกแน่นอน!!!