‘นายกฯตู่’เปิดการประชุมระดับภูมิภาค “Global Aviation Security Plan (GASeP)”

0
191

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคเรื่อง Global Aviation Security Plan (GASeP) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี Dr. Fang Liu เลขาธิการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ Mr. Arun Mishra ผู้อำนวยการสำนักงานสาขาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน นางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้แทนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ร่วมพิธีเปิดการประชุมฯ
สืบเนื่องจากการประชุม The International Civil Aviation Organization (ICAO) Assembly ครั้งที่ 39 เมื่อเดือนกันยายน 2559 ณ สำนักงานใหญ่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เมืองมอลทริออล ประเทศแคนาดา ที่ประชุมเห็นควรให้เร่งรัดพัฒนาแผนงานด้านการรักษาความปลอดภัยระดับโลก Global Aviation Security Plan (GASeP) เพื่อเป็นโครงร่างนโยบายและแผนด้านการรักษาความปลอดภัยภาคอุตสาหกรรมการบินฉบับใหม่ แทนที่แผนกลยุทธ์ ICAO Comprehensive Aviation Security Strategy (ICASS) หลังจาก GASeP ได้รับความเห็นชอบแล้ว องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้จัดการสัมมนาเผยแพร่แผนงานเป็นรายภูมิภาค โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ
ประเทศไทยโดยกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการรักษาความปลอดภัยการบินทั่วโลกใหม่ของ ICAO (Global Aviation Security Plan : GASeP) ระหว่างวันที่ 20 – 21 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมรอยัลออคิด เชอราตัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแผนงานด้านการรักษาความปลอดภัยฉบับใหม่ ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างแผนการดำเนินงาน เป้าหมายหลัก และ Roadmap ที่กำหนดหน้าที่และสิ่งที่ต้องดำเนินการสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ผู้มีส่วนในอุตสาหกรรมการบิน และ ICAO โดยแผนงานดังกล่าวได้รับการพัฒนาตามแนวคิด ICAO’s No Country Left Behind ซึ่งจะนำเสนอในการประชุมครั้งนี้จะเป็นรากฐานให้ภาครัฐ ผู้มีส่วนร่วมในภาคอุตสาหกรรมการบิน และ ICAO ร่วมกันยกระดับการรักษาความปลอดภัยด้านการบินทั่วโลก และได้นำเสนอ Roadmap ที่ระบุหน้าที่และสิ่งที่ต้องปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้แผนงานฉบับใหม่และ Roadmap จะได้นำพาไปสู่ผลลัพธ์สำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. ยกระดับความตระหนักรู้และการตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัย
2. ส่งเสริมวัฒนธรรมด้านการรักษาความปลอดภัยและการตระหนักรู้ของมนุษย์
3. ปรับปรุงทรัพยากรทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ดีขึ้น
4. ปรับปรุงการกำกับดูแลและการประกันคุณภาพ
5. เพิ่มการประสานงานและความสนับสนุน
GASeP จะต้องได้รับการทบทวน แก้ไข ตามลักษณะภัยคุกคามทางด้านการรักษาความปลอดภัยการบินที่เกิดขึ้นใหม่ให้เหมาะสมที่สุด และจะต้องอาศัยการนำไปปฏิบัติในทุกระดับ ตั้งแต่ภายในประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก รวมถึงการให้ความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนร่วมต่าง ๆ ในด้านการบินต่อไป คาดว่าการดำเนินการให้เห็นผลลัพธ์สำคัญ 5 ประการดังกล่าว จะเกิดขึ้นก่อนการประชุม ICAO Assembly ครั้งที่ 40 ในปี 2562
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน เห็นได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี โดยจัดให้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค รวมถึงแผนพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบินแห่งภาคตะวันออก และมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นเพิ่มเติม ได้แก่ การสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารอาคาร 2 การสร้างทางวิ่งแห่งที่ 2 ห่างจากทางวิ่งเดิม 1.5 กิโลเมตร และการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมในการก่อสร้างอาคารเรียนของศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการบิน
สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO Complex Development) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ระหว่างบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัยมีมาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทั้งนี้ จะทำให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภากลายเป็นท่าอากาศยานที่เชื่อมต่อการเดินทางสำคัญอีกแห่งของภูมิภาค ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาฝั่งตะวันออกโดยตรง ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่และสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ เพื่อเข้าสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” บนวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ซึ่งเป็นภารกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาคนไทย เยาวชนไทย ให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ เพื่อให้บุคลากรไทยมีความพร้อมรองรับความต้องการของตลาดและผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศ และพร้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยยึดหลักการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ มีเป้าหมายและนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีความพร้อมและสามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ได้