ทล. ช่วยเหลือชาวสวนยาง นำยางแผ่นดิบมาผลิตอุปกรณ์ใช้ในเขตทาง ด้าน กยท. ดันใช้ในประเทศตามเป้า 30%

0
130

กรมทางหลวง และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภารกิจของกรมทางหลวง เน้นให้เกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิจัย ต่อยอดสู่การผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา หรือเทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนภารกิจของกรมทางหลวง พร้อมตอบรับนโยบายส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางได้ โดยมี นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง และ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนจาก 2 หน่วยงาน ในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ณ ห้องสัมมนาเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ ชั้น 3 กองฝึกอบรม กรมทางหลวง

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชาวสวนยางพาราที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคายางที่ตกต่ำตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะเป็นการนำยางพารามาใช้ในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ของกรมทางหลวง โดยเบื้องต้นจะนำยางพาราแผ่นดิบมาทำเป็นเสาหลักเขตทางประมาณ 1.2-1.3 แสนต้น ซึ่งแต่ละต้นจะมีน้ำหนักประมาณ 40-42 กิโลกรัม ใช้งบดำเนินการประมาณ 400 ล้านบาท

นายธานินทร์ กล่าวว่า หลังลงนามร่วมกับ กยท. แล้ว กรมทางหลวงจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างทันที จะใช้เวลาในการผลิตไม่เกิน 6 เดือน หรือจะแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนกรกฎาคม 2561 จากนั้นจะนำเสาหลักเขตทางที่ได้ไปให้แขวงการทางต่างๆนำไปติดตั้งต่อไป โดยราคาเฉลี่ยของเสาหลักเขตทางดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 2,600 บาท/ต้น ซึ่งสูงกว่าเสาคอนกรีตปกติประมาณ 400 บาท แต่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีความยืดหยุ่น สามารถลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุได้

“ตามนโยบายของรัฐบาลในช่วง 2 ปี กรมทางหลวงจะต้องใช้ยางพารามาใช้ในการดำเนินงาน 9,000 ตัน โดยที่ผ่านมาได้นำน้ำยางมาใช้ในการทำถนนแล้ว 1,000 ตัน ใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาท เนื่องจากการนำน้ำยางมาใช้จะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ดังนั้นจึงเหลืออีก 8,000 ตันที่กรมทางหลวงจะต้องนำยางพารามาใช้ ซึ่งนอกจากการนำมาทำเสาหลักเขตทางแล้ว กรมทางหลวงยังมีแผนจะนำไปใช้ทำวัสดุอุปกรณ์อย่างอื่นด้วย เช่น แบริเออร์กั้นถนน รวมถึงการทำเสาหลักกิโลเมตร และการนำมาปูทางเท้า เป็นต้น” นายธานินทร์ กล่าว

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกยางพาราที่เป็นวัตถุดิบนั้นยังถือว่าดี มีการส่งออกประมาณ 80% และใช้ในประเทศ 20% โดย กยท. ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศให้ได้ถึง 30%  ภายใน 3 ปี เพื่อให้เกิดการแปรรูปยางพาราใช้ในประเทศมากยิ่งขึ้น ส่วนสถานการณ์ของราคานั้นถือว่าเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก

“ราคายางพาราขณะนี้ที่หลายคนมองว่าตกต่ำนั้น จริงๆแล้วจะต้องมองในภาพรวมทั้งปี เนื่องจากยาพาราเป็นสินค้าที่มีวงจรตามฤดูกาล ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะมีน้ำยางออกมาพร้อมกันมาก เมื่อออกมามากราคาก็ลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแนวทางที่จะสามารถดำเนินการไม่ให้ราคาตกต่ำมาก ก็จะต้องลดปริมาณยางที่จะออกมาด้วยการนำไปแปรรูป ซึ่งเบื้องต้นทางกรมทางหลวงก็เสนอตัวที่จะช่วยในเรื่องนี้แล้ว” นายธีธัช กล่าว